เลขาฯสมช. ย้ำ เคอร์ฟิว ห้ามออกจากบ้าน ช่วงล็อกดาวน์ รพ.สัตว์เปิดให้บริการได้เหมือนสถานพยาบาล

เลขาฯสมช. ย้ำ เคอร์ฟิว ห้ามออกจากบ้าน ช่วงล็อกดาวน์ รพ.สัตว์เปิดให้บริการได้เหมือนสถานพยาบาล

เมื่อเวลา 16.30 น. วันที่ 19 กรกฎาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 (ผอ.ศปก.ศบค.)ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการทำงานของสื่อมวลชนในช่วงล็อกดาวน์สามารถทำงานได้ตามปกติหรือไม่ และในส่วนของกลุ่มอาสาสมัครที่ช่วยเหลือประชาชนช่วงโควิด-19 เช่น การหาเตียงผู้ป่วย และการแจกจ่ายอาหาร จะสามารถเดินทางออกนอกบ้านได้หรือไม่ ว่า กลุ่มของสื่อมวลชน ก็ถือว่ามีความจำเป็น สามารถไปทำงานนอกสถานที่ได้ แต่อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นตัวอย่างแก่ประชาชนทั่วไปก็ขอให้สื่อมวลชนได้ยึดมาตรการป้องกันโรค D-M-H-T-T เพื่อลดการแพร่เชื้อ ส่วนอาสาสมัครต่างๆ ถือว่าเป็นการทำงานบริการด้านสาธารณสุขซึ่งได้รับการยกเว้นตามข้อกำหนดแล้วสามารถทำงานได้
เมื่อถามว่า กรณีประชาชนที่อยู่ต่างจังหวัดที่จะเดินทางเข้ามาฉีดวัคซีนในกรุงเทพมหานคร ซึ่งขณะนี้ได้ห้ามการโดยสารทางเครื่องบินแล้ว ยังสามารถเดินทางโดยการขับรถได้หรือไม่ พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า สำหรับประเด็นนี้แบ่งได้เป็นหลายกรณีคือ ตามปกติการฉีดวัคซีนจะฉีดในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง เว้นแต่ได้รับนัดให้มาฉีดในกรุงเทพฯ ถ้ามีใบนัดหรือมีหลักฐานแสดงการนัด ก็ขอให้แสดงหลักฐานกับเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นข้อยกเว้นตามข้อกำหนด แต่ในกรณีการเดินทางนั้น ทางศบค. มีความห่วงใยไม่อยากให้พี่น้องประชาชนที่มาจากในพื้นที่ความเข้มต่ำกว่าเดินทางมายังพื้นที่ที่มีความเข้มสูงกว่า เช่น จากพื้นที่สีแดง หรือพื้นที่สีส้ม เดินทางมาในพื้นที่สีแดงเข้ม เพราะจะทำให้เกิดความเสี่ยงในการติดเชื้อ

พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ส่วนหลักฐานในการเดินทางนั้นก็แบ่งได้เป็น 2 กรณีคือหากมีหลักฐานเป็นเอกสารก็สามารถนำมายื่นแสดงได้ และกรณีหากไม่มีเอกสารแสดง แต่มีความจำเป็นต้องเดินทาง สามารถเข้าไปในเว็บไซต์’หยุดเชื้อเพื่อชาติ’ เพื่อกรอกแบบฟอร์ม จากนั้นจะได้รับคิวอาร์โค้ด เมื่อไปถึงด่านตรวจก็ให้แสดงคิวอาร์โค้ดกับเจ้าหน้าที่ของด่าน โดยเจ้าหน้าที่ก็จะมีแอพพลิเคชั่นที่สามารถอ่านคิวอาร์โค้ดนี้ได้ ก็จะทำให้ทราบรายละเอียดและสามารถเดินทางได้เพียง แต่อาจจะต้องตอบข้อมูลและข้อซักถามจากเจ้าหน้าที่ด่านเพิ่มเติมอาจจะไม่สะดวกแต่ก็ต้องให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของด่าน ที่ทำหน้าที่คัดกรอง จำกัดและหลีกเลี่ยงการเดินทางข้ามพื้นที่จังหวัด

