กสม. จี้รัฐทบทวน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 27 กระทบเสรีภาพแสดงความเห็น

กสม. จี้รัฐทบทวน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 27 กระทบเสรีภาพแสดงความคิดเห็น วอนทุกฝ่ายสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ร่วมกันฝ่าวิกฤตโควิด

เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ระบุถึงประกาศข้อกำหนดพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 27) เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2564 ข้อ 11 ถึงข้อห้ามสร้างความหวาดกลัวแม้เป็นจริง ว่าหลายภาคส่วนมีความกังวลต่อมาตรการป้องกันการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารที่อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน เนื่องจากอาจทำให้เข้าใจหรือตีความไปได้ว่า การเสนอข่าวหรือการทำให้แพร่หลายทางหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสิ่งอื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว แม้จะเป็นความจริงก็ไม่สามารถทำได้ และถือเป็นความผิดตามข้อกำหนดฉบับที่ 27

กสม. เห็นว่าในสถานการณ์ที่เกิดโรคระบาดร้ายแรง มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ประชาชนจะต้องได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง เพื่อให้สามารถประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพที่กำลังเผชิญอยู่ รวมถึงผลกระทบที่เกี่ยวเนื่อง และเพื่อให้สามารถเตรียมการในการรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงที ดังนั้นจึงไม่ควรมีการปิดกั้นการรับรู้ข่าวสารของประชาชน และไม่ควรห้ามการเสนอข้อมูลที่เป็นความจริงเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น หากรัฐบาลเห็นว่าข้อมูลที่มีการนำเสนอสร้างความหวาดกลัวแก่ประชาชน รัฐบาลสามารถชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนถึงความพยายามและมาตรการของรัฐในการแก้ไขปัญหา รวมถึงให้คำแนะนำหรือแนวทางในการปฏิบัติตัวของประชาชน เพื่อลดความหวาดกลัวและความตื่นตระหนก รวมถึงเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนได้

กสม. จึงเห็นว่ามาตรการควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ในข้อ 11 ของข้อกำหนดฉบับที่ 27 ในส่วนที่ห้ามการเสนอข่าวหรือข้อมูลที่อาจทำให้ประชาชนหวาดกลัว และจะเป็นช่องว่างให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้ดุลพินิจในการบังคับใช้กฎหมายที่อาจละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งขัดต่อหลักสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการเสนอข่าวสารของสื่อ ที่ได้รับการรับรองและคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 34 และมาตรา 35 รวมถึงไม่สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ประเทศไทยเป็นภาคี และขอเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนมาตรการในข้อ 11 ดังกล่าว เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายภายในและพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนของไทย

กสม. ยังขอให้ประชาชน สื่อมวลชน และทุกภาคส่วนร่วมกันใช้สื่อต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อสังคมออนไลน์ในการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ รู้เท่าทันข้อมูลข่าวสารที่เป็นเท็จ หรือสร้างความเกลียดชัง เพื่อให้สังคมไทยเดินหน้าฝ่าฟันปัญหาไปพร้อมกันด้วยความเคารพในความแตกต่างหลากหลายทางความคิดอันเป็นความปกติของสังคมประชาธิปไตย

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image