“ครม.” เห็นชอบร่างถ้อยแถลงร่วมการประชุมรัฐมนตรีลุ่มน้ำโขง–คงคา

“ครม.” เห็นชอบร่างถ้อยแถลงร่วมการประชุมรัฐมนตรีลุ่มน้ำโขง–คงคา ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างอินเดีย-อนุภูมิภาค

เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบร่างถ้อยแถลงร่วมการประชุมรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง–คงคา (Mekong – Ganga Cooperation – MGC) ครั้งที่ 11 ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ ซึ่งกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง – คงคานี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและสร้างความเชื่อมโยงระหว่างอินเดียกับอนุภูมิภาค ประกอบด้วย 6 ประเทศสมาชิก ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา ไทย เวียดนาม และอินเดีย

สำหรับสาระสำคัญของร่างถ้อยแถลงร่วมฯ ที่จะรับรองในวันที่ 21 กรกฎาคม 2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล มี 6 ประเด็นหลัก ดังนี้ 1.หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา เน้นย้ำถึงความสำคัญของการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนในสาขาความร่วมมือใหม่ เช่น การบริหารจัดการลุ่มน้ำข้ามพรมแดน 2.การค้าและการลงทุน 1)ขอให้ประเทศสมาชิกทำงานร่วมกันเพื่อรักษาความต่อเนื่องของการค้าและการลงทุน และให้ศึกษาหาวิธีส่งเสริมการดำเนินธุรกิจผ่านวิธีการใหม่ๆ เช่น การจัดการประชุมทางไกลระหว่างภาคธุรกิจ เป็นต้น 2)รับทราบข้อริเริ่มของอินเดียในการจัดตั้งนิติบุคคลเฉพาะกิจในประเทศสมาชิก เพื่อดึงดูดการลงทุนจากภาคเอกชนอินเดีย

น.ส.รัชดา กล่าวอีกว่า 3.ความเชื่อมโยง 1)ควรมุ่งใช้โอกาสที่เกิดจากการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัล โดยเร่งส่งเสริมโครงการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และเร่งแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลระหว่างประเทศสมาชิก 2)สนับสนุนโครงการความร่วมมือด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืนและยืดหยุ่น โดยมุ่งหวังให้โครงการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคม อินเดีย – เมียนมา – ไทย (โครงการถนนสามฝ่าย) สำเร็จโดยเร็ว และให้เร่งสรุปการเจรจาความตกลงยานยนต์ระหว่าง 3 ประเทศดังกล่าวด้วย 4.การศึกษา การพัฒนาทักษะและการเสริมสร้าง ขีดความสามารถ 1)ไทยจัดทำโครงการเพิ่มพูนขีดความสามารถ ผ่านการให้ทุนฝึกอบรมระยะสั้นและทุนการศึกษาภายใต้หลักสูตรนานาชาติระดับปริญญาโท 2)ตกลงที่จะสนับสนุนเว็บไซต์ของกรอบความร่วมมือฯ ในอนาคต

น.ส.รัชดา กล่าวอีกว่า 5.สาธารณสุข 1)ตกลงที่จะจัดสัมมนาทางไกลเพื่อเร่งรัดกระบวนการฟื้นฟูทางสังคมและเศรษฐกิจหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด19 และส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความคิดในการปรับปรุงระบบสาธารณสุขและส่งเสริมความมั่นคงด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะการวิจัยและพัฒนาด้านการแพทย์ ยา และวัคซีน 2)ไทยมีข้อริเริ่มของในการดำเนินโครงการ “การแบ่งปันประสบการณ์และการถ่ายทอดความรู้ผ่านระบบเครือข่ายการแพทย์ข้ามพรมแดน” ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความรู้และขีดความสามารถให้กับบุคลากรด้านสาธารณสุข และ 6.การท่องเที่ยวและความร่วมมือด้านวัฒนธรรม 1)พัฒนาความเชื่อมโยงระเบียงประวัติศาสตร์เพื่อส่งเสริมเมืองหลวงโบราณ และแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม 2)เร่งรัดการจัดตั้งศูนย์ทรัพยากรจดหมายเหตุร่วมที่มหาวิทยาลัยนาลันทา ซึ่งมุ่งศึกษาวิจัยความเชื่อมโยงทางประวัติศาสตร์ อารยธรรมของอินเดีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image