จังหวัดพร้อมรับกลับบ้าน รักษาโควิดที่ภูมิลำเนา

หมายเหตุมาตรการรับคนกลับบ้านเพื่อไปรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ภูมิลำเนาของรัฐบาล ทำให้จังหวัดต่างๆ ต้องเตรียมรับมือรองรับผู้ติดเชื้อจำนวนมากเดินทางกลับมา

ไกรสร กองฉลาด
ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม

การแพร่ระบาดโรคโควิดในพื้นที่จังหวัดนครพนม ล่าสุด 25 ก.ค.64 มียอดผู้ป่วยเพิ่ม 122 ราย ส่วนใหญ่เป็นแรงงานกลับมาจากพื้นที่เสี่ยง รวมยอดสะสมล่าสุด 1,466 ราย กำลังรักษา 935 ราย เสียชีวิตสะสม รวม 7 ราย การรักษาได้กระจายดูแลในพื้นที่โรงพยาบาลทั้ง 12 อำเภอ มั่นใจสามารถรับมือไหว แม้จะทยอยกลับมารักษาในพื้นที่ จ.นครพนม อย่างต่อเนื่อง เราไม่สามารถปฏิเสธรับการรักษาได้ เพราะทุกคนเมื่อไม่มีที่รักษา ต้องคิดถึงบ้านเกิด ดังนั้นจังหวัดนครพนมได้เตรียมพร้อมทุกฝ่ายช่วยกันดูแลช่วยเหลือ สนับสนุนสร้างโรงพยาบาลสนามทุกอำเภอทั้ง 12 อำเภอ รวมถึงจุดกักตัวรอการรักษา และจุดกักตัวหลังการรักษา มอบหมายให้ทุกชุมชนต้องมีจุดรองรับการกักตัวทุกชุมชนหมู่บ้าน ลดความแออัด คาดว่ารองรับได้ไม่ต่ำกว่า 1,000-2,000 ราย ส่วนการรักษาทางแพทย์พยาบาล เรามีศักยภาพดูแลรักษา ทำให้มียอด
ผู้ป่วยลดลงทุกวัน สามารถรองรับผู้ป่วยเดินทางกลับมาได้อีก

Advertisement

เชื่อมั่นว่าสถานการณ์จะดีขึ้น เพราะส่วนใหญ่ผู้ป่วยเป็นกลุ่มเสี่ยงมาจากต่างจังหวัดทั้งหมด ในพื้นที่ไม่พบการระบาด สำคัญที่สุดได้เพิ่มมาตรการเข้มตรวจสอบคัดกรอง ประสานทุกพื้นที่ต้องดูแลคัดกรองบุคคลจากพื้นที่เสี่ยงให้มารายงานกักตัว เข้าระบบการรักษาตามมาตรการทุกราย เพื่อไม่ให้แพร่ระบาดเพิ่มในพื้นที่ เชื่อว่าจะลดการระบาด สามารถรองรับการรักษาได้เพียงพอ

ขอความร่วมมือประชาชนทุกฝ่ายให้ปฏิบัติตามมาตรการ

ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร
ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง

สถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่ลำปาง ขณะนี้ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด และขอความร่วมมือประชาชนชาวลำปางทุกคน ให้ช่วยกันสอดส่องดูแลคนที่กลับมาจากจังหวัดเสี่ยงพื้นที่ควบคุมสูงสุด และเข้มงวด จะต้องปฏิบัติตามมาตรการจังหวัด

สำหรับคลัสเตอร์ต่างๆ ที่พบในพื้นที่ ขณะนี้จังหวัดเข้าควบคุมได้หมดแล้ว สถานการณ์เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น มีผู้ป่วยลดลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า แม้จะควบคุมสถานการณ์ได้ แต่ยังต้องมีการเตรียมแผนรองรับผู้ป่วยไว้ ล่าสุดทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดมีมติเห็นชอบใช้อาคารภายในมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตลำปาง ปรับเป็นโรงพยาบาลสนาม 200 เตียง หลังจากที่ผ่านมาตั้งโรงพยาบาลสนามไปแล้ว 4 แห่ง รวมกว่า 380 เตียง

