สุจิตต์-ชาญวิทย์ สะกิดประเด็น ‘เซ็นเซอร์บอลประเพณี’ ชาวเน็ตเสริมทัพอัพความฮา

เป็นประเด็นชวนเม้าธ์ต่อเนื่องมาหลายวัน สำหรับกรณีกระแสข่าวที่เล็ดรอดออกมาว่า ‘งานฟุตบอลประเพณี จุฬา-ธรรมศาสตร์’ ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 13 กุมภาพันธ์นี้ ทางคสช.ขอความร่วมมืองด ‘ล้อการเมือง’ หรือลดความรุนแรงลงสักนี๊ดดด อย่าสะกิดปมปรี๊ดสร้างความขัดแย้ง ก่อเกิดการตั้งคำถามว่าเป็นการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกมากเกินไปหรือไม่ ?
และยิ่งกลายเป็นทอล์ค ออฟ เดอะ ยูนิเวอร์ซิตี้มากขึ้นไปอีก เมื่อ สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ว่าขอให้ล้อแบบ ‘อยู่ในกรอบ’ มิฉะนั้น คราวหน้าฟ้าใหม่ เจอโละทีมงานยกชุด ! ทำเอาสังคมเปิดปมแซะประเด็นนี้อย่างกว้างขวาง กระทั่งรัฐบาลออกมาเปิดไฟเขียวให้ล้อการเมืองได้ แต่อย่า ‘สร้างความแตกแยก’
งานนี้ นอกจากศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน และนักวิชาการที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างจริงจัง ก็ยังมีกระแสในโลกออนไลน์ที่ออกมาปล่อยมุขเรียกความฮา บ้างก็วิเคราะห์เจาะลึกแบบมโนนึก (เอาเอง)
แม้แต่รุ่นใหญ่ลายครามอย่าง สุจิตต์-ชาญวิทย์ ก็ยังออกมาสะกิดผ่านโซเชียล !!!

สุจิตต์ถาม ‘แล้วไงใครแคร์’ ?
ใหญ่จริง ต้องไม่กลัวถูกล้อ

ไม่เคยลงทะเบียนเรียนสำนักใดเลย ไม่ว่าจะเป็นจุฬา หรือธรรมศาสตร์ แต่บัณฑิตรั้วศิลปากรอย่างสุจิตต์ วงษ์เทศ ก็มีคอมเม้นต์ในประเด็นดังกล่าวให้ขบคิดว่า หากใหญ่จริง ต้องไม่กลัวถูกล้อเลียน ดังเช่นผู้นำประเทศทั่วโลกก็โดนล้อกันทั้งนั้น นอกจากนี้ ยังไม่ทิ้งลายคอลัมนิสต์ด้านประวัติศาสตร์ ด้วยการยก ‘ละครนอก’ มาเป็นตัวอย่าง ว่ามีการเล่นล้อเลียนเสียดสีขุนนางมาตั้งแต่โบราณกาล ก่อนจะปิดท้ายเรียกเสียงฮาโดยระบุว่า แม้แต่ตนซึ่งไม่ได้อยู่ในตำแหน่งใหญ่โต ยังถูก (ชาวเน็ต) ล้อเลียนเป็นประจำ ทั้งตั้งฉายา ตัดต่อภาพ แต่ตนก็หาได้แคร์ไม่ !

“ใหญ่จริง เขาไม่กลัวถูกล้อกันหรอก ถ้าไม่ถูกล้อสิ แสดงว่าไม่ใหญ่จริง เลยไม่มีคนสนใจ
ผู้นำทั่วโลก ก็โดนเอามาล้อเลียนทั้งนั้น ละครนอกสมัยโบราณ ยังล้อขุนนาง ขนาด…ไม่ใหญ่ ยังโดน แล้ว…แคร์ปะ
ฮ่าๆๆ หนุกดี !”

