‘เรืองไกร’ มั่นใจ ส.ส.ติดโควิดไม่กระทบประชุม กมธ.งบ 65 ใช้ระบบซูมเข้าช่วย หากไม่ทันอาจถกเพิ่มวันอาทิตย์

‘เรืองไกร’ มั่นใจ ส.ส.ติดโควิดไม่กระทบประชุม กมธ.งบ 65 ใช้ระบบซูมเข้าช่วย หากไม่ทันอาจถกเพิ่มวันอาทิตย์

เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 12 กรกฎาคม ที่รัฐสภา นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 แถลงผลการประชุม กมธ.ว่า ที่ผ่านมากรรมาธิการได้ใช้เวลาไปแล้ว 19 วัน รวม 160 ชั่วโมง รวมหน่วยงานที่ผ่านการพิจารณาแล้ว 8 กระทรวง 4 กองทุน คิดเป็น 30.9% และเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคมที่ผ่านมา กมธ.ได้มีการพิจารณาภาพรวมงบประมาณของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ และนวัตกรรม โดยในที่ประชุมได้มีการหารือและสอบถามเกี่ยวกับผลกระทบและแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ต่อ นิสิตนักศึกษา และประชาชน ซึ่ง กมธ.ได้ให้ความสำคัญกับคุณภาพการเรียนการสอน การผลิตนักศึกษาที่ตอบโจทย์ของประเทศและการวิจัยพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มด้วย ทั้งนี้ ได้มี กมธ.บางคนสอบถามว่า หน่วยงานมีแนวทางในการช่วยเหลือหรือเยียวยานิสิต นักศึกษาในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างไร เพื่อช่วยเหลือแบ่งเบาภาระค่าครองชีพของนิสิต นักศึกษาและผู้ปกครอง เช่น การปรับลดค่าหน่วยกิตลง และในปัจจุบันหน่วยงานมีการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้กับนิสิต นักศึกษาไปแล้วกี่ราย

นายเรืองไกรกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังมี กมธ.บางคนได้สอบถามเพิ่มเติมว่า หน่วยงานมีนโยบายอย่างไรในการช่วยเหลือประชาชนที่ป่วยโควิด-19 ซึ่งมีจำนวนมากขึ้นทุกวัน ทั้งนี้ หากหน่วยงานมีการจัดพื้นที่ของมหาวิทยาลัยเพื่อจัดทำเตียงสนามและที่พักสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 จะสามารถช่วยเหลือประชาชนได้อย่างมาก เพราะพื้นที่ของมหาวิทยาลัย มีระบบสาธารณูปโภค ระบบการกำจัดขยะและมลพิษ และอยู่ห่างไกลจากแหล่งชุมชน ซึ่งกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ได้ชี้แจงว่า หน่วยงานได้ให้นโยบายกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ในการช่วยเหลือบุคลากรของมหาวิทยาลัยและเยียวยานิสิตนักศึกษาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 3 เรื่อง คือ การช่วยเหลือด้านการเงิน เช่น 1.การลดค่าหน่วยกิต การขยายเวลาการชำระค่าเล่าเรียน และการให้ทุนการศึกษาแก่นักศึกษา ซึ่งอยู่ที่ดุลพินิจของแต่ละมหาวิทยาลัย 2.การช่วยเหลือประชาคมผู้ประกอบการในมหาวิทยาลัยและผู้ที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัย และ 3.การช่วยเหลือบรรเทาภาระทางการศึกษาของนิสิตนักศึกษา เช่น การสนับสนุนการเรียนผ่านสื่อออนไลน์ ช่วยเหลือด้านการสื่อสารต่างๆ ขยายเวลาการศึกษาและการศึกษางาน เพื่อไม่ให้นิสิตนักศึกษามีปัญหาในการจบการศึกษา

