ส่องแรงบีบ‘บิ๊กตู่’ ล้มเหลวแก้‘โควิด’ ยุบสภาหรือลาออก?

ส่องแรงบีบ‘บิ๊กตู่’
ล้มเหลวแก้‘โควิด’
ยุบสภาหรือลาออก?


หมายเหตุ – ความเห็นของนักวิชาการถึงกระแสความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาวิกฤตโควิด-19 ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงกดดันให้พรรคร่วมรัฐบาลถอนตัวบีบให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออกหรือยุบสภา เป็นทางออกเพื่อสรรหานายกฯและรัฐบาลชุดใหม่มาแก้ไขปัญหา


อรรถสิทธิ์ พานแก้ว
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

เวลาพูดเรื่องพรรคร่วมรัฐบาลถอนตัว เราต้องดูกระบวนการรัฐสภาก่อน ต้องดูตัวเลขของฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล หลังจากนั้นจะส่งผลอย่างไรต่อกระบวนการในรัฐสภา กล่าวคือถึงแม้ฝ่ายพรรคร่วมจะถอนตัวแล้ว ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลจะต้องล้มเลย เพราะยังเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยได้

Advertisement

ในเชิงกระบวนการของรัฐสภา เช่น การโหวตในสภา การโหวตร่างพระราชบัญญัติ ร่างกฎหมายต่างๆ แล้วแพ้ ก็ต้องเกิดการรับผิดชอบทางการเมือง หรือเมื่อถอนตัวแล้วจะมีการจับขั้วใหม่หรือไม่ ถ้าเกิดการจับขั้วใหม่ก็จะได้เลือกตัวนายกรัฐมนตรีคนใหม่ แต่ถ้าถอนตัวแล้วไม่มีการจับขั้วใหม่ เท่ากับว่ายังสามารถเป็นรัฐบาลได้อยู่ แต่เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย ซึ่งรัฐบาลเองก็ต้องประคองในเรื่องของวิธีการทางรัฐสภา กระบวนการทางรัฐสภาในการโหวตกฎหมายหรืออะไรก็ตาม ดังนั้น ต้องมองถึงจุดนี้ก่อน

อย่างไรก็ตาม ถ้ามีรัฐบาลใหม่ ก็เกิดนโยบายใหม่ เราอาจจะเห็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายในระยะสั้น ระยะเฉพาะหน้า ซึ่งน่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ ตอนนี้คนพยายามเปรียบเทียบกับสิ่งที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาที่เปลี่ยนจากนายโดนัล ทรัมป์ มาเป็นนายโจ ไบเดน แต่ต้องอย่าลืมว่าเป็นการเปลี่ยนจากรีพับลิกันมาเป็นเดโมแครต เป็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบาย เปลี่ยนชุดผู้บริหารทั้งหมด แต่ประเทศไทยภายใต้การบริหารของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในด้านสาธารณสุขเป็นนโยบายที่ส่งผ่านจากผู้บริหารไปสู่ระบบราชการหรือไม่ หรือว่าระบบราชการเป็นตัวชงให้ผู้บริหาร รัฐมนตรี และนายกฯ ดำเนินการ ถ้าผู้บริหารเปลี่ยนก็ต้องปรับนโยบาย และคนปฏิบัติก็ต้องเปลี่ยนแนวทางด้วย เพราะฉะนั้น มองว่าการเปลี่ยนตัวบุคคลเป็นคำตอบแค่ครึ่งหนึ่งก่อน หลังจากนั้นต้องพูดเรื่องบุคคลและนโยบายต่อไป

ส่วนกรณีที่ฝ่ายค้านจะยื่นซักฟอกรัฐบาลในเดือนสิงหาคม เป็นสิทธิที่สามารถทำได้ แต่ในรัฐธรรมนูญบอกว่า ถ้ายื่นอภิปรายแบบเต็มกระบวนการ รัฐบาลจะยุบสภาไม่ได้ นี่เป็นการเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ เท่ากับว่าถ้าตอนนี้เรามองว่ารัฐบาลไม่ได้รับแรงสนับสนุนจากประชาชนมากเท่าเดิมแล้ว การยื่นตอนนี้อาจทำให้ดูว่าถ้าเสียงจากประชาชนหรือสาธารณะสะท้อนกลับมา การยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ อาจส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของพรรคร่วมรัฐบาลก็ได้ แต่อย่าลืมว่ารัฐธรรมนูญบอกว่าเมื่อยื่นแล้วจะยุบสภาหนีไม่ได้ นี่คือเรื่องสำคัญ

