ชำแหละ’จุดอ่อน’รธน. รุก’กรธ.’ทบทวน-ปรับแก้

หมายเหตุ – ความเห็นของฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อประเด็นการเรียกร้องแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ภายหลังนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) รับปากพร้อมทบทวนเพิ่มเติมเนื้อหาที่ถูกท้วงติง เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์

ชาติชาย ณ เชียงใหม่
โฆษก กรธ.

สําหรับกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ ในตอนนี้ยังอยู่ในช่วงรับฟังความคิดเห็นจากหลายๆ ภาคส่วนที่เสนอมา ผมยังไม่สามารถจะตอบได้ว่าจะปรับแก้หรือเพิ่มเติมอะไรได้ คงต้องรอก่อน แต่ขอยืนยันว่าทาง กรธ.รับฟังทุกความคิดเห็น ไม่ว่าจะเรื่องสิทธิชุมชน ไม่ว่าจะเรื่องระบบการเลือกตั้ง ที่มา ส.ส. ที่มา ส.ว. จะใช้วิธีคิดอย่างไรไม่ให้เกิดการฮั้วกัน อีกทั้งเรื่องการศึกษา สาธารณสุข และอะไรต่างๆ จะต้องเขียนให้ชัดเจนกว่านี้หรือไม่ ตอนนี้ยังไม่ได้ตัดสินใจอย่างไร เพียงแต่ยังอยู่ในช่วงรับฟังความคิดเห็นของแต่ละกลุ่มว่ามีความคิดเห็นอย่างไรต่อร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้นทาง กรธ.จะเก็บรวบรวมประเด็นไว้ และจะมีการแถลงเป็นประเด็นๆ ไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มนักวิชาการท้วงติงถึงศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งทาง กรธ.ก็ได้รับฟังแล้วว่า สิ่งที่คุณแนะนำมาและท้วงติงอย่างนี้ ทางเราก็รับพิจารณาแล้วก็พร้อมจะแก้ไขเป็นอย่างนี้ นี่คือหลักการที่จะชี้แจงแถลงเป็นวันๆ ไป ว่าวันใดจะชี้แจงประเด็นของใคร

ทำนองเดียวกัน ที่กลุ่มนักการเมืองเสนอความคิดเห็นประเด็นต่างๆ ของร่างรัฐธรรมนูญทั้งเรื่อง ส.ส. ส.ว. และที่มาของนายกรัฐมนตรีนั้น ทาง กรธ.ก็รับฟังความคิดเห็นอยู่ อีกทั้งทางเจ้าหน้าที่ของเราก็จะไปรวบรวมความคิดเห็นของนักการเมืองที่ลงเป็นข่าวแล้วรับฟังข้อมูลไว้ เพื่อรอการชี้แจงอีกที

ผมยืนยันว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเป็นประโยชน์กับประเทศได้อย่างมหาศาล ที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำของประชาชน อีกทั้งยังมีการกำหนดกรอบยุทธศาสตร์ชาติในอนาคตว่าจะเดินไปทางไหน ทั้งยังมีระบบป้องกันการทุจริตและกลไกที่ทำให้มีคนเก่งคนดีเข้าสู่ระบบการเมือง รวมทั้งประเด็นสิทธิเสรีภาพต่างๆ มีบางฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ว่าทาง กรธ.ได้ตัดประเด็นเหล่านี้ไป ผมขอยืนยันว่าเราให้สิทธิเสรีภาพเยอะ แถมไม่น้อยลงไปกว่าเดิมด้วย

Advertisement
ชาติชาย ณ เชียงใหม่-อุดม รัฐอมฤต
ชาติชาย ณ เชียงใหม่-อุดม รัฐอมฤต

อุดม รัฐอมฤต
โฆษก กรธ.

คาดว่าภายหลังวันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ กรธ.จะเริ่มมีการปรับปรุงเนื้อหาในร่างแรกนั้น คงจะมีการทบทวนเนื้อในหมวดสิทธิเสรีภาพและมาตราที่เกี่ยวข้องเยอะที่สุด เนื่องจากประชาชน กลุ่มเอ็นจีโอ และภาคประชาสังคมค่อนข้างเป็นห่วง และมีเสียงสะท้อนกลับมาในประเด็นมาก ทั้งนี้ กรธ.พร้อมจะนำเอาเนื้อหาจากรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ที่ถูกเปรียบเทียบในประเด็นเรื่องสิทธิและเสรีภาพมาประกอบการพิจารณาด้วย โดยยืนยันว่า กรธ.ก็เป็นประชาชนทั่วไป ไม่ใช่ขุนนางที่จะมาเขียนรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชน

