ทีดีอาร์ไอ ชี้รัฐบาลประยุทธ์ 2 คุมการระบาดโควิด-บริหารวัคซีนพลาด ต้องมีผู้รับผิดชอบ

ทีดีอาร์ไอ เปิดรายงาน ชี้รัฐบาลประยุทธ์ 2 คุมการระบาดโควิด-บริหารวัคซีนพลาด ต้องมีผู้รับผิดชอบ แนะตั้ง กก.อิสระถอดบทเรียน ป้องกันการผิดพลาดในอนาคต

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (11 กรกฎาคม) คณะนักวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยรายงาน ประเมินผลงานกลางเทอมรัฐบาลประยุทธ์ 2 : การควบคุมการระบาดของโควิด-19 และการบริหารจัดการวัคซีน

อนึ่ง คณะผู้ประเมินได้นำเสนอผลการประเมินกลางเทอมของรัฐบาลประยุทธ์ 2 ซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2562 และครบรอบ 2 ปีในวันที่ 10 กรกฎาคม 2564 โดยจะประเมินเฉพาะผลงานด้านการควบคุมการระบาดของโควิด-19 และการบริหารจัดการวัคซีน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งในปัจจุบัน

รายงานดังกล่าว ทีดีอาร์ไอแบ่งหัวข้อหลักออกเป็น 1.การควบคุมการระบาดของโควิด-19 พร้อมแสดงกราฟอัตราการตายส่วนเกินของประเทศไทย จำแนกตามกลุ่มอายุในเดือน พ.ค. และ มิ.ย.2564 (ร้อยละ), กราฟจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมตั้งแต่การระบาดของโรค (คนต่อประชากรหนึ่งล้านคน), กราฟจำนวนผู้เสียชีวิตสะสมจากโควิด-19 ตั้งแต่เกิดการระบาดของโรค (คนต่อประชากรหนึ่งล้านคน)

2.การบริหารจัดการวัคซีน พร้อมแสดงกราฟอัตราการฉีดวัคซีนสะสมต่อประชากร (ร้อยละ), ตารางจังหวัดที่มีการฉีดวัคซีนสะสมต่อประชากร 100 คน 15 อันดับแรก (ณ วันที่ 7 ก.ค.2564) ตารางการได้รับวัคซีนโควิด-19 แยกตามกลุ่มเป้าหมาย (28 ก.พ.-6 ก.ค.2564)

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ทีดีอาร์ไอสรุปรายงานดังกล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 และการกลายพันธุ์ของไวรัสเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของรัฐบาลของประเทศต่างๆ อย่างไรก็ตาม ขีดความสามารถและประสิทธิภาพของภาครัฐของแต่ละประเทศมีผลอย่างยิ่งต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของประชาชน

โดยประเทศที่ภาครัฐมีขีดความสามารถและประสิทธิภาพสูงจะไม่ตกอยู่ในภาวะวิกฤตทั้งในด้านสุขภาพและด้านเศรษฐกิจเป็นเวลานาน และจะสามารถกลับมาฟื้นตัวสู่สภาวะปกติได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ได้เปรียบในการแข่งขันในเวทีโลก

Advertisement

น่าเสียดายว่า แม้ประเทศไทยเคยประสบความสำเร็จในการควบคุมการระบาดในระลอกก่อนหน้า แต่เมื่อรัฐบาลดำเนินการผิดพลาดในการควบคุมโรคและการบริหารจัดการวัคซีน ประเทศก็กลับเข้าสู่วิกฤตด้านสุขภาพและด้านเศรษฐกิจอีกครั้งหนึ่ง จนสูญเสียโอกาสในการฟื้นตัวสู่สภาวะปกติอย่างรวดเร็ว และสูญเสียความได้เปรียบในการแข่งขันในเวทีโลก

กรณีผิดพลาดนี้สมควรต้องมีผู้ที่ต้องรับผิดชอบ และสมควรมีการแสวงหาข้อเท็จจริงและวิเคราะห์ในเชิงลึก โดยคณะกรรมการที่เป็นอิสระคล้ายกับคณะกรรมการศึกษาและเสนอแนะมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบการเงินของประเทศ (ศปร.) ที่ตั้งขึ้นหลังวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 เพื่อถอดบทเรียนและป้องกันความผิดพลาดซ้ำอีกในอนาคต

อ่านรายงานฉบับเต็ม ประเมินผลงานกลางเทอมรัฐบาลประยุทธ์ 2 : การควบคุมการระบาดของโควิด-19 และการบริหารจัดการวัคซีน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image