เดินหน้าชน : ฟื้นกลุ่มเปราะบาง

วิกฤตโควิด-19 โถมใส่ประเทศไทยต่อเนื่องรุนแรง แนวโน้มผู้ติดเชื้อระดับหลักหมื่นคนต่อวันคงมี
ให้เห็นกันในไม่ช้า

ขณะที่บุคลากรทางการแพทย์อ่อนล้า และกลายเป็นผู้ป่วยเสียเองเริ่มมากขึ้น

ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. ต้องเพิ่ม “ยาแรง” ควบคุมการเคลื่อนย้าย การรวมกลุ่มผู้คน ประกาศเคอร์ฟิว จำกัดกิจกรรม/กิจการ ถูกนำมาใช้อีกครั้งเพื่อสกัดการแพร่ระบาด

อีกด้านของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและกลุ่มคนในสังคม ก็จะได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง หนักรุนแรงยิ่งขึ้น

Advertisement

ขณะนี้ยังไม่ชัดเจน รัฐบาลจะมีแนวทางเยียวยารอบใหม่อย่างไร

มีข้อเสนอน่าสนใจจากคณะนักวิจัยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ กับการรับมือสถานการณ์ขณะนี้

ทีดีอาร์ไอเสนอเพิ่มระดับการเยียวยากลุ่มเปราะบางที่สอดคล้องกับระดับผลกระทบ และความสามารถในการรับมือ โดยประสานฐานข้อมูลต่างๆ ที่ภาครัฐมีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเป้าหมายของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ผู้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผู้เข้าร่วมโครงการเยียวยาต่างๆ การสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ประสานข้อมูลกับองค์กรทางสังคมที่เข้าถึงกลุ่มเปราะบาง เพื่อให้การช่วยเหลือตรงจุด ไม่ล่าช้าเกินไป

Advertisement

เพิ่มมิติการเยียวยาที่เกิดขึ้นพร้อมกับการระบาดระดับสูงในปัจจุบัน ประกอบด้วยการชดเชยรายได้ให้กลุ่มเสี่ยงสูงเปราะบางที่ต้องถูกกักตัวระยะยาว ไม่สามารถทำงานได้ เช่น ชุมชนแออัด แคมป์คนงาน ทั้งในรูปสิ่งของหรือเงินเยียวยาที่มีมูลค่ารวมไม่น้อยกว่ารายรับเดิมที่เคยได้รับระหว่างการถูกกักตัว

การมีกลไกดูแลบุตรหลานผู้ติดเชื้อที่ขาดคนดูแล การดูแลสมาชิกครอบครัวของผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ที่ยังรอดชีวิต ซึ่งถูกกระทบทั้งด้านจิตใจ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคมอย่างรุนแรง

ผู้ได้รับผลกระทบจากการปิดหรือลดระดับกิจการ รัฐบาลอาจสนับสนุนการจ้างงานระยะสั้น เช่น จ้างงานชั่วคราวให้พนักงานโรงแรม ร้านอาหาร และพนักงานขับรถ ทำหน้าที่ทำอาหารหรือขนส่งอาหาร ให้กับอาสาสมัครหรือประชาชนในพื้นที่ระบาดที่จำเป็นต้องกักตัวในบ้าน หรือการว่าจ้างงานชั่วคราว ให้ประชาชนกลุ่มที่ตกงานที่มีความพร้อมเข้ารับการฝึกอบรมให้ทำหน้าที่คนดูแลผู้ป่วยติดเตียง

ขณะเดียวกัน คณะรัฐมนตรีควรกำหนดกลไกการจัดสรรและเบิกจ่ายงบประมาณ เพื่อการเยียวยาให้มีลักษณะอัตโนมัติหรือกึ่งอัตโนมัติมากขึ้น เช่น กำหนดเกณฑ์การช่วยเหลือ การกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนแต่แรก กระบวนการงบประมาณที่ยืดหยุ่น เพื่อให้หน่วยงานรับผิดชอบสามารถให้ความช่วยเหลือได้ทันท่วงที ไม่ติดปัญหาระบบราชการและงานเอกสารที่ใช้เวลา

ควรมีการจัดสรรงบประมาณเพื่อการเยียวยาทางเศรษฐกิจและสังคมมากกว่าปัจจุบัน ที่คาดว่าจะมี
งบประมาณที่กันไว้สำหรับเยียวยาประมาณ 2.8 แสนล้าน ซึ่งน่าจะไม่เพียงพอ

นโยบายการจัดหาและกระจายวัคซีนควรมีมิติการป้องกันการติดเชื้อ การป่วยหนักและการตายของกลุ่มเปราะบางด้วย ซึ่งการเยียวยากลุ่มรากหญ้าและเปราะบางที่ดีที่สุดคือ “การได้รับวัคซีน” เพราะจะทำให้ไม่
ติดเชื้อสามารถประกอบอาชีพต่อไปได้ หรือถ้าติดเชื้อก็ไม่ต้องเข้าโรงพยาบาลจนขาดรายได้จนครอบครัวเดือดร้อน

เพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้ฟื้นคืนมายืนได้อย่างแข็งแรงอีกครั้ง

สัญญา รัตนสร้อย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image