Advertisement

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
อาจารย์ภาควิชารัฐศาสตร์
คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา

ถ้ามองรัฐบาลจากการแก้ปัญหาโควิดถือว่าล้มเหลว เกินจากศักยภาพและความสามารถอย่างชัดเจน หาก พล.อ.ประยุทธ์ลาออกในช่วงนี้ นายกรัฐมนตรีคนต่อไปจะเข้ามาแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่ หรือจะมีเพียงความเชื่อมั่น แต่กระบวนการบริหารจัดการทำได้ยาก เพราะปัญหาถลำลึกไปไกลแล้ว คนมาใหม่จึงอาจทำได้ไม่ดีมากนัก
สำหรับกลุ่มการเมืองที่ออกมาเรียกร้องกดดันให้รัฐบาลลาออกหรือยุบสภา ประเด็นที่น่าสนใจคือการเสนอแนวคิดเท่านี้จะเพียงพอหรือไม่ หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางจากสังคม รวมทั้งผู้ได้รับผลกระทบจากการบริหารจัดโควิด อาจเป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีถูกพูดถึงอย่างรุนแรงที่สุดในรอบ 7 ปี หลังการทำรัฐประหาร ดังนั้นกลุ่มที่ต่อต้านรัฐบาลควรจะคิดไกลกว่านี้หรือไม่

หากยุบสภา มีการเลือกตั้งใหม่ แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะถูกตำหนิอย่างหนัก แต่พรรคพลังประชารัฐได้ปรับกระบวนทัพเตรียมเลือกตั้งไว้แล้ว ที่สำคัญฝ่ายต่อต้านควรประเมินด้วยว่าฝ่ายรัฐบาลได้เตรียมสรรพกำลังอะไรไว้บ้าง เพื่อสู้ศึกเลือกตั้งภายใต้กติกาเดิมในรัฐธรรมนูญ 2560 โอกาสที่จะมีรัฐบาลมาจากคนหน้าเดิมยังมีสูงมาก แม้ว่านายกรัฐมนตรีคนต่อไปอาจไม่ใช่คนเดิม

นอกจากนั้นหากนายกรัฐมนตรีลาออก ก็พบว่ากติกาปัจจุบันนายกรัฐมนตรีก็ต้องมาจากผู้ที่ถูกเสนอตามบัญชีรายชื่อที่มีเพียง 3 คน เมื่อถามว่า 1 ใน 3 คนที่มีรายชื่อจะเข้ามาประคับประคองสถานการณ์ได้จริงหรือไม่ นอกจากฝ่ายที่เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออกแล้วควรมีทางเลือกที่ 3 รองรับไว้ โดยใช้กติกาในรัฐธรรมนูญยอมให้มีนายกรัฐมนตรีที่มาจากบัญชีรายชื่อเดิม แต่ขอให้ถอนตัวออกจากพรรคร่วมแล้วไปทำงานกับพรรคฝ่ายค้าน จากนั้นใช้เสียง ส.ส.ทั้งหมดโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี โดยไม่พึ่งพา ส.ว.

หลังจากนั้นรัฐบาลใหม่ต้องมีสัญญาประชาคมว่าจะทำหน้าที่สำคัญ 2 เรื่อง คือ แก้ปัญหาโควิด และนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เร็วที่สุดเพื่อให้มีกติกาที่เป็นธรรมแล้วยุบสภานำไปสู่การเลือกตั้ง ขณะที่ฝ่ายเรียกร้องไม่ได้มองประเด็นนี้ ซึ่งยังมีความเป็นไปได้สูง เพราะหากใช้กติกาเดิม แม้นายกรัฐมนตรีอยู่ในสถานะที่เพลี่ยงพล้ำ แต่กลไกการเมืองจากการเลือกตั้งจะเอื้อประโยชน์ให้พรรคพลังประชารัฐมากที่สุด

