40 ซีอีโอ จับมือช่วยรัฐบาลฝ่าวิกฤตโควิด ให้กำลังใจ ‘นายกฯ’ ทำงานเพื่อประเทศชาติต่อไป

40 CEOs พร้อมจับมือรัฐบาล สร้าง “โอกาสประเทศไทย” ร่วมฝ่าวิกฤตโควิด-19 ไปด้วยกัน “เผย”คนกรุงฯอายุระหว่าง 18-59 ปี ที่จองผ่านโครงการไทยร่วมใจอีก 2,111,292 คน ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน

เมื่อเวลา 14.20 น.วันที่ 21 ก.ค.ที่ห้อง PMOC ชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมเป็นประธานการประชุมหารือร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและ 40 ซีอีโอ เพื่อหารือแนวทางความร่วมมือระหว่างภาครัฐ-เอกชน ในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) ผ่านระบบ Video Conference

นายกรัฐมนตรี ขอบคุณเอกชนที่ร่วมหารือเพื่อช่วยกันบรรเทาสถานการณ์โควิด-19 วันนี้ โดยยืนยันว่า ที่ผ่านมารัฐบาลและเอกชนได้พูดคุยกันต่อเนื่อง รัฐบาลไม่นิ่งนอนใจกับการแพร่ระบาดโควิดที่รุนแรงมากขึ้นนี้ ยังเดินหน้าแก้ไขอย่างรอบด้าน ทั้งการเร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชาชนจนถึง 20 กรกฎาคม ที่ผ่านมา มีการฉีดวัคซีนแล้วกว่า 14 ล้านโดส กำหนดมาตรการช่วยเหลือ เยียวยา ทั้งสนับสนุนการเข้าถึงสินเชื้อดอกเบี้ยต่ำแก่ผู้ประกอบการ มาตรการกระตุ้นการบริโภคภาคประชาชน ผ่านโครงการต่างๆ อาทิ โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 มียอดการใช้จ่ายแล้วกว่า 3.3 หมื่นล้านบาท โครงการ Phuket Sandbox และโครงการ Samui Model Plus เพื่อช่วยอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและธุรกิจที่อยู่ในห่วงโซ่การท่องเที่ยว ที่ผ่านมาสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและภาคเอกชนได้ให้ข้อเสนอแนะนำที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานของรัฐบาลมาตลอด ข้อเสนอแนะที่ทำได้ รัฐบาลดำเนินการทันที ในส่วนที่เป็นอุปสรรครัฐบาลก็พยายามเร่งแก้ไขให้ ทั้งนี้ ทุกมาตรการต้องเป็นตามกฎหมายและหลักการงบประมาณ เพราะเงินที่รัฐบาลที่นำมาใช้จ่ายมาจากภาษีของประชาชน

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายในระดับสูง ต้องลดความขัดแย้ง ช่วยกันสร้างการรับรู้ เน้นประชาสัมพันธ์เชิงรุก เพราะทั้งรัฐบาลและภาคเอกชนมีเป้าหมายเดียวกันคือ การช่วยกันหาทางออกให้ประเทศผ่านพ้นวิกฤตไปด้วยกัน

Advertisement

ทั้งนี้ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยกล่าวในนาม 40 ซีอีโอพลัส ขอบคุณนายกรัฐมนตรีและคณะที่ได้จัดสรรเวลาเชิญ 40 ซีอีโอพลัสหารือร่วมกันหาในวันนี้ ซึ่งสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและภาคเอกชนได้เตรียมข้อสนอต่อรัฐบาลไว้ 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1. การควบคุมการแพร่ระบาด ซึ่งศูนย์ฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาลทั้ง 25 ศูนย์ของภาคเอกชนที่ร่วมกับกทม. สามารถแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาล โดยมีศักยภาพสามารถให้บริการฉีดวัคซีนได้ถึงวันละ 80,000 คนต่อวัน ซึ่งเอกชนพร้อมสนับสนุนภาครัฐในการจัดอุปกรณ์การแพทย์ ทั้ง Rapid Tests ยารักษา เตียงผู้ป่วยหนักและ ICU รวมทั้งมาตรการ Isolation โดยเทคโนโลยีดิจิทัล และจัด Platform ต่างๆ ซึ่งTeleMed ช่วยสร้างความเชื่อมั่น ลดจำนวนผู้ป่วยได้ 2. การเยียวยาผู้ประกอบการและประชาชน เสนอให้มีการขยายมาตรการช่วยเหลือทั้งกิจการที่ต้องหยุดประกอบตามคำสั่งของราชการ รวมทั้งธุรกิจในห่วงโซ่ต่างๆ รวมทั้งการแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน 3.การกระตุ้นเศรษฐกิจ แผนระยะสั้น-ระยะกลาง กระตุ้นการใช้จ่ายในกลุ่มผู้มีรายได้และกำลังซื้อสูง กระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน ให้เกิดการจ้างงาน รวมทั้งการเตรียมความพร้อมของประเทศในการเข้าสู่ New Economy 4. การฟื้นฟูประเทศไทย เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส ตั้งคณะกรรมการร่วมรัฐเอกชน ขับเคลื่อนกิจกรรมที่มี Impact สูงและประชาชนไทยได้ประโยชน์ ได้แก่ เกษตรสมัยใหม่ ท่องเที่ยวคุณภาพ สร้างขีดความสามารถทางเศรษฐกิจด้วย Digital Transformation โดยข้อเสนอทั้ง 4 แนวทางดังกล่าวเป็นการฟื้นฟูประเทศ เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส ขณะเดียวกันประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ยังได้แสดงความเข้าใจดีว่า รัฐบาลมีความยากลำบากในการทำงาน ภายใต้สถานการณ์โรคระบาดและเศรษฐกิจที่ผันผวนและไม่มีความแน่นอนสูง ภาคเอกชนให้กำลังใจนายกรัฐมนตรีและพร้อมให้การสนับสนุนการทำงานของรัฐบาลด้วยความจริงจัง