เมื่อถามว่า มาตรการที่ออกเพิ่มเติมจากมาตรการเคอร์ฟิว ที่ไม่ให้ออกมาในช่วงเวลากลางวัน ถือเป็นการขอความร่วมมือหรือคำสั่งห้าม พล.อ. ณัฐพล กล่าวว่า “ขอบคุณสำหรับคำถามนี้ เพราะเป็นคำถามที่จะมีลักษณะ ของการบังคับใช้สองห้วง คือ ห้วงเคอร์ฟิวเราจะใช้คำว่าห้ามเลย แต่ในช่วงของนอกเคอร์ฟิวยังมีความจำเป็นต้องเน้นในบางกิจการและบางกิจกรรม เพราะฉะนั้นในช่วงนี้ขอใช้คำว่าให้ไปก่อน คือให้งด ให้หลีกเลี่ยง เพราะเมื่อถึงมาตรการที่เข้มข้นต่อไปอาจจะจำเป็นต้องใช้คำว่าห้ามเมื่อถึงคำว่าห้ามแล้วคงมีกิจการกิจกรรมที่ได้รับการยกเว้นน้อยกว่านี้มาก”

Advertisement
พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 (ผอ.ศปก.ศบค.)

เมื่อถามว่า การเปิดสถานพยาบาลได้ตามข้อกำหนดนั้น รวมถึงโรงพยาบาลสัตว์ด้วยหรือไม่ พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า รวมโรงพยาบาลสัตว์ด้วย เพราะเป็นกิจการด้านบริการสาธารณสุขและแง่มนุษยธรรม โดยปัจจุบันพี่น้องประชาชนส่วนใหญ่มีสัตว์เลี้ยงที่อยู่ในความดูแลและมีความผูกพัน ดังนั้นหากสัตว์ไม่สบายก็มีความจำเป็นต้องรับการรักษาพยาบาล

เมื่อถามว่ามาตราการที่ให้มีผล 20 กรกฎาคม นี้ สรุปแล้วพื้นที่สีแดงอะไรเปิดได้ ไม่ได้อย่างไรบ้าง พนักงานส่งอาหารยังทำงานได้อยู่หรือไม่ และการขอให้ทำงานนอกสถานที่ในส่วนของเอกชนแค่ขอความร่วมมือใช่หรือไม่ พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า เป็นการขอความร่วมมือซึ่งโฆษก ศบค.ได้ชี้แจงไปแล้ว

เมื่อถามว่า ศบค.เตรียมแผนรองรับไว้แล้วใช่หรือไม่หากตัวเลขผู้ติดเชื้อยังไม่ลด โมเดลอู่ฮั่นปิดเมืองคุมเชื้อมีการประเมินไว้หรือไม่ ตัวเลขต้องขนาดไหนถึงจะใช้โมเดลนี้ พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการเตรียมการไว้ในทุกสถานการณ์เราคิดสถานการณ์ขั้นต่อไปไว้ตลอดว่าสถานการดีขึ้นหรือไม่ดีไปกว่านี้จะทำอย่างไร สำหรับโมเดลอู่ฮั่นเป็นข้อพิจารณาของกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 18 ก.ค.อธิบดีกรมควบคุมโรคได้พูดถึงโมเดลนี้ ดังนั้นเมื่อถึงเวลาต้องฟังกระทรวงสาธารณสุขว่าจะประเมินสถานการณ์อย่างไร ซึ่งศบค.มีความพร้อมในทุกกรณี

เมื่อถามว่าเรามีแนวโน้มล็อกดาวน์ห้ามออกจากบ้านหรือไม่ แล้วต้องมีตัวเลขติดเชื้อขนาดไหนถึงจะใช้มาตรการนั้น เลขาสมช.กล่าวว่า สำหรับการล็อกดาวน์เต็มรูปแบบนั้นตัวเลขเราไม่ได้มองตัวเลขใดตัวเลขหนึ่ง เรามองหลายปัจจัย ทั้งตัวเลขผู้ติดเชื้อ ตัวเลขสถานพยาบาลที่มีอยู่ และปัจจัยอื่นในแง่เศรษฐกิจด้วยเรามองทุกมิติไม่ได้มองด้านใดด้านหนึ่งด้านเดียว

