‘ครูจุ๊ย’ อัด ศธ.บริหารปัดความรับผิดชอบ ออกนโยบายลดค่าเทอม เสี้ยมโรงเรียน-ผู้ปกครองทะเลาะกัน

‘ครูจุ๊ย’ อัด ศธ.บริหารปัดความรับผิดชอบ สั่งงานบนหอคอย ออกนโยบายลดค่าเทอม เสี้ยม ร.ร.-ผู้ปกครองทะเลาะกัน เลือดเย็นมอง น.ร.เป็นแค่ ‘จำนวนนับ’ ของกระทรวงฯ

เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม น.ส.กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า กล่าวถึงการบริหารจัดการของ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่าสิ่งเดียวที่ตนมองเห็นคือรูปแบบการทำงานที่ปัดความรับผิดชอบ ปัดความรับผิดชอบที่ 1 เปิดเทอมผ่านการประเมิน 44 ข้อ ปลอดภัยจากโควิดใช่หรือไม่

น.ส.กุลธิดากล่าวว่า หลักการมอบอำนาจให้พื้นที่และโรงเรียนเป็นผู้ประเมินความเสี่ยงในการเปิดโรงเรียนเป็นหลัก ซึ่งมีหลายข้อที่โรงเรียนต้องใช้ทรัพยากรเพิ่มเติม ทางกระทรวงได้จัดเตรียมทรัพยากรช่วยโรงเรียนเหล่านี้หรือไม่ เช่น น้ำยาทำความสะอาดพื้นผิว การจ้างพนักงานทำความสะอาด การซ่อมแซมจุดล้างมือในโรงเรียน สบู่ เจลแอลกอฮอล์ หรือหน้ากากอนามัยที่สะอาดเปลี่ยนได้ทุกวัน เหล่านี้จำเป็น โรงเรียนขนาดเล็กจำนวนครึ่งหนึ่งของโรงเรียนทั้งหมดในประเทศไทย อยู่ในพื้นที่ที่มีนักเรียนยากจน ส่วนโรงเรียนก็ขาดทรัพยากรแม้จะไม่มีสถานการณ์โควิด ถามว่ารัฐมนตรีได้ดูแลพวกเขาอย่างดีมากกว่าการนั่งมอนิเตอร์จากห้องทำงานแล้วหรือ

น.ส.กุลธิดากล่าวว่า ปัดความรับผิดชอบที่ 2 สั่งโรงเรียนลดค่าเทอม และกระทรวงทำอะไรบ้าง จะสักแต่เขียนคำสั่งสวยๆ ไม่ได้ จะบอกว่าลดค่าเทอมโดยไม่ช่วยเหลือโรงเรียน และไม่อธิบายบริบทของค่าใช้จ่ายของโรงเรียนเลย เพราะที่สุดแล้วค่าใช้จ่ายที่คืนได้ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่นักเรียนไม่ได้ใช้ พอคำนวณออกมาแล้วจะไม่ได้เป็นตัวเลขที่มากมายอะไร เพราะโรงเรียนรัฐและเอกชนจะมีค่าใช้จ่ายที่เป็น fixed cost วิ่งทุกเดือน เงินเดือนครู แม่บ้าน รปภ. ธุรการ ที่ต้องจ่าย

Advertisement

น.ส.กุลธิดากล่าวอีกว่า ถ้าโรงเรียนไหนกู้เงินมาลงทุนทำห้องเรียนใหม่ ปรับปรุงพื้นที่ ดอกเบี้ยก็จะวิ่งไป รัฐไม่ได้ช่วยเรื่องการพักเงินต้นและดอกเบี้ยอย่างเป็นรูปธรรมเลย ออกแต่ซอฟต์โลนเพิ่มหนี้ ทั้งที่โรงเรียนก็ต้องเผชิญการแบกรับค่าใช้จ่ายอยู่แล้ว ดังนั้น ค่าใช้จ่ายที่คิดเป็นส่วนลดให้ผู้ปกครองได้ตามความเป็นจริงจึงไม่เยอะมากนัก

“ครูสอนหนักขึ้น แต่พอถึงเวลาบางโรงเรียนต้องขอลดเงินเดือนบุคลากรกัน ครูก็เข้าใจ บางครั้งก็ต้องจำใจ ยอมถูกให้ลดเงินเดือน แต่งานยังทำอยู่ แถมมากกว่าเดิม แต่ทุกคนก็พยายามช่วยแบ่งเบาภาระซึ่งกันและกันไป เพื่อให้การลดค่าเทอมเป็นไปได้จริง ที่ผ่านมามีแต่ขอความร่วมมือ ที่กลายเป็นคำเสี้ยมให้ผู้ปกครองและโรงเรียนทะเลาะกันมากยิ่งขึ้น คุณดูเหมือนพระเอกขี่ม้าขาว โรงเรียนกลายเป็นผู้ร้าย ที่สุดแล้วคุณก็ลอยตัวเหนือปัญหา” น.ส.กุลธิดากล่าว

น.ส.กุลธิดากล่าวว่า ปัดความรับผิดชอบที่ 3 ครูและผู้ปกครองทุกคนยังรอคอยการสนับสนุนทรัพยากรอย่างเป็นรูปธรรม ต้นทุนการสอนออนไลน์ทั้งโรงเรียนรัฐและเอกชน ครูต้องหาอุปกรณ์เพิ่มไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าผู้ปกครอง ต้องปรับกิจกรรมใหม่หมดเพื่อให้เหมาะกับการสอนออนไลน์ บางครั้งแบ่งครึ่งห้องสอนสองรอบก็ต้องทำ เพราะการสอนออนไลน์กับเด็กจำนวนมากๆ ไม่เป็นประโยชน์ และจะเสียเวลาทั้งสองฝ่าย ทุกคนดิ้นรนกันอย่างเต็มที่เพื่อให้เกิดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ

Advertisement

น.ส.กุลธิดากล่าวต่อว่า สรุปคือเราตกอยู่ในสถานการณ์กลืนไม่เข้าคายไม่ออก โรงเรียนต้องมาทะเลาะกับผู้ปกครอง ทั้งที่จริงๆ ควรจับมือทำงานด้วยกันเพื่อพัฒนาเด็กๆ ครูต้องอดทนเอาเงินเดือนมาใช้จ่ายเพื่ออุปกรณ์การทำงานให้สอนออนไลน์ได้ ส่วนรัฐมนตรีออกคำขอความร่วมมือสวยๆ มาลดค่าเทอม จบ งานเสร็จ ไม่ต้องรับผิดชอบอะไร

“ถ้ามีอุปกรณ์เหมาะสมกับบริบท จะช่วยให้ไม่ต้องบังคับพ่อแม่ต้องเฝ้าลูกจนทำงานไม่ได้ ขาดรายได้ วนมาจนถึงต้องพาลูกออกจากโรงเรียนกลางคัน เพราะไม่มีเงิน ซึ่งแน่ล่ะ คุณไม่ได้สนใจอะไรมาก เพราะนักเรียนเป็นเพียงจำนวนนับสำหรับคุณเท่านั้น” น.ส.กุลธิดากล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image