‘กม.7ชั่วโคตร’ ชาร์จแบต-ซองครุฑ ก็ไม่ได้-ปราบโกงยิบ

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดประเด็นมาตรการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น เป็นที่ฮือฮายิ่งนัก ระบุว่า มีการเตรียมเข็นกฎหมายฉบับใหม่ออกมาบังคับใช้

เนื้อหาไม่เคยปรากฏในฉบับใดมาก่อน

รองนายกฯเรียกกฎหมายฉบับใหม่นี้ว่า กฎหมาย 7 ชั่วโคตร น่ากลัวกว่าทุกฉบับที่ผ่านมา เป็นกฎหมายว่าด้วยการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวกับส่วนรวม มีข้อห้ามยิบ ตัวทำ เมียทำ ลูกทำ พี่ทำ น้องทำ พ่อทำ แม่ทำไม่ได้เด็ดขาด ใครจะรับอะไรต้องระมัดระวัง แค่เอาโทรศัพท์ส่วนตัวมาชาร์จไฟหลวงก็ผิด เอาซองตราครุฑไปใส่เงินให้งานแต่งก็ผิด

ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา!

Advertisement

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบที่มาที่ไปของร่างกฎหมายฉบับนี้

เป็นเรื่องที่นำเสนอร่างโดยคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)

ชื่อว่าร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดระหว่างประโยชน์ส่วนตัวกับประโยชน์ส่วนรวม พ.ศ. …

Advertisement

เรื่องนี้ผ่านการพิจารณาของ ครม.ในเบื้องต้น ขณะนี้อยู่ระหว่างคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาปรับแก้ไขถ้อยคำตามกระบวนการ คาดว่าจะส่งร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ฯ ให้ ครม.พิจารณาอีกครั้งในเดือนตุลาคมนี้ เพื่อส่งต่อให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาในขั้นต่อไป

สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ฯ มีหลายเรื่องที่แปลกใหม่

เริ่มต้นกันที่การห้ามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และเจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจหน้าที่เอื้อประโยชน์ให้เครือญาติ มาใช้แทนร่างกฎหมายฉบับเดิม ที่ศาลรัฐธรรมนูญตีตกไปในปี 2551 เพราะองค์ประชุมในการพิจารณากฎหมายฉบับดังกล่าวขณะนั้น ไม่ครบองค์ประชุม

เนื้อหาตามกฎหมายเดิมกำหนดให้คำว่า เครือญาติครอบคลุมถึง พ่อ แม่ บุตร ลูกเขย ลูกสะใภ้ ลุง ป้า น้า อา พ่อตา แม่ยาย ลูก หลาน เหลน หรือ 7 ชั่วโคตร

แต่ร่างกฎหมายที่เสนอล่าสุด จะครอบคลุมเฉพาะ 3 ชั่วโคตร ได้แก่ พ่อ แม่ ลูก และคู่สมรสของลูก เนื่องจากมีเสียงท้วงติงว่า การบังคับใช้ถึง 7 ชั่วโคตร มีความเข้มงวด ยุ่งยาก เกินความจำเป็น

ขณะที่บทลงโทษหากมีผู้กระทำความผิด จะถูกส่งให้ ป.ป.ช.ไต่สวน กำหนดบทลงโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 100 ของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542

ในส่วนเนื้อหาที่ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่ามีความเข้มงวดเป็นพิเศษ

ถ้าเอาตามกฎหมายแค่เอาโทรศัพท์ส่วนตัวมาชาร์จไฟหลวงก็จะผิด เอาซองตราครุฑใส่เงินไปให้งานแต่งงานก็ผิด ย้ำตั้งแต่เอารถหลวงมาใช้ยันซองกระดาษหลวงนั้น

ข้าราชการที่ได้รับผลกระทบโดยตรงต่อร่างกฎหมายฉบับนี้ จะมีความเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไร

ลองมาฟังเสียงสะท้อนดูบ้าง เริ่มต้นที่ ธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กฎหมายในการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นในประเทศไทยมีจำนวนมากแล้วในขณะนี้ รวมทั้งในหน่วยงานภายในกระทรวงเกษตรฯ มีการดำเนินสั่งการแก้ไขปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบอยู่ อาทิ การสอบสวนและโยกย้ายข้าราชการที่พัวพันการทุจริตไปดำรงตำแหน่งอื่น หรือแม้แต่การสั่งการตั้งแต่นโยบายของรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง และผู้บริหารระดับสูง ถึงแนวทางการป้องกันการทุจริต แต่ก็ยังยอมรับว่ามีช่องว่างบางส่วนที่ทำให้เกิดการทุจริตอยู่ การออกกฎหมาย 7 ชั่วโคตร เชื่อว่าจะเป็นสิ่งที่ดี ทำให้ข้าราชการเกิดความเกรงกลัวกับบทลงโทษต่างๆ ที่เพิ่มสูงขึ้น จะมีส่วนสำคัญในการลดการทุจริตในหมู่วงข้าราชการได้

แต่ปลัดกระทรวงเกษตรฯตั้งข้อสังเกตว่า ในการร่างกฎหมาย จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเขียนให้ชัดว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ เพราะการนำทรัพย์สินของราชการมาใช้กับส่วนตัวยังมีเส้นบางๆ ในการตีความอยู่ อาทิ การใช้ไฟฟ้าในการชาร์จโทรศัพท์มือถือ ส่วนใหญ่ก็เอามาใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ทั้งสิ้น หากจะใช้โทรศัพท์ของหน่วยงานราชการอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ และไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ร่างกฎหมายจึงควรพิจารณาในส่วนนี้ด้วย ปัจจุบันข้าราชการส่วนใหญ่ก็นำทรัพย์สินส่วนตัวมาใช้ในการปฏิบัติหน้าที่อยู่แล้ว หากข้าราชการไม่สามารถนำทรัพย์สินส่วนตัวมาใช้ได้ อาจก่อให้เกิดความล่าช้าในการปฏิบัติหน้าที่เพิ่มเติมได้

ขณะที่ข้าราชการระดับสูงกระทรวงพาณิชย์คนหนึ่ง ขอเอามือปิดป้ายชื่อตัวเองแล้วให้ความเห็นว่า เรื่องโกงหรือไม่โกง ใช้พัสดุของสำนักงานเพื่อประโยชน์ส่วนตนนั้น จุดเริ่มต้นที่ดีคือการปลูกฝังจิตสำนึกของคนให้ใช้พัสดุของสำนักงานไปทางที่ชอบและไม่เห็นแก่ตัว ต่อไปในอนาคตหากให้กฎหมายออกมาเข้มงวดแค่ไหน หากปลูกฝังจิตสำนึกได้ดี กฎหมายก็เป็นเรื่องไม่น่ากลัว

“แต่หากมีการระบุรายละเอียดกฎหมายถึงขั้นชาร์จแบตเตอรี่โทรศัพท์ส่วนตัวในสำนักงาน ใช้ซองขาวตราครุฑไปในงานส่วนตัว แล้วมีความผิดนั้น เป็นการกำหนดรายละเอียดที่ยิบย่อยเกินไป หากข้าราชการกระทำตามข้อห้ามที่ยิบย่อยนั้นก็อาจจะมีการตักเตือนแต่คิดว่าคงไม่ถึงขั้นลงโทษรุนแรง ขณะเดียวกัน การใช้โทรศัพท์ส่วนตัวในสำนักงานบางครั้งก็เป็นไปเพื่อประโยชน์ขององค์กร การจะห้ามชาร์จแบตเตอรี่ในสำนักงานก็เป็นเรื่องน่าคิด” ข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ให้ความเห็น

ข้าราชการกระทรวงอุตสาหกรรมอีกรายหนึ่ง บอกทำนองเดียวกันว่า “กฎหมายนี้ทำให้ตีความได้ว่าไม่สามารถทำเรื่องเล็กๆ น้อยๆ หยุมหยิมได้ แม้แต่การชาร์จแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือได้ ถือเป็นกฎหมายที่สุดโต่งแบบซ้ายเกินไป ขวาเกินไป หากเป็นไปได้ ก็อยากให้มีการพิจารณาอีกครั้ง อยากให้รอบคอบและเหมาะสม เพราะนี่คือประเทศไทย ไม่ใช่ประเทศเกาหลีเหนือที่มีกฎระเบียบเข้มงวดมากขนาดนี้”

เป็นอีกมุมมองความเห็นที่มีต่อร่างกฎหมายปราบโกง 7 ชั่วโคตร ฉบับห้ามยิบ ที่รัฐบาลมั่นใจ จะนำมาใช้ปราบโกงในแวดวงข้าราชการได้ชะงัด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image