ส่วนประเด็นทางการเมือง ที่ทั้งฝ่ายการเมืองและสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กังวลเรื่องการเลือกตั้งแบบบัตรใบเดียว และการเลือกไขว้ ส.ว.จาก 20 กลุ่มอาชีพ จะทำให้มีปัญหาการทุจริตมากขึ้น กรธ.ก็รับฟังอยู่ตลอด แต่ขณะเดียวกันต้องชั่งน้ำหนักจากเสียงของประชาชนประกอบการพิจารณาด้วย เพราะหากฝ่ายการเมืองไม่เอา แต่ประชาชนไม่มีปัญหาอะไร ก็ไม่ถือว่าเป็นปัญหาเท่าไร ทั้งนี้ เสียงสะท้อนทั้งหมดเราจะรับฟังและพิจารณา หากตรงไหนไม่มีการปรับแก้ เราก็จะให้เหตุผลประกอบด้วย

เดชรัต สุขกำเนิด
หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์

ส่วนตัวมองว่าถ้าจะแก้ไขหรือเพิ่มเติมจะเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย เพราะมีปัญหาในหลายจุด ดังนั้นจึงอยากยึดและนำรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 เป็นตัวตั้งไว้ก่อน จากนั้นจึงค่อยเพิ่มสิ่งต่างๆ ที่ทาง กรธ.อยากจะเพิ่มเข้าไป อาทิ เรื่องปราบโกง หรือมาพูดคุยกันเพื่อหาว่าอะไรที่ดีกว่าแล้วเพิ่มเข้าไปในรัฐธรรมนูญ 2550 เป็นทางออกที่ดีกว่า เพราะจากการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเห็นว่ายากต่อการปรับแก้หรือเสนอเพิ่มเติม และเป็นการยากที่ผู้คนในสังคมจะยอมรับ เพราะมีข้อสงสัยในหลากหลายจุด โดยเฉพาะในเรื่องสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

Advertisement

เบื้องต้นจึงอยากให้นำรัฐธรรมนูญปี 2550 เป็นตัวตั้ง และให้ กรธ.มาพูดคุยกันทีละข้อว่า ตรงไหนเป็นสิ่งที่ดีกว่า เช่น หากพิจารณาว่าการลงโทษทุจริตเข้มข้นขึ้นเป็นสิ่งที่ดีก็เพิ่มเข้าไป แต่ในส่วนอื่นๆ ที่ไม่ควรเปลี่ยน ไม่ควรที่จะไปแตะต้อง เช่น เรื่องสิทธิชุมชน ที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดได้ย้ายไปอยู่ในหมวดหน้าที่ของรัฐ ซึ่งคิดว่าเป็นความเข้าใจต่อประเด็นนี้ที่ไม่ตรงกัน เพราะสิทธินั้นถือว่าเป็นเรื่องส่วนบุคคล ส่วนรัฐมีหน้าที่ที่จะต้องทำตามสิทธิเสรีภาพของประชาชนอยู่แล้ว แต่พอไปใส่ไว้ในหน้าที่ของรัฐ ปรากฏว่าสิทธิเสรีภาพของบุคคลจึงหายไป

นอกจากนั้น กรณีนี้ยังมีความตั้งใจที่ทำให้เนื้อความข้างในหายไปอีก เช่น เรื่องการศึกษา เดิมทีจัดให้เรียนฟรี 12 ปี แต่พอในร่างรัฐธรรมนูญใหม่กลับเหลือเพียง 9 ปีเท่านั้น ตรงนี้ต้องถามกลับไปว่าจะเปลี่ยนแปลงทำไม ทั้งหมดนี้จึงเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดมันซ่อมได้ยาก จึงอยากจะให้ กรธ.ใช้วิธีเสนอประเด็นที่ตนเองคิดว่าดี แล้วจึงเสนอเข้ามาในรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 จะดีกว่า อีกทั้งการเสนอเข้ามาไม่จำเป็นจะต้องเสนอเข้ามาในร่างรัฐธรรมนูญเลยทีเดียว เราสามารถนำรัฐธรรมนูญปี 2550 กลับมาใช้เลยก็ได้ และเดินเข้าสู่การเลือกตั้ง แล้วก็มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือมีสภาผู้แทนฯ เลยก็ย่อมได้ จากนั้นก็ให้เอาสิ่งที่คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญเสนอว่าควรปรับแก้ไปพิจารณาในรัฐสภาชุดใหม่