Advertisement

นายเรืองไกรกล่าวด้วยว่า ส่วนเรื่องของการฉีดวัคซีนให้นิสิต นักศึกษานั้น หน่วยงานเป็นกลไกสำคัญของประเทศในการฉีดวัคซีนให้กับประซาชน โดยได้มีการฉีดวัคซีนให้กับนิสิตนักศึกษา บุคลากรของหน่วยงาน และประชาชน ปแล้ว 400,000 คน โดยอยู่ในกรุงเทพมหานคร 390,715 คน อยู่ในต่างจังหวัด 56,711 คน ซึ่งบุคลากรด่านหน้าของหน่วยงานได้รับวัคซีนหมดแล้ว และบุคลากรที่เป็นอาจารย์ที่ต้องพบปะคนเป็นจำนวนมากส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนแล้ว สำหรับนักศึกษาที่ต้องไปปฏิบัติงานภายนอก เช่น นักศึกษาที่ต้องไปฝึกงานส่วนใหญ่ก็ได้รับวัคซีนแล้วเช่นกัน ส่วนเรื่องของการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในพื้นที่ของมหาลัยต่างๆ นั้น ตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมา หน่วยงานได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ ในการเปิดโรงพยาบาลสนามไปแล้วทั้งหมด 53 แห่ง ใน 42 จังหวัด จำนวนประมาณ 12,000 เตียง ซึ่งคาดว่าจะสามารถขยายได้ถึง 25,000 ทั้งนี้ หน่วยงานจะพยายามเพิ่มพื้นที่และจำนวนเตียงต่อไปอีกอย่างต่อเนื่อง โดยในวันนี้จะเป็นการพิจารณาอีก 3 กระทรวง คือ กระทรวงอุตสาหกรรม จำนวน 7 หน่วยงาน กระทรวงพลังงาน จำนวน 5 หน่วยงาน และกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา จำนวน 7 หน่วยงาน

เมื่อถามว่าหากต้องมีการงดประชุม จะมีการปรับเปลี่ยนวิธีการประชุม กมธ.งบ อย่างไร นายเรืองไกรกล่าวว่า มีการปรึกษากันอยู่ ซึ่งวันนี้พรรคก้าวไกลทั้งหมดที่เป็น กมธ.ไม่ได้มีการเข้ามาในห้องประชุม การรักษาระยะห่างและการรักษามาตรการต่างๆ การวัดอุณหภูมิต่างๆ ในห้อง กมธ.ก็ยังดำเนินการ อนุ กมธ.ยังมีการประชุมอยู่ ซึ่งผู้ที่ป่วยก็ไปทำการรักษา ส่วนผู้ใกล้ชิดก็ได้ไปทำการตรวจหาเชื้อ และพรรคเพื่อไทยก็เข้ามาบางส่วน เพื่อให้งานของการพิจารณางบประมาณ 2565 ผ่านไปได้ด้วยดีก็ต้องดำเนินการต่อไปแต่ต้องเป็นไปด้วยความระมัดระวังอย่างเข้มข้น

เมื่อถามว่าหากมีการเลื่อนประชุมสภาออกไปและมีการเลื่อนประชุม กมธ.งบออกไป จะมีผลต่อกรอบระยะเวลา 105 วันหรือไม่ กมธ.จะมีวิธีการอย่างไร นายเรืองไกร กล่าวว่า การพิจารณาหากมีการปรับ เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคมที่ผ่านมาได้มีการใช้ระบบซูมเข้ามาช่วยในการพิจารณา ส่วนคำถามที่ว่าหากพิจารณาไม่ทันภายในกรอบระยะเวลา 105 วัน ซึ่งตามรัฐธรรมนูญได้บรรญัติชัดว่า หากพิจารณาไม่เสร็จให้ถือว่าเป็นชอบ ผ่านไปได้ด้วยวงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท ตามที่รัฐบาลเสนอมา

Advertisement

เมื่อถามว่ายังไม่มีการพูดถึงว่าจะมีการงดประชุมใช่หรือไม่ นายเรืองไกรกล่าวว่า ยัง เพราะเราใช้วิธีการปรับคือการใช้ระบบเทคโนโลยีเข้ามาช่วยและขอให้ กมธ.พยายามที่จะสรุปคำถาม ความเห็นให้อยู่ในกรอบระยะเวลา เพราะตอนนี้เราพิจารณาล่าช้ามา 10 วัน ซึ่งเราพยายามจะพิจารณาให้ทันภายในกรอบวันที่ 29 สิงหาคม และในวันที่ 21-22 สิงหาคมได้มีการกำหนดกรอบว่าจะต้องผ่านวาระ 2-3 ซึ่งหากต้องเร่งก็จะมีการเพิ่มวันประชุมในวันอาทิตย์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image