ทางจังหวัดยังได้เตรียมโรงพยาบาลสนามไว้ ที่หอประชุมจังหวัดลำปาง ภายในพื้นที่ศาลากลางจังหวัดลำปาง รองรับผู้ป่วยได้ประมาณ 250-400 เตียง รองรับ หากมีผู้ป่วยโครงการระบบรับคนลำปางกลับบ้านเพิ่มสูงขึ้น เรายังรับไหว นอกจากนั้น ทางจังหวัดยังจัดหาสถานที่เพื่อกักกันตัวในพื้นที่ทั้ง 13 อำเภอ เพื่อแยกผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง หรือผู้เดินทางมาจากต่างจังหวัด ผู้รอผลตรวจโควิด และรองรับผู้ป่วยอาจเพิ่มขึ้นอีกจำนวน 678 แห่ง ทั้ง 13 อำเภอของจังหวัดลำปาง สถานที่อยู่ระหว่างการจัดหาและพิจารณาของแต่อำเภอนั้นๆ

ขณะนี้จังหวัดมีแผนรับมือกับกลุ่มผู้ป่วยรายใหม่ในโครงการระบบรับคนลำปางกลับบ้านไว้พร้อม เพื่อรับเข้ามารักษาอย่างเต็มที่ เรามีแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ ไว้พร้อมดูแลรักษาผู้ป่วยชาวลำปางอย่างเต็มกำลัง อนาคตต่อไปเราไม่รู้ว่า สถานการณ์จะเป็นเช่นไร แต่เราก็ต้องพร้อมรับมือไว้ล่วงหน้า เพราะหากไม่เตรียมไว้ เมื่อเกิดภาวะวิกฤต หรือฉุกเฉิน อาจรับมือไม่ทัน แต่ขณะนี้พร้อมแล้ว ฉะนั้นอยากให้ทุกคนช่วยกัน ทั้งในพื้นที่ และในพื้นที่ควบคุมสูงสุด และเข้มงวด

ขณะนี้มีชาวลำปางป่วยอยู่ และอยากกลับบ้าน ทุกคนถือว่าเป็นลูกหลานของชาวลำปาง และเป็นคนลำปางทั้งนั้น

วิเชียร จันทรโณทัย
ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่ จ.ชัยภูมิ มีรายงานผู้ป่วยรายใหม่จากกลุ่มเดินทางกลับบ้านมากลายเป็นคลัสเตอร์ไปร่วมงานศพ งานแต่ง งานบวชต่างๆ อยู่ในหลายพื้นที่ วันนี้ (25 ก.ค.64) ยังเพิ่มขึ้น 4 ราย ในพื้นที่ 4 อำเภอ ที่ อ.เกษตรสมบูรณ์ 1 ราย, แก้งคร้อ 1 ราย, เทพสถิต 1 ราย และ อ.บ้านแท่น 1 ราย ส่วนผู้ป่วยในจังหวัดเริ่มควบคุมอยู่ในวงจำกัดผู้ป่วยลดลงต่อเนื่อง

ส่วนที่ยังมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มสูงมากขึ้น ถือเป็นเรื่องจำเป็น จังหวัดชัยภูมิมีโครงการนำร่องออกมา
เป็นชัยภูมิโมเดลพร้อมรับผู้ป่วยโควิด-19 จากนอกพื้นที่มาจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล ไม่มีเตียงภายในโรงพยาบาลต่างๆ รองรับได้เพียงพอในขณะนี้ ตามโครงการชาวชัยภูมิทุกคนคือพี่น้อง เราไม่ทิ้งกันพร้อมรับชาวชัยภูมิติดโควิด-19 กลับบ้านมารักษาตัวในพื้นที่ ผ่านสายด่วน 09-8135-2870, 09-8135-2907 จ.ชัยภูมิ เพื่อให้ทางจังหวัดจัดรถเดินทางไปรับตัวกลับมารักษาตัวในโรงพยาบาลหลัก และโรงพยาบาลสนามของ จ.ชัยภูมิ ขณะนี้ยังบูรณาการกับทีมบุคลากรทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทุกพื้นที่ทั้ง 16 อำเภอ 124 ตำบล กว่า 1,600 หมู่บ้าน จัดตั้งเตรียมโรงพยาบาลสนามไว้รองรับรวมกว่า 10 จุดหลัก

