ครป.จี้เลิกตามเช็กบิลคนบันเทิงวิพากษ์รัฐบาล ชี้คุกคามสิทธิ ขัดกติการะหว่างประเทศ

ครป.จี้เลิกตามเช็กบิลคนบันเทิงวิพากษ์รัฐบาล ชี้คุกคามสิทธิ ขัดกติการะหว่างประเทศ

เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) เผยแพร่แถลงการณ์ฉบับที่ 5/2564 เรื่อง แรงงานในอุตสาหกรรมบันเทิงต้องมีเสรีภาพในการมีส่วนร่วมทางการเมือง

ความดังนี้

สืบเนื่องจากการบริหารราชการแผ่นดินที่ล้มเหลวทั้งด้านเศรษฐกิจและสถานการณ์โควิดระบาด จนเกิดวิกฤตศรัทธาของประชาชนต่อความล้มเหลวโดยสิ้นเชิงของรัฐบาล นำไปสู่การแสดงออกของประชาชนหลากหลายสาขาอาชีพเพื่อต่อต้านรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อย่างกว้างขวาง รวมถึงประชาชนในแวดวงบันเทิง ไม่ว่าจะเป็น ศิลปิน ดารา นักร้อง นักแสดง นายแบบ นางแบบ พิธีกร พรีเซนเตอร์ แบรนด์แอมบาสเดอร์ หรือพริตตี้ ที่ได้ออกมาแสดงจุดยืนไม่ยอมรับผลงานของรัฐบาลในเวลานี้จำนวนมาก จนกระทั่งมีการแสดงท่าทีข่มขู่คุกคามเสรีภาพของประชาชนในแวดวงบันเทิงผ่านกลไกการคุกคามทางกฎหมาย โดยบุคคลในรัฐบาล รวมถึงความเห็นของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

Advertisement

โดยเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2564 นายอภิวัฒน์ ขันทอง กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบและดำเนินคดีแก่ผู้เผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จ ดูหมิ่น และหมิ่นประมาทการปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี (คตส.) ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 32/2563 ได้ดำเนินการแจ้งความฟ้องร้องเพื่อดำเนินคดีต่อนางสาวดนุภา คณาธีรกุล หรือ Milli ศิลปินเพลงชื่อดังวัย 18 ปี ในข้อหาดูหมิ่นโดยการโฆษณา จากการที่นางสาวดนุภาได้โพสต์ข้อความลงในสื่อสังคมออนไลน์โดยมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล รวมถึงได้ประกาศว่าจะมีการฟ้องร้องบุคคลในวงการคนอื่นๆ ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเพิ่มเติมอีกด้วย โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา นายสนธิญา สวัสดี ประธาน คตส. ได้ยื่นหนังสือถึงผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เพื่อให้ตั้งคณะกรรมการติดตาม ตรวจสอบ บุคคลในวงการบันเทิงอีก20 กว่าราย ที่ได้มีการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) เห็นว่า การกระทำดังกล่าว เป็นการคุกคามเสรีภาพทางการเมืองและสิทธิพลเมืองของประชาชนซึ่งสามารถแสดงความเห็นทางการเมืองอย่างเสรี หรือการชุมนุมทางการเมืองได้ตามกฎหมายและตามสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ การคุกคามดังกล่าวนอกจากขัดกับสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานแล้ว ยังขัดต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR.) อันเป็นกฎหมายระหว่างประเทศที่ราชอาณาจักรไทยเป็นภาคีอยู่ ครป. จึงมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลดังนี้

1) รัฐบาลไทยจะต้องไม่ปฏิเสธความรับผิดชอบต่อการคุกคามเสรีภาพของบุคคลในวงการบันเทิง ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินการโดยผู้ใดก็ตาม โดยให้มีการออกนโยบายที่ชัดเจนในการกำกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมทั้งหมดไม่ให้กลายเป็นเครื่องมือในการใช้คุกคามผู้เห็นต่างทางการเมือง เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทั้งบุคคลในวงการบันเทิงและบุคคลทุกภาคส่วนในสังคม เนื่องจากการใช้กระบวนการทางกฎหมายปิดปากประชาชนที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลนั้น เป็นภารกิจที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ เป็นภาระให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสมควรเอาเวลาอันมีค่าไปช่วยหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนการจัดการที่บกพร่องของรัฐบาลมากกว่า

Advertisement

2) รัฐบาลไทยต้องยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบและดำเนินคดีแก่ผู้เผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จ ดูหมิ่น และหมิ่นประมาทการปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี (คตส.) โดยทันที เพราะสิ้นเปลืองงบประมาณ และละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยการคุกคามโดยใช้มาตรการทางกฎหมาย (Judicial Harassment and SLAPP) อย่างเป็นระบบเพื่อฟ้องร้องปิดปากประชาชนที่เห็นต่าง

3) รัฐบาลไทยต้องร่วมมือกับภาคธุรกิจอุตสาหกรรมบันเทิง ในการปกป้องคุ้มครองและรับรองสิทธิแรงงานของบุคคลในวงการบันเทิง เพื่อไม่ให้มีการไล่ศิลปินออกจากต้นสังกัด หรือยกเลิกสัญญาจ้าง ปฏิเสธการว่าจ้างงาน หรือเอาเรื่องการจ้างงานมาเป็นข้อข่มขู่ต่อรองต่อบุคคลในวงการบันเทิงที่ออกมา Call out หรือแสดงความเห็นทางการเมืองในการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานที่ล้มเหลวของรัฐบาล

เชื่อมั่นในเสรีภาพและประชาธิปไตย
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย(ครป.)
23 กรกฎาคม 2564

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image