เมื่อความเห็นนี้ถูกเผยแพร่ แฟนคลับเจ้าคุณปู่ก็กรูกันออกมาขานรับ ว่าเห็นด้วยทุกประการ ซ้ำยังเสริมความฮาด้วยคอมเม้นต์หลากหลายที่ชวนขำจนท้องแข็ง

Advertisement

 

สุจิตต์

 

Advertisement

แร้วไง

 

จามจุรีว่าไง ?
ชาญวิทย์อ้างตำนาน บอก แม่โดมไม่ชนะ ‘บ้านเมืองไม่มีสุข’

มาถึงรุ่นเก๋าไม่แพ้กันอย่าง ศ.ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ ก็แชร์ข่าวในประเด็นดังกล่าวแบบรัวๆ โดย ‘เกทับ’ เอ๊ย ! เล่าถึงความเชื่อที่มาพร้อม ‘ตำนาน’ ว่า ปีไหนจุฬา ฯ ชนะ ปีนั้น บ้านเมืองไม่ปกติสุข
นอกจากนี้ ยังร่ายยาวประวัติของงานบอลประเพณี ที่เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2477 หรือกว่า 80 ปีมาแล้ว รวมทั้งระบุถึงเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นระหว่างนั้นอีกด้วย โดยบางช่วงมีการงดจัดงานดังกล่าว เนื่องจากภาวะสงครามและข่าวยากหมากแพง
“CU-TU Traditional Football ปีนี้ ก็คงสนุก ไม่ต้องห่วง ครับ
Chula–Thammasat Traditional Football Match is coming…

ตำนาน เล่าลือกันว่า ปีไหน จุฬา ชนะ ปีนั้นบ้านเมือง ไม่ดี ไม่มีสุข
ฟุตบอลประเพณี มีมาแต่ปี 2477/1934 เมื่อตั้ง มธก. 81 ปีมาแล้ว ธรรมศาสตร์ ชนะ หรือ เสมอ มาตลอด
จนปี 2484/1941 แพ้ 2:0 เป็นครั้งแรก อจ.ผู้คุมทีมธรรมศาสตร์ หัวใจวายตาย ปีนั้น 8 ธค. 2484/1941 ญี่ปุ่นบุกไทย
บุกอุษาคเนย์ ถล่มเพิรลฮาเบอร์ ฮาวาย เกิดสงครามโลก WWII เกิดข้าวยาก หมากแพง ผู้คนบาดเจ็บ ล้มตาย

ปีถ้ดมา 2485/1942 รัฐบาลไทย จอมพล ป.พิบูลสงคราม นรม.ประกาศสงครามกับสหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา
25 มกรา Declaration of War เกิดน้ำท่วมใหญ่ มธก.ท่าพระจันทร์ กลายเป็นศูนย์ลับของขบวนการเสรีไทย กู้ชาติ ที่ผู้ประศาสน์การ ปรีดี พนมยงค์ จะต้องประกาศสันติภาพ Free Thai Movement = Declaration of Peace 16 สิงหา 2488/1945 ดังนั้น งดบอลประเพณี ไปหลายปีครับ

อันว่า ตำนาน นั้น จริงสาม เท็จเจ็ด
ส่วน ปวศ.จริงเจ็ด เท็จสาม ทั้ง ปวศ.และ ตำนาน ต้องเรียนรู้ ด้วยสติปัญญา ครับ”
เรียกได้ว่า ไล่เรียงเหตุการณ์มาสมเป็นนักประวัติศาสตร์จริงๆ ครั้นต่อมา เมื่อ สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ท่านปัจจุบัน ออกมา ‘ฮึ่ม’ ว่า ขอให้นักศึกษาล้อการเมืองอยู่ ‘ในกรอบ’ หากผิดเงื่อนไข ปีหน้าเจอโละทีมงาน !
ชาญวิทย์ ก็ไม่รอช้า โพสต์สเตตัสแบบรัวๆในเฟสบุ๊กส่วนตัวแสดงความรู้สึก ‘อดสู’ อีกทั้งใช้คำว่า ‘อธรรมศาสตร์’ อีกด้วย

 

ชาญวิทย์ บอลประเพณี

 

