‘ธรรมนัส’ เบรกเรือดำน้ำ แจ้ง ทร.ชะลอ ชี้งบแก้โควิดสำคัญกว่า ส่วนทัพเรือแจงเสนอตามหน้าที่

‘ธรรมนัส’ เบรกเรือดำน้ำ แจ้ง ทร.ชะลอไปก่อน ชี้งบแก้โควิดสำคัญกว่า เหมือนอยู่ในสงครามโลกครั้งที่ 3 ต้องใช้จ่ายระมัดระวัง ส่วนทัพเรือแจงเสนอตามหน้าที่

เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดเผยว่า ตนในฐานะเลขาฯพรรค พปชร. ได้แสดงจุดยืนไปยังคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) ครุภัณฑ์ ไอซีที ใน กมธ.พิจารณางบประมาณ 2565 ถึงการตั้งงบประมาณการจัดซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2-3 ของกองทัพเรือ ที่กองทัพเรือเตรียมชี้แจงเหตุผลความจำเป็นในการจัดซื้อต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ในวันที่ 19 กรกฎาคมนี้ โดยทางพรรค พปชร.ไม่เห็นด้วยและไม่สนับสนุนกับการจัดซื้อเรือดำน้ำในช่วงเวลานี้ เนื่องจากประเทศอยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ที่ยังมีความรุนแรง ดังนั้น การจะใช้งบประมาณใดๆ ต้องพิจารณารอบด้านและให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน ซึ่งขณะนี้บ้านเมืองอยู่ในสถานการณ์วิกฤตโรคระบาดเปรียบเสมือนการทำสงครามโลกครั้งที่ 3 ที่ต้องสู้กับเชื้อโรคที่มองไม่เห็น จึงมีความจำเป็นจะต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาวิกฤตดังกล่าวให้ผ่านพ้นไปได้ ซึ่งการนำงบประมาณไปจัดซื้อเรือดำน้ำยังมีความจำเป็นเร่งด่วนน้อยกว่าการนำงบประมาณไปแก้ไขปัญหาโรคระบาดโควิด-19 จึงขอให้กองทัพเรือชะลอการจัดซื้อเรือดำน้ำออกไปก่อน

วันเดียวกัน พล.ร.อ.เชษฐา ใจเปี่ยม โฆษกกองทัพเรือ เปิดเผยกรณีที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 พรรคฝ่ายค้านคัดค้านการตั้งงบประมาณจัดซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2-3 ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ว่ามีการเสนอในการจัดทำงบประมาณทุกปี ซึ่งปีนี้ก็เช่นกัน โดยเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ขอตัดงบนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหาเยียวยาประชาชนในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19

“กองทัพเรือทำตามหน้าที่ที่เราต้องเสนอทุกปี เป็นขั้นตอนตามปกติ เช่นเดียวกับกระทรวง ทบวง กรม ในการดำรงภารกิจของตัวเอง ส่วนจะผ่านหรือไม่ผ่านนั้นก็ไม่เป็นไร ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของกรรมาธิการและรัฐสภา ไม่ได้มีอะไรซ่อนเร้น” โฆษกกองทัพเรือกล่าว

เมื่อถามว่า การเสนอจัดซื้ออาวุธช่วงนี้ถูกโจมตีว่าไม่เหมาะสมในช่วงสถานการณ์โควิด พล.ร.อ.เชษฐากล่าวว่า เป็นหน้าที่ที่เราต้องเสนอขึ้นไป ไม่ว่าเสนอปีไหนก็โดน และไม่ใช่เพิ่งโดน ก็โดนมาตลอด จะเลือกจากประเทศไหน เยอรมนี สวีเดน จีน ก็โดนโจมตี เนื่องจากโครงการเป็นลักษณะของแพคเกจ เมื่อจัดหาลำหนึ่งมาแล้ว จำเป็นต้องมีลำที่ 2-3 เพื่อนำมาหมุนเวียน ช่วงซ่อมบำรุง ซึ่งมีปัจจัยหลายอย่างเข้ามาประกอบ

Advertisement

ขณะที่นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในฐานะคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) ครุภัณฑ์ ไอซีที ใน กมธ.พิจารณางบประมาณ 2565 กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยถึงความจำเป็นที่ประเทศไทยหรือกองทัพเรือจะต้องมีเรือดำน้ำ เพราะการรักษาผลประโยชน์ทางทะเลสามารถทำได้หลายวิธี เช่น ยุทโธปกรณ์บนผิวน้ำ หรือการเจรจาทางการทูต ด้วยความที่เราได้จัดซื้อเรือดำน้ำลำแรกไปแล้วก่อนที่จะมีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ซึ่งจะส่งมอบให้ในปี 2566 ส่วนสิ่งที่จะตามมาเพิ่มเติมคือ สิ่งปลูกสร้างที่เกี่ยวข้องกับเรือดำน้ำ เช่น ท่าจอดเรือดำน้ำ โรงซ่อมเรือดำน้ำ คลังเก็บขีปนาวุธเรือดำน้ำ และการซื้อเรือสนับสนุนเรือดำน้ำ ใช้งบประมาณเกือบ 1 หมื่นล้านบาท หลายโครงการอนุมัติเป็นกฎหมายไปเรียบร้อยแล้ว เมื่อเกิดกรณีไม่ให้ซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2-3 ทางกองทัพเรือก็จะอ้างว่ามีความจำเป็นต้องซื้อเรือดำน้ำเพิ่ม เพื่อดำเนินการให้ครบ และเกิดความคุ้มค่า

“หากพูดในมุมของคนที่อยากได้เรือดำน้ำ ชุดความคิดที่จะซื้อต่อก็จะโต้เถียงยาก แต่เรายืนยันว่าสามารถชะลอการซื้อลำที่ 2-3 ออกไปได้แน่นอน เพราะความเสี่ยงภัย และภัยคุกคามของประเทศขณะนี้ ไม่มีความเร่งด่วนที่ต้องมีเรือดำน้ำ ความเสี่ยงภัยขณะนี้ คือ ด้านสาธารณสุขและด้านเศรษฐกิจ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของประชาชนมากกว่า ฉะนั้น งบประมาณที่จะผูกพันไปอีก 6-7 ปีข้างหน้า จากการซื้อเรือดำน้ำนั้นคือ 2.2 หมื่นล้านบาท ที่ต้องทยอยจ่าย จึงยังไม่ควรต้องเริ่มการผูกมัดในปีงบประมาณนี้” นายพิจารณ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image