‘จิรัฏฐ์’ แฉ ชั้นอนุ กมธ.พิจารณางบฯ65 ของบกันปกติ ทั้งที่บ้านเมืองวิกฤต ชี้ภารกิจซ้ำซ้อน-ต้องใช้ของดีที่สุด

‘จิรัฏฐ์’ เผยชั้นอนุ กมธ.พิจารณางบฯ65 เจอการของบปกติ ทั้งที่สถานการณ์บ้านเมืองอยู่ในสภาวะวิกฤต

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 25 กรกฎาคม ที่ที่ทำการพรรคก้าวไกล นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกล ในฐานะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) ครุภัณฑ์ฯ แถลงปัญหาที่พบในชั้นอนุ กมธ.ฯ ว่า เหตุที่พบเจอรวมถึงปัญหาความปกติของการพิจารณางบประมาณและการจัดทำงบประมาณแบบปกติ ทั้งที่สถานการณ์บ้านเมืองอยู่ในสภาวะวิกฤต งานราชการยังจัดทำงบประมาณแบบเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น 1.ขั้นตอนการทำงานของหน่วยงานราชการที่มีภารกิจซ้ำซ้อนกัน แต่ยังของบประมาณในการจัดทำ เช่น การทำบิ๊กดาต้าที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมมีอยู่แล้ว แต่หน่วยงานไม่ยอมเอาข้อมูลไปรวมกัน และยังคงจะทำดาต้าของตัวเอง บางหน่วยงานสมควรที่จะเปิดเผยข้อมูลด้วยซ้ำ

นายจิรัฏฐ์กล่าวว่า 2.การที่หน่วยงานราชการต้องใช้ของที่ดีที่สุดเท่านั้น รถก็ต้องเป็นเบนซ์ ถ้าเครื่องมือก็ต้องแพงและดีที่สุดในโลก ทั้งที่ภารกิจไม่จำเป็นต้องใช้ถึงขนาดนั้น อย่างกองทัพบกขอซื้อคอมพิวเตอร์ 850 เครื่อง ซึ่งการขอซื้อแบบนี้เหมือนขอซื้อแบบไม่เคยมีใช้มาก่อน และต้องเอาที่ดีที่สุด 3.โอนงบประมาณไปใช้ผิดหลักการ ซึ่งเป็นปัญหาที่จะต้องแก้ในเรื่องของกฎหมาย อย่างการที่อนุ กมธ.อนุมัติให้ซื้อยุทโธปกรณ์แต่โอนไปจ่ายค่าสาธารณูปโภค หรือกรมฝนหลวงที่โอนค่าเช่าเครื่องเดินอากาศ หรือจัดซื้อเครื่องเดินอากาศที่ขอมาทุกปี แต่เมื่อได้รับอนุมัติกลับโอนจ่ายเป็นค่ารับรองการประชุมเป็นค่าสาธารณูปโภคเป็นค่าตกแต่งอาคารสถานที่ ซึ่งสำนักงบประมาณอนุญาต หากเป็นหน่วยงานอื่นอาจจะไม่อนุญาตให้ง่ายแบบนี้

นายจิรัฏฐ์กล่าวอีกว่า 4.พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ทุกหน่วยงานอ้าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เพื่อระบบความปลอดภัย บางหน่วยงานใช้เงินถึง 50 ล้านบาท บางหน่วยงานใช้เงินถึง 200-300 ล้านในการสร้างไฟร์วอลล์ (Firewall) เพื่อป้องกันไม่ให้ข้อมูลถูกโจรกรรม ปัญหาคือบางหน่วยงานไม่จำเป็นต้องป้องกันขนาดนั้น เช่น ข้อมูลของเกษตรกร ข้อมูลของโรคระบาด เป็นการทำระบบความปลอดภัยที่เกินความจำเป็น และในขณะนี้มีการขอทำเซิร์ฟเวอร์สำรอง ทั้งที่ในสถานการณ์อย่างนี้ควรจะเลื่อนออกไปก่อน 5.ปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างที่ราคาแพงกว่าท้องตลาดมาก ใบเสนอราคาที่เสนอมาไม่โปร่งใส บางใบไม่มีลายเซ็นหรือตัวหนังสือเขียนซ้ำเหมือนคัดลอกมาจากที่เดียวกัน แต่อนุ กมธ.ปล่อยผ่านไปง่ายๆ

Advertisement

นายจิรัฏฐ์กล่าวว่า 6.เอกสารที่ออกมาชี้แจงในชั้นอนุ กมธ.ที่จะต้องส่งมาล่วงหน้าก่อนเข้าชั้นอนุ กมธ. เพราะในชั้นนั้นมีเวลาพิจารณาน้อยมาก แต่มีเอกสารที่ยกเข้ามาในห้อง 5-600 หน้า ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะสามารถตรวจสอบให้ได้อย่างถี่ถ้วน แล้วเวลาขอเอกสารให้ส่งมาล่วงหน้าหน่วยงานจะไม่ยอมส่งมาเพราะกลัวว่าจะเอาไปเปิดเผย ทั้งที่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เปิดเผยได้อยู่แล้วไม่ได้ผิดอะไร