นายกรัฐมนตรี กล่าวขอบคุณและสิ่งที่ได้รับฟังข้อมูลในวันนี้ สอดคล้องกับนโยบายและแนวคิดของรัฐบาล ซึ่งทุกข้อเสนอแนะเป็นประโยชน์ต่อการทำงาน ซึ่งทั้งการช่วยเหลือ การให้สิทธิประโยชน์ รวมทั้งมาตราเยียวยาต้องอยู่ในกรอบกฎหมาย ยืนยันว่า นายกรัฐมนตี คณะรัฐมนตรี และศบค. ไม่เคยหยุดคิด หยุดทำงาน นายกรัฐมนตรีรับรายงานทุกวัน เพื่อสั่งการทั้งการรักษา การเยียวยา รวมทั้งการเตรียมมาตรการเรื่องงบประมาณ เพื่อดูแลคน 70 ล้านคน แต่ทุกมาตรการของรัฐต้องอยู่ในกรอบกฎหมาย และได้ย้ำมาตลอดว่า ไทยต้องปรับรูปแบบการบริหารจัดการใหม่ รัฐบาลทำหน้าที่กำหนดนโยบายสร้างโอกาสให้เอกชนเป็นผู้ขับเคลื่อน ที่สำคัญทุกฝ่ายต้องร่วมมือการสื่อสารสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน ลดความขัดแย้ง ขอยืนยันการเดินหน้าเปิดประเทศ 120 วัน ซึ่งเริ่มแล้วที่ภูเก็ตและสมุย และจะขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ ต่อไป ซึ่งรัฐบาลและเอกชนต่างก็มีความมุ่งมั่นตั้งใจเดินหน้าประเทศ เพื่อความสุขของคนไทยทุกคน พร้อมรับข้อเสนอ ข้อห่วงใยทุกประเด็น ซึ่งจะได้นำไปหารือกับคณะรัฐมนตรีและ ศบค. ต่อไป

ก่อนจบการประชุม ภาคเอกชน ประธานหอการค้า ขอบคุณการหารือวันนี้ โดยท่านนายกรัฐมนตรีได้ให้เวลา และรับฟังด้วยความตั้งใจ เพื่อร่วมกันทำงาน สร้างความเชื่อ สร้างสรรค์ ผลักดัน เป้าหมายฟื้นฟู เพื่อบรรลุเป้าหมาย และสุดท้าย ซีอีโอ 40 กว่าบริษัทยังได้กล่าวให้กำลังใจท่านนายกรัฐมนตรี และขอให้ท่านนายกรัฐมนตรีทำหน้าที่ด้วยความเข้มแข็งเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติต่อไป

Advertisement

ทั้งนี้ รายงานข่าวแจ้งว่าในที่ประชุม ได้มีการทบทวนและสรุปแผนร่วมมือในการฉีดวัคซีนทั่วกรุงเทพมหานคร ระหว่าง กทม.และภาคเอกชนผ่านโครงการไทยร่วมใจ ซึ่งมีการกำหนดจุดฉีดวัคศีนไว้ทั้งสิ้น 25 จุด แบ่งเป็นกรุงเทพกลาง ได้แก่ 1. มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย 2. เดอะ สตรีท รัชดา 3. ไทยพีบีเอส (Thai PBS) กรุงเทพเหนือ ได้แก่ 4. SCG บางซื่อ 5. เซ็นทรัลลาดพร้าว 6. SCB สำนักงานใหญ่ 7. มหาวิทยาลัยศรีปทุม 8. เซ็นทรัลเฟสติวัล อีสต์วิลล์ กรุงธนเหนือได้แก่ 9. เซ็นทรัลปิ่นเกล้า 10. ไอคอนสยาม กรุงธนใต้ ได้แก่ 11. PTT Station พระราม2 12. เดอะมอลล์ บางแค 13. บิ๊กชี บางบอน

กรุงเทพใต้ ได้แก่ 14. สามย่านมิตรทาวน์
15. ธัญญาพาร์ค 16. True Digital Park
17. เอเชียทีค 18. เซ็นทรัลเวิลด์ 19. สยามพารากอน 20. โลตัส พระราม 4
21. เอ็มโพเรียม และกรุงเทพตะวันออกได้แก่ 22. เตอะมอลล์ บางกะปิ 23. โรบินสัน ลาดกระบัง 24. โลตัส มีนบุรี
25. บิ๊กซี ร่มเกล้า โดยมีเป้าหมาย 1000- 5000 คนต่อวันต่อ.รวม 25 จุด 80,000 คนต่อวัน

สำหรับจำนวนการจองวัคซีนสะสมผ่านโครงการไทยร่วมใจ 2,387,099 คน
จัดฉีดได้ทั้งสิ้น 275,807 คน = 12% ของยอดจอง ผู้มีอายุ 60+ ใน กทม. ได้รับการฉีดวัคซีแล้วทั้งสิ้น 763,670 คน
(ผ่านโครงการไทยร่วมใจ 30,958 คน) = 56% ของยอดเป้าหมาย รวมทั้งสิ้น 1,373,250 คน

สำหรับประชาชนอายุระหว่าง 18-59 ปี ที่จองผ่านโครงการไทยร่วมใจอีก 2,111,292 คน ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ทั้งนี้ จำนวนผู้ได้รับวัคซีนในพื้นที่กรุงเทพมหานครรวมแล้วทั้งสิ้น 4,805,241 คน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image