ปัจจุบันยังรองรับผู้ป่วยในกลุ่มนี้ได้ทั้งหมดไม่น้อยกว่า 1,000 เตียงขึ้นไป เพื่อช่วยรองรับผู้ป่วยจาก
โรงพยาบาลหลักก็สามารถรองรับผู้ป่วยอาการหนัก หรือผู้ป่วยสีแดงได้อีกไม่น้อยกว่า 1,000 เตียง การทำงานประสานกันทั้ง รพ.หลัก และ รพ.สนาม เมื่อ รพ.หลักช่วยรักษาอาการจนผู้ป่วยสีแดงใช้เวลาต่อรายไม่เกิน 14 วัน เมื่อมีอาการดีขึ้นจากสีแดง ป่วยใกล้หายเป็นสีเขียวแล้ว จะส่งต่อมาให้พักฟื้นดูอาการที่ รพ.สนามต่ออีก ไม่เกิน 2-3 วัน สามารถกลับบ้านได้ ส่วนนี้ก็จะทำให้เตียงใน รพ.หลักว่าง และหมุนเวียนรับผู้ป่วยได้เพียงพอได้

ทุกวันนี้ผู้ติดเชื้อในจังหวัดถือว่าเริ่มลดลงต่อเนื่อง แต่คนจะไปตกใจว่าทำไมยอดผู้ป่วยรายใหม่รายวันยังเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องจำนวนมากไม่น้อยกว่าวันละ 100-200 ราย เรื่องนี้สำคัญคือ การรับผู้ป่วยกลับบ้าน และพาเข้าระบบรักษาตัวในพื้นที่ รพ.หลัก และ รพ.สนาม ควบคุมได้โดยตรง เป็นส่วนสำคัญช่วยให้อนาคตการหยุดแพร่ระบาดโควิด-19 ไปต่อคนในพื้นที่ จ.ชัยภูมิ ยิ่งจะช่วยแก้ปัญหาหยุดการแพร่เชื้อลงโดยเร็วได้ทันที ดีกว่าปล่อยกลับมาบ้านกักตัวกันเองบ้าง ไม่กักบ้าง เกิดการแพร่ระบาดกลายเป็นคลัสเตอร์วงกว้างไม่จบสิ้น ยังเป็นปัญหาในหลายจังหวัด และมีอยู่ในกลุ่มคลัสเตอร์เดิมๆ มาก่อนหน้านี้ ขณะนี้ของ จ.ชัยภูมิ ยังหลงเหลืออยู่บางส่วน

จังหวัดชัยภูมิจัดการบริการการเปิด รพ.สนาม รองรับผู้ป่วย ขณะนี้ไม่เกิดปัญหาเตียงเต็ม จะต้องสามารถบริการกลุ่มผู้ป่วย ให้เกิดการหมุนเวียนเข้าออกผ่าน รพ.หลัก และ รพ.สนาม ต่อเนื่อง ปัจจุบันตั้งแต่มีการเปิดโครงการรับผู้ป่วยโควิดกลับบ้านมาตั้งแต่วันที่ 2 ก.ค.64 ที่ผ่านมา รับผู้ป่วยกลับบ้านมาได้ต่อเนื่องกว่า 1,000 คน แล้วหมุนเวียนช่วยรักษาให้หายต่อวัน เฉลี่ยไม่น้อยวันละกว่า 20-40 ราย

ถึงวันนี้มีกลุ่มโครงการรับผู้ป่วยไม่มีเตียงจากต่างจังหวัดกลับบ้านเพิ่มขึ้นเข้าพื้นที่อีกรวม 166 ราย อยู่ใน อ.เกษตรสมบูรณ์ 46 ราย, แก้งคร้อ 15 ราย, คอนสวรรค์ 6 ราย, คอนสาร 2 ราย, จัตุรัส 12 ราย, เทพสถิต 7 ราย, เนินสง่า 1 ราย, บ้านเขว้า 10 ราย, บ้านแท่น 4 ราย, ภูเขียว 13 ราย, เมือง 16 ราย, หนองบัวแดง 2 ราย และ อ.หนองบัวระเหว 14 ราย รวมวันนี้มีผู้ป่วยเพิ่ม 170 ราย สะสมมีผู้ป่วยรวม 2,198 ราย เสียชีวิต 25 ราย

ยังต้องเฝ้าระวังติดตามกลุ่มเสี่ยงผู้ป่วยอีกจำนวนมากในพื้นที่ต่อเนื่อง ต้องใช้มาตรการเข้มงวด และขอความร่วมมือควบคู่ไปอีกทาง ขอให้งดออกจากบ้าน หรือเคหสถานในช่วงตั้งแต่เวลา 23.00 น.-05.00 น.ต่อไปอีกอย่างไม่มีกำหนด จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง

รวมทั้งคนที่มาจากพื้นที่เสี่ยงจะต้องกักตัวตามมาตรการของจังหวัดอย่างน้อย 14 วัน รวมทั้งมาตรการป้องกันเพื่อไม่ให้มีการระบาดในกลุ่มเด็กเยาวชน

กอบชัย บุญอรณะ
ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา

วิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกที่ 3 ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกวัน ส่งผลให้แต่ละวันมีผู้ป่วยต้องรอเข้ารับการรักษาเป็นจำนวนมาก ขณะที่ศักยภาพทรัพยากรด้านสาธารณสุขมีอยู่อย่างจำกัด ส่งผลให้ไม่มีเตียง หรือไม่มีโรงพยาบาลรองรับ ผู้ป่วยโควิด หรือผู้สัมผัสเสี่ยงหลายราย จึงเลือกเดินทางกลับบ้านต่างจังหวัด เพื่อจะไปหาที่รักษาตัว

ที่ผ่านมาจังหวัดนครราชสีมา มีผู้ป่วยจากพื้นที่เสี่ยงสูงติดต่อขอกลับมารักษาในภูมิลำเนาจังหวัด ผ่านสายด่วนศูนย์โควิด-19 โคราช สสจ.อย่างต่อเนื่อง ตัวเลขล่าสุด 25 ก.ค.64 มีผู้ป่วยรายใหม่ติดต่อเข้ามา 84 ราย รวมติดต่อสะสม 1,383 รายแล้ว ส่วนใหญ่มาจากนอกพื้นที่ และจากการขยายผลตรวจเชิงลึก เป็นผู้ป่วยเคสสีเขียว 1,273 ราย, เคสสีเหลือง 94 ราย และเคสสีแดง 16 ราย ผลดำเนินงานสามารถประสานรับผู้ป่วยเข้ารักษา รพ.ในจังหวัดได้ 755 ราย, ประเมินอาการแล้วให้ โฮม ไอโซเลชั่น หรือกักตัวที่บ้าน 241 ราย และช่วยประสานหาเตียงใน รพ.ของจังหวัดต้นทางให้อีก 293 ราย รวมมีผู้ป่วยติดต่อเข้ามา และได้รับการดูแล 1,289 ราย

นอกจากนี้ ยังพบการระบาดภายในพื้นที่เสี่ยง ทำให้เกิดเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ เช่น ในตลาด โรงงาน แคมป์คนงาน เนื่องจากบางคนไม่ปรากฏอาการ แต่มาหากินอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ทำให้คนรอบข้างติดเชื้อไปด้วย เมื่อขยายผล จึงพบติดเชื้อกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน ทำให้การบริหารจัดการเตียงรองรับผู้ป่วยโควิดใน รพ.หลัก ค่อนข้างติดขัดจากเตียงที่มีอยู่ทั้งหมดใน รพ.หลัก และ รพ.สนาม 3,032 เตียง ล่าสุดวันนี้ มีเตียงรองรับเหลือเพียง 487 เตียงเท่านั้น โดยมี รพ.ประจำอำเภอ 12 แห่งที่เตียงเต็มแล้ว ส่วน รพ.ขนาดใหญ่ 6 แห่ง ในเขตอำเภอเมืองนครราชสีมา มี รพ.มหาราชนครราชสีมา และ รพ.ป.แพทย์ เตียงเต็มเช่นกัน

ขณะที่ รพ.สนาม ของจังหวัด 2 แห่ง และ รพ.สนาม ที่ อ.ปากช่อง, อ.สีคิ้ว อ.คง และ อ.แก้งสนามนาง พยายามบริหารจัดการแบ่งเบาภาระเตียง รพ.หลัก นำผู้ป่วยเคสสีเขียวที่มีอาการไม่หนักมาก เข้ามารับการรักษาใน รพ.สนาม และบางส่วนระบายไปเข้าพักรักษาใน รพ.สนามชุมชน จังหวัดพยายามบริหารจัดการอย่างเต็มที่ เพื่อให้สามารถรองรับผู้ป่วยให้ได้ ส่วนใหญ่รับเข้ามาจะเป็นผู้ป่วยเคสสีเขียว จากนั้นจะพิจารณาเป็นรายๆ ไปว่า รายใดสามารถจะส่งต่อไปยังศูนย์กักตัวผู้ป่วยสีเขียว หรือ Community Isolation หรือ CI ได้ ก็จะส่งตัวไป สั่งการให้แต่ละอำเภอเตรียมสถานที่จัดตั้งศูนย์กักตัวฯแล้ว การบริหารจัดการเตียงใน รพ.สนาม จะได้คล่องตัวมากขึ้น