เมื่อถามว่าศบค.ประเมินว่าสถานการณ์ขณะนี้ยังเอาอยู่หรือไม่ พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ศบค.ระบุมาหลายครั้งแล้วว่า ความสำเร็จในการควบคุมโรคจะประกอบด้วย 3 ส่วนแรก คือ หน่วยงานภาครัฐต้องมีความเข้มข้นจริงจังในการควบคุมโรค ภาคเอกชนให้การสนับสนุนตามมาตรการที่ศบค.กำหนด และประชาชนให้ความร่วมมือกับมาตรการทั้งของภาครัฐและเอกชนกำหนดเพิ่มเติม และส่วนที่ 4 ที่จะช่วยขับเคลื่อนมาตรการให้มีประสิทธิภาพได้คือ สื่อมวลชนทำความเข้าใจกับประชาชนจะทำให้มาตรการมีประสิทธิผล

หาก 4 ส่วนนี้ให้ความร่วมมือกันอย่างจริงจังศบค.คาดว่าสถานการณ์น่าจะเอาอยู่ แต่ลำพังศบค.อย่างเดียว ต่อให้มีมาตรการเข้มงวดอย่างไรแต่ที่เหลือไม่ให้ความร่วมมือก็คิดว่าไม่น่าจะเอาอยู่ เมื่อถามว่ามีการตั้งคำถามว่าจะมีการปรับปรุงโครงสร้างของศบค.แล้วนำผู้เชี่ยวชาญด้านอื่นมาร่วมอีกหรือไม่ พล.อ.ณัฐพล ตอบว่า ปัจจุบันโครงสร้างศบค.ทำงานได้อย่างดี บางครั้งการให้ข้อมูลอาจแตกต่างกันบ้างแต่หลังจากนั้นก็มีการพูดคุยกัน ยืนยันทีมเดิมโครงสร้างเดิมยังมีประสิทธิภาพอยู่ ส่วนจะมีผู้เชี่ยวชาญมาเพิ่มเติมหรือไม่อยู่ที่ผู้บังคับบัญชาแต่ส่วนตัวคิดว่าโครงสร้างปัญจุบันมีความพร้อมสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อถามถึงการจัดหาวัคซีน ศบค.จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้อย่าโดยเฉพาะวัคซีนที่รองรับสายพันเดลต้า พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า การจัดหาวัคซีนจะเริ่มจากคณะกรรมการวัคซีนที่กระทรวงสธารณะสุขพิจารณา เสนอคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ก่อนเสนอนายกฯผ่านศบค.เพื่อพิจารณาเห็นชอบห่วงเวลาที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขก็ทำงานกันเต็มที่ ขอให้เข้าใจกระทรวงสาธารณสุข แต่ปัญหาที่ตนเห็นมี 2 อย่างคือบริบทของแต่ละวัคซีนแตกต่างกันไป วันหนึ่งวัคซีนชนิดหนึ่งมีความเหมาะสมแต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปไวรัสมีการกลายพันธุ์ วัคซีนไม่เหมาะกับสถานการณ์นั้นก็ต้องปรับรูปแบบกันไป ประการที่สองคือ ปริมาณวัคซีนในตลาดมีจำกัดไม่สามารถเลือกได้ว่าจะซื้อยี่ห้อนี้ในเวลานี้หรือเวลาไหน กลไกเป็นของผู้ขาย ผู้ซื้อมีความจำเป็นต้องเลือกซื้อและจัดหาตามปริมาณที่มีในตลาดหรือในส่วนที่ผู้ผลิตกำหนด รวมถึงเวลาจัดส่งก็เป็นไปตามที่ผู้ผลิตกำหนดเราไม่สามารถไปบังคับหรือกำหนดได้เองว่าเดือนนี้เราต้องการ 30 ล้านโดสก็ต้องได้ 30 ล้านโดส ไม่ได้เป็นเช่นนั้นแต่ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณะสุขทำงานอย่างเต็มที่

พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 (ผอ.ศปก.ศบค.)