ชาวเน็ตอำ ละครฉากนี้มีแต่ ‘พระเอก’

มาดูความเคลื่อนไหวในสังคมออนไลน์ก็ไม่น้อยหน้า ต่างพากันคอมเม้นต์ถึงสถานการณ์ดังกล่าวอย่างดุเด็ด เผ็ดและฮาน้ำตาเล็ด
เช่น ความเห็นหนึ่งซึ่งวิเคราะห์การกระทำของอธิการธรรมศาสตร์แบบเป็นฉากๆ ดุจดังละครแสนซึ้ง ว่าทุกสิ่งอย่างที่อาจารย์สมคิดตัดสินใจลงไปนั้น ล้วนแต่ฝืนใจทำเพื่อรักษามหาวิทยาลัยอันเป็นที่รัก เพราะเกรงว่าคสช.จะเข้ามาควบคุมหากไม่ทำตาม จึงยอมพลีกายโดนตำหนิและยอมรับความผิดนั้น อารมณ์ประมาณ พระเอกผู้ปิดทองหลังพระในคราบผู้ร้าย ก่อนที่สุดท้ายเจ้าของเม้นต์จะมาเฉลยว่า ตนขอไปกินยากับช็อตไฟฟ้าเพราะหมอตามตัวแล้ว (ฮา)

ชาวเน็ตอำ บอลประเพณี
บ้างก็ออกมาชี้ช่องแกมประชดว่า หากขอให้นักศึกษาล้ออย่างอยู่ใน ‘กรอบ’ ก็ให้ล้อไปเหมือนเดิม โดยยกชุดพาเหรดอีกขบวนมา ‘ล้อมกรอบ’ เอาไว้เป็นอันจบ ตรงตามคำขอของอธิการเป๊ะๆ !
บางส่วนมาแนวประหยัด แนะให้ทำป้ายผ้าสัก 20 ผืนที่เขียนว่า “ปีนี้ ไม่มีขบวนล้อการเมือง ทหารห้าม” หรือจะแถมผ้ายอธิการบดีห้ามอีกสักผืนสองผืน งบก็คงไม่บานปลาย
อีกราย เสนอพร็อพเสริม โดยแนะให้นักศึกษาพก ‘กรวย’ ติดตัวไปด้วย เพราะมีเหตุการณ์ครั้งหนึ่งซึ่งทหารและตำรวจไม่กล้าแม้แต่ขยับกรวยหรือแตะต้อง เพราะหากทำเช่นนั้นอาจโดนมือ-เท้า-มีดก็เป็นได้ ดังนั้น พกอุปกรณ์ดังกล่าวไป ทีมงานปลอดภัยแน่นอลลลล !

 

กรวย

 

กรวย02

ล้มดีปะ ถ้าไม่มี ‘เสรีภาพ’ ?

ปิดท้ายด้วยความคิดเห็นแนวจริงจังนิดๆ น้อยใจหน่อยๆ กันบ้างดีกว่า
ดังเช่นความเห็นหนึ่งที่ระบุว่า การนำเสนอแนวคิดทางการเมืองผ่านการล้อเลียนในงานบอลประเพณี ถือเป็น ‘หัวใจ’ ของงานดังกล่าว และหากจะโดนโละทีมงานจริงๆ หากเป็นตน ก็ยอมยกเลิกไปเลยดีกว่า เพื่อให้รู้กันไปว่า เสรีภาพไม่มีอีกแล้ว เพราะหากเป็นการเตะบอลกิ๊กก๊อก มีขบวนแฟนซีและเชียร์ลีดเดอร์ ก็มีแค่ความสวยงามเพียงเปลือกนอกเท่านั้น จัดไปก็ ‘เปลืองตังค์’ เสียเปล่าๆ
ทั้งหมดนี้ คือส่วนหนึ่งของมุขขำที่ไม่ได้แค่อำเพื่อเอาฮา หากแต่มีสาระสอดแทรกเป็นกระษัยให้ขบคิดอีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image