ขณะเดียวกัน จำเป็นต้องสร้าง รพ.สนาม และศูนย์กักตัวผู้ป่วยสีเขียว CI เพิ่มขึ้น เพื่อทยอยระบายผู้ป่วยเคสสีเหลืองอาการดีขึ้นเป็นสีเขียวแล้ว ลงมาพักรักษาตัวที่ รพ.สนาม หรือศูนย์ CI ก่อนปล่อยตัวกลับบ้าน แต่การสร้าง รพ.สนาม หรือศูนย์ CI ย่อมมีค่าใช้จ่าย จังหวัดจึงอาศัยงบประมาณของท้องถิ่น เงินบริจาค รวมถึงงบฉุกเฉินของป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เข้ามาช่วยจัดสร้าง แต่หากสถานการณ์การแพร่ระบาดยังยืดยาวออกไปอีก ก็มีโอกาสที่งบช่วยเหลือของท้องถิ่นอาจหมดลงได้ เป็นเรื่องน่ากังวลใจอยู่เหมือนกัน เพราะตอนนี้ได้ให้นโยบายไปว่า 1 ท้องถิ่น ต้องมีศูนย์กักตัวผู้ป่วยสีเขียว CI อย่างน้อย 1 ศูนย์ เพื่อลดภาระเตียงผู้ป่วยโควิดให้ รพ.หลัก หรือ รพ.สนาม ภาพรวมของจังหวัดยังสามารถรองรับผู้ป่วยกลับภูมิลำเนาได้อยู่

แต่ต้องขอความร่วมมือประชาชนทุกคนจะต้องปฏิบัติตามมาตรการอย่างเข้มข้น ส่วนคนที่เดินทางมาจาก 13 จังหวัดเสี่ยงสูงเข้ามาในพื้นที่จังหวัด จะต้องกักตัวก่อนเข้าบ้าน หรือก่อนเข้าที่พักเป็นเวลา 14 วัน เพื่อดูอาการ ถ้าคนไหนผลเป็นบวกติดเชื้อ จะได้รับตัวเข้ารับการรักษาได้เลย ส่วนคนไหนผลไม่เป็นบวก ก็จะต้องรอสังเกตอาการจนครบ 14 วัน จึงจะสามารถปล่อยเข้าบ้านได้

ส่วนการปรับระดับความเข้มข้น ทั้ง 6 มาตรการ ได้แก่ 1.ลดการออกนอกเคหสถาน หรือที่พัก 2.ลดและจำกัดการเคลื่อนย้ายการเดินทาง 3.ควบคุม จำกัดกิจกรรมและสถานที่ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อและระบาดของเชื้อโควิด-19 4.สกัด คัดกรองกลุ่มเสี่ยง และมีมาตรการกับกลุ่มต่างๆ อย่างถูกต้องตามมาตรการสาธารณสุข 5.การกักตัวเอง ทั้งสถานที่ที่อำเภอกำหนด (State Quarantine) และที่บ้าน (Self Quarantine) 6.งดการชุมนุม มั่วสุมที่เสี่ยงต่อการระบาดของเชื้อโรค เพื่อควบคุม ลดการติดเชื้อ และการระบาดของเชื้อในพื้นที่จังหวัดให้ได้โดยเร็ว หากยังเอาไม่อยู่ ก็ต้องพยายามให้ทุกคนอยู่กับที่ ไม่ให้เดินทางมากไปกว่านี้

อาจจะออกมาตรการในระยะต่อไปเข้มข้นขึ้นอีก เช่น ไม่อนุญาตให้ประชุม รวมตัวกันเกินกว่า 5 คน, เพิ่มเวลาเคอร์ฟิว, สถานศึกษาให้ปิดเรียน On Site และสถานที่เสี่ยงต่างๆ ให้ปิดไปก่อน เป็นต้น ตอนนี้ยังไม่จำเป็นต้องเข้มงวดถึงขนาดนั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image