เมื่อถามถึง มีการพิจารณาการกำจัดการส่งออกต่างประเทศของ วัคซีนแอสตร้าเซเนก้าหรือไม่ พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า เมื่อเช้าวันเดียวกันนี้ นายกฯ เชิญ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และตนเอง และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือ ในการปรับแผนและรองรับการเปลี่ยนแปลงต่างๆไม่ว่าจะฉีดเข็มที่ 3 ให้บุคลากรทางการแพทย์ รองรับปริมาณวัคซีนที่ไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ และ เรื่องนี้กำลังหารือกันอยู่ โดยนายอนุทิน จะนำกลับไปพิจารณา และ นำกลับมาเสนอเรียนนายกฯ อีกครั้ง

เมื่อถามว่า ศบค. มีแนวทางแก้ไขให้ผู้ป่วยที่รอเตียงนานๆ อย่างไรบ้าง พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า นายกฯ ได้ห่วงใย และ สอบถาม กระทรวงสาธารณสุข กทม. และ ตน เรามีวิธีแก้ปัญหาอย่างไร ชั้นต้นจะตรวจหาคัดกรองให้เป็นระบบ จากนั้นระบบแรกจะแยกกักตัวที่บ้าน และ นายกฯ ให้ทำระบบนี้ให้สมบูรณ์โดยเร็ว แต่ในช่วงที่ระบบแยกกักตัวที่บ้านไม่ยังไม่สมบูรณ์ ให้จัดตั้งศูนย์พักคอย รอการส่งต่อ โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ มี 50 เขต ตอนนี้มี 20 เขต แต่อย่างน้อยต้องมีเขตละ 1 แห่ง ให้ผู้ติดเชื้อไปติดต่อที่ศูนย์พักคอย และไม่ต้องรออยู่ที่บ้าน เพื่อให้รอการส่งต่อไปโรงพยาบาลสนาม ไอซียูสนาม หรือ โรงพยาบาลหลัก คาดว่าทุกส่วนเร่งรัดสถานการณ์การขาดแคลนเตียงดีขึ้น แต่ก็ไม่ใช่ดีได้ในทันที

พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ส่วนการติดต่อ ยากนั้นหาก ในอนาคตหากมีศูนย์พักคอยอยู่ที่เขต ต่างๆท่านก็สามารถติดต่อที่เขต ไม่จำเป็นต้องโทรมาที่ 1330, 1668, 1669 โดยพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. รับปากอย่างช้าภายในสิ้นเดือนนี้แต่ละเขตจะมีศูนย์พักคอยอย่างน้อย 1แห่ง

ส่วนเรื่องเบอร์โทรดังกล่าว ที่ภาครัฐจัดเรื่องการหาเตียงมีหลายเบอร์ อนาคตจะมีแนวทางลดเหลือเพียงเบอร์เดียวและบูรณาการหน่วยงานต่างร่วมกัน เพื่อป้องกันความสับสนของประชาชนได้หรือไม่ พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ต้องขอความเห็นใจ ที่มีแต่ละเบอร์นั้นเป็นของคนละหน่วยงานกัน โดย 3 หน่วยงานมาร่วมมือกันและ พยายามขยายคู่สาย แต่ก็ยังไม่เพียงพอต้องขออภัยพี่น้องประชาชน แต่เราแก้ปัญหาเราจะขยายไปที่เขต 50 เขต ในระดับจังหวัดจะลงไปเพิ่มคู่สายในระดับอำเภอ คาดว่าปัญหาดังกล่าวจะคลี่คลายขึ้น

พล.อ.ณัฐพล กล่าวในตอนท้าย ว่า ศบค. การใช้มาตรการที่เข้มข้น ทำให้ประชาชนเดือดร้อน และขอให้ทุกคนร่วมมือให้ 14 วัน ปฏิบัติเพื่อให้ มาตรการต่างๆ ประสบความสำเร็จ หลังจากนั้นเมื่อสถานการณ์คลี่คลายขึ้น จะได้ผ่อนคลายเพื่อลดความเดือดร้อนของประชาชน โดยเราติดตามสถานการณ์ทุกวัน และ จะประเมินทุก 7 วัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image