“สำนักงบประมาณควรจะดูแลเอกสารและรายละเอียดต่างๆ ให้ดีก่อนเข้าชั้นอนุ กมธ. เพราะไม่ใช่เรื่องที่ อนุกมธ.จะต้องมานั่งเช็กราคาทีละตัวว่าอันไหนแพง ถูก หรือราคาเกินจริงกว่าท้องตลาด มันควรจะจบที่สำนักงบประมาณ แล้วคณะอนุ กมธ.เป็นคนพิจารณาว่าคุ้มค่าหรือไม่ ไม่อย่างนั้นจะเป็นเรื่องเสียเวลาที่จะต้องมาคอยตรวจสอบว่าแพงหรือถูกเกินไป” นายจิรัฏฐ์กล่าว

Advertisement

นายจิรัฏฐ์กล่าวว่า หน่วยงานที่มีภารกิจซ้ำซ้อนจะต้องยุบรวมกัน หรือยุบออกไปเลย อย่างหน่วยงานกรมหม่อนไหม ซึ่งภารกิจควรจะอยู่ภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไม่จำเป็นต้องยกระดับขึ้นมาถึงระดับกรม หรือศูนย์คุณธรรมที่มีภารกิจรายงานสถานการณ์คุณธรรมประจำปี ซึ่งของบมาเยอะ โดยอ้างว่าการจะเปลี่ยนให้คุณธรรมเป็นตัวเลขและนำมาวิจัยมันยาก ซึ่งในความเห็นของตนมองว่าไม่สามารถเปลี่ยนเป็นตัวเลขได้อยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องทำให้เปลืองงบประมาณ อีกหน่วยงานหนึ่งที่มีภารกิจเฝ้าระวังโควิด จัดการปัญหายาเสพติด จัดการเรื่องแรงงานข้ามชาติ จัดการราคาพืชผลเกษตรที่ตกต่ำ เป็นต้น

นายจิรัฏฐ์กล่าวว่า กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ทำทุกภารกิจซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่น แต่ยังของบที่จะทำบิ๊กดาต้าที่จะยิ่งซ้ำซ้อน ฉะนั้น หน่วยงานนี้ไม่ควรสังกัดอยู่ในสำนักนายกรัฐมนตรีด้วย แต่ กอ.รมน.ยังมีอิสระในการจัดสรรงบประมาณที่มากกว่าหน่วยงานอื่นๆ ทั้งที่ภารกิจซ้ำซ้อน ไม่มีความจำเป็น อีกประเด็นที่สำคัญคือ ยุทธศาสตร์ชาติทำให้งบประมาณสูงขึ้นกว่าปกติ ยุทธศาสตร์ที่ระบุให้แต่ละหน่วยงานทำ อย่างเรื่องยาเสพติดที่ทุกหน่วยงานจะต้องมีการจัดการยาเสพติด ซึ่งซับซ้อนกันไปหมด

“หน่วยงานราชการที่มีรายได้นอกงบประมาณจะไม่ยอมเอาเงินคงคลังไปใช้ และมาขอจัดสรรงบประมาณในสภา ทั้งที่สามารถลดภาระการเงินการคลังของประเทศได้ ตั้งแต่ประชุมมามีเพียงกรมที่ดินหน่วยงานเดียวที่เอาเงินคงเหลือไปใช้ให้เกิดประโยชน์และลดภาระการเงินการคลังของประเทศ ไม่ต้องมาขอหมายในสภา  หน่วยงานอื่นจะเก็บเอาไว้ไม่ยอมใช้

“อนุ กมธ.เร่งรีบในการผ่านงบประมาณ โดยที่ไม่ได้สนใจประเด็นสำคัญที่ถูกยกขึ้นมาพิจารณา เช่น เรื่องใช้ใบเสนอราคาที่ไม่มีลายเซ็น ยังให้ผ่านโดยไม่ได้นำประเด็นนี้มาพูดคุย หรือถามหน่วยงานนั้นว่าทำไมถึงเป็นอย่างนี้ แต่ถามหน่วยงานว่าต้องการลดเท่าไหร่ถึงจะทำงานได้พอหน่วยงานเสนอมาก็ปรับลดตามที่หน่วยงานต้องการ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้ก็ไม่จำเป็นต้องมีอนุ กมธ. เพราะไม่ได้พิจารณาอะไรเลย กลายเป็นเรายกการพิจารณาไปให้กับหน่วยงานที่มาของบประมาณ

“การที่ส่วนใหญ่เสนอมาในชั้นอนุ กมธ.ที่คุ้มค่า และไม่เกิดประโยชน์หลายโครงการที่ถูกผ่านไป การปรับลดก็ปรับแบบล่ำซำหรือให้หน่วยงานเลือกที่จะตัดเอง งบประมาณปีนี้ไม่ได้จัดทำงบประมาณให้เหมาะสมกับสถานการณ์โรคระบาด แต่เป็นการจัดงบประมาณแบบปกติ ปัญหาที่พบคิดว่าเกิดจากความบกพร่องของกลไกการตรวจสอบถ่วงดุลที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้” นายจิรัฏฐ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image