เดชรัต สุขกำเนิด-พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ
เดชรัต สุขกำเนิด-พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ

พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ
ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า

ส่วนตัวคิดว่าต้องแบ่งออกเป็นหลายประเด็น ประการแรกคือเรื่องระบบเลือกตั้ง ที่ดูแล้วจะต้องมีการออกแบบให้รัดกุม รอบคอบมากกว่านี้ เพราะล่าสุดหากคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. สั่งให้หน่วยการเลือกตั้งหน่วยใดหน่วยหนึ่งเป็นโมฆะ ก็เท่ากับว่าต้องเลือกตั้งใหม่ จะทำให้เกิดสถานการณ์ฟันหลอคือไม่สามารถนับคะแนนต่อได้ เพราะว่าคะแนนที่จะนับจะเริ่มตั้งแต่เขตและไปจบที่บัญชีรายชื่อ แต่หากเกิดสถานการณ์ฟันหลอขึ้นก็จะไม่มีฐานคะแนนไปนับได้ ซึ่งตรงนี้ทาง กรธ.ได้มอบให้ทาง กกต.ไปออกแบบในส่วนนี้ ส่วนตัวจึงขอฝาก กกต.ให้ช่วยพิจารณาประเด็นนี้ด้วย

ประการที่สอง ที่มีความตั้งใจจะเพิ่มอำนาจให้แก่ศาลรัฐธรรมนูญ เชื่อว่าเป็นความตั้งใจที่จะทำให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจมาก แต่ส่วนตัวพะวงในสองเรื่อง คือเรื่องที่มาของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระทั้งหมด เพราะหากเราจะให้อำนาจมากขนาดนั้น แต่ที่มากลับไม่สามารถเที่ยงตรง และไม่สามารถสร้างความยอมรับได้ ก็จะทำให้เกิดปัญหาเนื่องจากเราให้อำนาจมากแล้ว นอกจากนี้ยังมีเรื่องระบบการตรวจสอบประเมินผลว่าจะมีผลตอบรับจากการทำงานได้อย่างไร ที่จะคุมเรื่องจริยธรรมขององค์กรต่างๆ ทั้งหมด ซึ่งก็ได้มีระบุไว้ว่าเป็นอำนาจของศาลฎีกา แต่ศาลฎีกาเองก็เป็นส่วนหนึ่งของศาลรัฐธรรมนูญด้วย ตรงนี้ก็อยากขอฝากให้พิจารณาด้วยเช่นกันว่าจะทำอย่างไร

ประการที่สามคือเรื่องที่มา ส.ว. ก็มีคนพูดถึงมากแล้ว ส่วนตัวก็เป็นห่วงแม้ว่าจะเป็นการเลือกไขว้ แต่เราก็รู้ได้ว่าสามารถล็อบบี้กันอยู่แล้ว เนื่องจากประสบการณ์ที่เคยเจอในสภาที่ปรึกษาฯนั้นเห็นได้อย่างชัดเจน ตอนนั้นมีการให้แสดงวิสัยทัศน์ มีคนหนึ่งเขียนว่าปฏิบัติตามสภาที่ปรึกษาฯ อีกคนเขียนมาหลายหน้ากระดาษ แต่ปรากฏว่าทั้งหมดเกือบ 70 เปอร์เซ็นต์กลับเลือกคนที่บอกว่าปฏิบัติตามสภาที่ปรึกษาฯ จึงทำให้เห็นว่าสถานการณ์แบบนี้สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้นหากจะนำระบบนี้มาใช้จะต้องมีการออกแบบให้ดีและรัดกุม

สุดท้าย หากอยากให้ประชามติผ่านจะต้องเดินหน้าหนักมาก เพราะว่าประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้น ดังนั้นเมื่อไม่มีส่วนร่วม การจะทำให้ประชาชนเข้าใจนั้นเป็นเรื่องที่ยากและไม่อยากเข้าใจ เนื่องจากพวกเขาไม่ได้มีส่วนร่วม นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น จะไปต่อว่าประชาชนที่เห็นต่างไม่ได้ ควรจะต้องรับฟังเอาไว้และนำมาพิจารณา แต่ถ้าไปต่อว่าไปดูถูกซ้ำสอง ทั้งดูถูกโดยไม่ให้พวกเขามาเข้าร่วมตั้งแต่แรก ยังไปดูถูกเมื่อพวกเขามาแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง จะยิ่งทำให้สถานการณ์ยุ่งยากเข้าไปใหญ่ ดังนั้นการจะทำประชามติควรจะต้องเปิดกว้าง มีสมาธิและสติ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image