บิ๊กตู่ กำชับ ทำแผนพัฒนาภาค-กลุ่มจังหวัด แผนจังหวัด ต้องสอดคล้องยุทธศาสตร์ชาติ

“บิ๊กตู่” ย้ำการจัดทำแผนพัฒนาภาค กลุ่มจังหวัด และจังหวัด ต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ โปร่งใส ตรวจสอบได้ เกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างเท่าเทียมเป็นธรรม เน้นให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 14 ก.ค.64 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการบูรณาการนโยบายพัฒนาภาค (ก.บ.ภ.) และคณะกรรมการนโยบายการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.น.จ.) ครั้งที่ 2/2564 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกล ร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้อง โดย นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำความสำคัญของการจัดทำแผนพัฒนาภาค แผนพัฒนากลุ่มจังหวัด และแผนพัฒนาจังหวัด โดยการจัดทำแผนงานโครงการต้องคำนึงถึงศักยภาพของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด และมาจากความต้องการของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง ทั้งนี้ แผนงานโครงการต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และมีการบูรณาการเชื่อมโยงการพัฒนาจากระดับบน (Top Down) สู่ระดับล่าง (Bottom Up) รวมทั้งกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด โดยมุ่งเน้นความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และก่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างเท่าเทียม และเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ มุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อที่ประชุมถึงนโยบายของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล ในการจัดทำแผนพัฒนาภาค แผนพัฒนากลุ่มจังหวัด และแผนพัฒนาจังหวัด ต้องปรับให้เข้ากับเกณฑ์ของยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งการจะทำให้ประสบความสำเร็จ ต้องขึ้นอยู่กับแผนปฏิบัติการที่ต้องลงไปยังพื้นที่ ทุกอย่างต้องสอดคล้องกัน และการพัฒนาต้องเป็นการพัฒนาอย่างพุ่งเป้า เป็นไปตามศักยภาพของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ต้องมีการจัดเตรียมแผน จัดลำดับความสำคัญเร่งด่วนให้ดี ในการใช้งบประมาณต้องมีแผนการใช้งบประมาณในแผนเร่งด่วนตามกรอบระยะเวลา ที่ต้องเตรียมไว้ล่วงหน้า และปรับให้ตรงกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งสถานการณ์โลก สถานการณ์ภายในประเทศ ที่สำคัญคือต้องทำให้สอดคล้องกับห้วงระยะเวลา โดยต้องมุ่งเป้าหมายไปที่การฟื้นฟูของประเทศจากสถานการณ์โควิด-19 ให้ได้โดยเร็วที่สุด รวมทั้งจะต้องมีเป้าหมายตัวชี้วัดการพัฒนาระดับความแตกต่างของรายได้ของประชาชน ของจังหวัด จีดีพีรายหัว ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

นายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำว่า ในวันนี้ต้องทำงานแนวเชิงรุกให้มากยิ่งขึ้น การจัดทำแผนงาน/โครงการต่าง ๆ จะต้องมีข้อมูลรายละเอียดที่เพียงพอ แผนปฏิบัติการต้องผ่านความเห็นชอบ ความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ผ่านคณะกรรมการจังหวัด เสนอขึ้นมาผ่านคณะกรรมการตรวจสอบ คัดกรอง ให้ได้ข้อยุติเป็นแผนที่สมบูรณ์ โดยรัฐบาลจะไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดใดก็ตาม ทุกจังหวัดจะต้องได้รับความเท่าเทียมและเป็นธรรม เท่าเทียมในเรื่องของโอกาส เป็นธรรมก็คือจะต้องดูแลผู้มีรายได้น้อยให้มากขึ้น ซึ่งในการจัดทำโครงการขอให้ทำให้ดีที่สุด เมื่อเสนอโครงการมาแล้วหากต้องส่งกลับไปใหม่ จะทำให้ล่าช้าไม่ทันการณ์ ฉะนั้น ท้องถิ่นและจังหวัดต้องตรวจสอบในเรื่องการจัดทำแผนงานโครงการให้สมบูรณ์ ทั้งนี้ การทำงานใดก็ตามที่มีลักษณะการทำงานแบบเดิม ๆ จะต้องปรับเปลี่ยนให้เป็นการทำงานเชิงรุก ต้องปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ รวมทั้งในโครงการจะต้องมีแผนหลัก แผนรอง แผนเผชิญเหตุ ให้พร้อมสำหรับการอนุมัติโครงการ ทุกจังหวัด ทุกกลุ่มจังหวัดต้องเตรียมการให้พร้อม กำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนตามห้วงระยะเวลา รัฐบาลเน้นให้ทุกอย่างต้องเป็นไปด้วยความสุจริต โปร่งใส ตรวจสอบได้และมีประสิทธิภาพ

นายอนุชา กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ (1) นโยบาย หลักเกณฑ์ วิธีการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด และแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด พ.ศ. 2566 – 2570 (2) หลักเกณฑ์การจัดทำแผนปฏิบัติราชการจังหวัด และกลุ่มจังหวัด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 – 2570 (3) แนวทางการกำหนดกรอบการจัดสรรงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 – 2570 ภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 – 2570 ของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดปีละ 28,000 ล้านบาท (4) หลักเกณฑ์การเปลี่ยนแปลงโครงการตามแผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 – 2570 ของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด (5) ร่างกรอบแผนพัฒนาภาค พ.ศ. 2566 – 2570 ทั้ง 6 ภาค และหลักเกณฑ์การจัดทำแผนปฏิบัติการภาค ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 – 2570 เพื่อให้ส่วนราชการใช้เป็นกรอบในการจัดทำและเสนอขอโครงการที่สนับสนุนและขับเคลื่อนการพัฒนาเชิงพื้นที่ (6) ปฏิทินการดำเนินงานภายใต้กลไก ก.บ.ภ.ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 – 2565 (7) แนวปฏิบัติสำหรับจังหวัดและกลุ่มจังหวัด กรณีการชำระเงินประกันค่าธรรมเนียมให้สถาบันอนุญาโตตุลาการในการฟ้องคดีโครงการตามแผนปฏิบัติราชการประจำปี โดยใช้เงินเหลือจ่าย และ (8) การขอโอนเปลี่ยนแปลงโครงการเพื่อชดเชยเงินถูกพับไปของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2562 โดยจังหวัดเสนอคำขอเปลี่ยนแปลงเพื่อขอความเห็นจากคณะกรรมการบริหารงานจังหวัด/กลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการและจัดส่งคำขอเปลี่ยนแปลงโครงการภายในวันที่ 10 สิงหาคม 2564

Advertisement

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบการปรับปรุงตัวชี้วัดการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ชุดใหม่ ที่ยึดโยงกรอบมิติการพัฒนาตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ประกอบด้วย ตัวชี้วัดการพัฒนาระดับจังหวัด (32 ตัวชี้วัด) ตัวชี้วัดการพัฒนาระดับกลุ่มจังหวัด (15 ตัวชี้วัด) ทั้งนี้ จังหวัด กลุ่มจังหวัด และส่วนราชการ สามารถใช้ตัวชี้วัดดังกล่าวเป็นเครื่องมือในการวัดสถานะการพัฒนาพื้นที่เชิงเปรียบเทียบ จังหวัดและกลุ่มจังหวัดสามารถนำไปเป็นข้อมูลประกอบการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดได้ รวมทั้งชี้พื้นที่เป้าหมายการพัฒนาในระดับจังหวัดและกลุ่มจังหวัดให้กับส่วนราชการเพื่อนำไปกำหนดแผนงานโครงการได้อย่างชัดเจน

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image