สำหรับการใช้กลไกทางรัฐสภาด้วยการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ หากพรรคฝ่ายค้านไม่เปลี่ยนยุทธวิธีทางการเมือง และรัฐบาลที่โดนวิจารณ์อย่างหนักในขณะนี้ ยังกุมสภาพเดิมไว้ได้ ฝ่ายค้านก็ทำได้เพียงส่งสัญญาณการรับรู้เพื่อตอกย้ำให้ประชาชนรับทราบตามปกติ แต่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ นอกจากพรรคร่วมฝ่ายค้านจะปรับท่าทีหรือพยายามลดเงื่อนไข ขอให้พรรคประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา มาเป็นส่วนหนึ่งในรัฐบาลผสมชุดใหม่ หากนายกรัฐมนตรีลาออก จะมีโอกาสเปลี่ยนขั้วการเมืองได้ ดีกว่าการยุบสภาที่ทำให้พรรคพลังประชารัฐได้เปรียบกว่าทุกพรรคการเมือง

หากให้ประเมินการเกาะเกี่ยวของ 3 พรรคร่วมขนาดกลาง ที่มีพลังประชารัฐเป็นแกนนำ ขณะนี้มีเพียงปัจจัยเดียวคือกติกาในรัฐธรรมนูญที่ออกแบบให้เอื้อต่อการสืบทอดอำนาจ ดังนั้น 3 พรรคร่วมก็ต้องนิ่ง หากมีการเลือกตั้งใหม่ เชื่อว่า 3 พรรคนี้ ยังไม่ไปไหนและการเข้าร่วมอีกในอนาคต ถือเป็นการสร้างความชอบให้กับรัฐบาลเพิ่มขึ้น แม้ประชาชนจะวิจารณ์อย่างหนัก แต่เลือกตั้งใหม่แล้วยังรวมเสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาลได้เหมือนเดิม ที่สำคัญอย่าลืมว่า 250 ส.ว.ยังนั่งรอรัฐบาลในรูปแบบเดิม เพราะฉะนั้นฝ่ายค้านและกลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆ ต้องเปลี่ยนวิธีคิด เพื่อกดดันให้เปลี่ยนนายกรัฐมนตรีหรือทำให้มีความเปลี่ยนแปลงในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาล จากนั้นมาหนุนนายกรัฐมนตรีคนใหม่จากบัญชีรายชื่อ เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพียง 2 เรื่อง

แต่เมื่อดูองคาพยพของบางพรรคการเมืองเก่าแก่ที่ยังร่วมรัฐบาลโดยไม่สนกระแสสังคม ในระยะต่อไปพรรคเหล่านี้ต้องประเมินว่าการยืนหยัดบนหลักการหรืออุดมการณ์เดิมอาจจะบอกเหตุผลกับสังคมได้ แต่เชื่อว่าบางพรรคที่บอกว่ามีอุดมการณ์ในแนวทางอนุรักษนิยมแต่แท้ที่จริงแล้วก็ไม่ได้มีอยู่จริง และอาจเป็นเพียงข้ออ้างทำการเมืองเฉพาะหน้าเพื่อหวังเข้าไปอยู่ในซีกรัฐบาลเท่านั้น แต่ขณะนี้เป็นโอกาสเดียวที่บางพรรคเก่าแก่อาจจะใช้เพื่อกอบกู้วิกฤตศรัทธา เพื่อไปร่วมมือกับฝ่ายค้าน โดยผลักดันผู้ที่มีรายชื่อแคนดิเดต
นายกรัฐมนตรีขึ้นมา เพื่อทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ด้วยการโดดเดี่ยวพรรคพลังประชารัฐ เพราะไม่เช่นนั้นทุกอย่างก็จะอยู่ในวังวนเดิมจากภูมิทัศน์ทางการเมืองที่เป็นผลพวงของรัฐธรรมนูญ 2560 ทั้งที่บริหารล้มเหลว

ขณะที่กลุ่มชนชั้นนำที่ทรงอิทธิพลด้านเศรษฐกิจ การเมืองและฝ่ายอนุรักษนิยมตามจารีตประเพณี ยังพอใจกับรัฐบาลชุดนี้เพราะถือว่ายังช่วยค้ำจุนผลประโยชน์ของพวกตนเองไว้ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image