‘วิโรจน์’ เสนอ ศบค.เร่งทำ 3 ข้อ ฝ่าวิกฤตโควิด ชี้ความล้มเหลว เป็นหนี้ชีวิต ‘ประยุทธ์’ ต้องชดใช้

‘วิโรจน์’ เสนอ ศบค.เร่งทำ 3 ข้อ ฝ่าวิกฤตโควิด ย้ำ อย่ายึดระเบียบราชการ-งานเอกสาร จน ปชช.ต้องรอความตาย ชี้ ความล้มเหลว เป็นหนี้ชีวิตให้ ‘ประยุทธ์’ ต้องชดใช้

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 26 กรกฎาคม ที่ทำการพรรคก้าวไกล (ก.ก.) นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรค ก.ก. แถลงข้อเสนอแนะถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ล่าสุด มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นวันละ 14,000-15,000 ราย ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลาถึง 10 วันแล้ว โศกนาฏกรรมที่น่าเสียใจที่สุดก็คือการเสียชีวิตของประชาชนที่มากกว่า 100 คนต่อวัน ซึ่งเทียบเท่ากับประเทศนี้ ต้องประสบกับอุบัติเหตุเครื่องบินตกทุกวัน

“ประชาชนจำนวนมากต้องดิ้นรนหาที่ตรวจวินิจฉัยโรคเอง ต้องต่อคิวตากฝน นอนรอบนฟุตปาธ หลายคนต้องป่วยตายคาบ้านระหว่างรอเตียง หลายคนต้องกระเสือกกระสนดิ้นรนออกมาสูดอากาศภายนอกครั้งสุดท้าย ก่อนที่จะล้มลงนอนตายกลางถนน เพราะเข้าไม่ถึงการรักษา

“เด็กตัวเล็กๆ อายุไม่กี่ขวบ หลายชีวิตต้องเป็นกำพร้า ต้องพนมมือไหว้ขอให้ผ้าห่มให้กับพ่อแม่ของพวกเขาอย่างไร้เดียงสาว่าที่พ่อแม่ของพวกเขาตัวเย็น เพราะเป็นร่างที่ไร้ลมหายใจไปแล้ว ธุรกิจที่ทุ่มเทมาทั้งชีวิตต้องมาพังทลาย พร้อมกับหนี้สินที่ล้นพ้นตัว เงินที่เก็บหอมรอมริบมาทั้งชีวิตต้องหายวับไปกับตา ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นความล้มเหลวของรัฐบาลภายใต้การบริหารงานของรัฐบาล และเป็นหนี้ชีวิตที่ พล.อ.ประยุทธ์ต้องชดใช้” นายวิโรจน์กล่าว

Advertisement

นายวิโรจน์กล่าวต่อว่า สำหรับเรื่องการบริหารจัดการ การจัดหา และจัดฉีดวัคซีน แม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่ได้กล้าหาญที่จะออกมากล่าวคำขอโทษกับประชาชนด้วยตนเอง และเปลี่ยนการตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ COVAX Facility เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม และการที่นายอนุทิน ชาญวีรกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ทำหนังสือถึงแอสตร้าเซนเนก้าเพื่อขอให้ส่งมอบวัคซีนให้ได้เดือนละ 10 ล้านโดส ตลอดจนการยื่นข้อเสนอซื้อวัคซีนไฟเซอร์เพิ่มเติมอีก 50 ล้านโดส เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม ก็คือการที่รัฐบาลได้สารภาพผิดโดยพฤตินัย เพราะจำนนต่อหลักฐาน ซึ่งประชาชนและสังคมก็ได้พิพากษา พล.อประยุทธ์ นายอนุทิน และรัฐบาลนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ได้แต่หวังว่ารัฐบาลจะสำนึกในบาปบุญคุณโทษ ที่ได้ก่อกรรมทำเข็ญเอาไว้กับประชาชน และเร่งใช้ความสามารถทางการทูต และการเร่งรัดติดตามอื่นๆ เพื่อนำเอาวัคซีนที่มีประสิทธิผลต่อสถานการณ์การระบาด มาฉีดให้กับประชาชนโดยเร็วที่สุด

นายวิโรจน์กล่าวว่า ตนขอให้ข้อเสนอแนะต่อ พล.อ.ประยุทธ์ 3 ข้อ ดังต่อไปนี้ ข้อที่ 1 : เร่งใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit ตรวจประชาชนให้มากที่สุด และจัดสรรให้ประชาชนทุกคน โดยเฉพาะประชาชนที่พักอาศัยในพื้นที่สีแดง สามารถนำเอาบัตรประชาชนมาขอรับ เพื่อนำไปใช้ตรวจวินิจฉัยตนเองโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ได้สัปดาห์ละ 1 ชุด โดยสามารถลงทะเบียนขอรับผ่านทางไปรษณีย์ หรือขอรับด้วยตนเอง ได้ที่หน่วยงานท้องถิ่น หรือหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย เช่น สำนักงานเขต ศูนย์บริการสาธารณสุข พร้อมจุดบริการเสริมต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบล องค์กาบริหารส่วนจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ ในต่างจังหวัด ทั้งนี้เพื่อลดภาระของกระทรวงสาธารณสุขลง เพื่อให้กระทรวงสาธารณสุข ได้นำเอาสรรพกำลังไปทุ่มเทดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีอาการหนักอย่างเต็มศักยภาพ

นายวิโรจน์กล่าวว่า นอกจากนี้ ให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณมาอุดหนุน เพื่อให้ราคาของชุดตรวจ Antigen Test Kit อยู่ที่ไม่เกินชุดละ 50 บาท และเร่งจัดหามาให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน เพื่อให้ประชาชนสามารถซื้อได้ตามร้านขายยามาตรฐานทั่วไป การเพิ่มการตรวจอย่างอย่างครอบคลุม ต่อเนื่อง ตรวจ ตรวจ แล้วก็ตรวจ จะเป็นบันไดขั้นแรกที่สำคัญอย่างยิ่ง ที่จะช่วยลดการแพร่ระบาดลง โดยผู้ที่พบว่าตนเองติดเชื้อ จะได้กันตัวเองออกจากคนในครอบครัว และชุมชน และเข้าสู่กระบวนการรักษาให้เร็วที่สุด ข้อที่ 2 : ให้รัฐบาลกระจายอำนาจจากกระทรวงสาธารณสุขให้กับหน่วยงานท้องถิ่น และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มสีเขียว และเหลืองอ่อน เพื่อให้กระทรวงสาธารณสุขสามารถทุ่มเท ดูแลรักษาผู้ติดป่วยในกลุ่มสีเหลือง สีแดง และผู้ป่วยในภาวะวิกฤตได้ โดยให้รัฐบาลเร่งดำเนินการ ดังนี้

Advertisement

“2.1. เร่งจัดทำศูนย์พักคอยเพื่อติดตามอาการ หรือ Community Isolation Center ให้มากที่สุด โดยใช้พื้นที่วัด ศาสนสถาน โรงเรียน ค่ายทหาร และสวนสาธารณะ ตลอดจนสถานที่ราชการต่างๆ เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อกลุ่มสีเขียว และเหลืองอ่อน ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 70-75% ที่ไม่สามารถกักตัวรักษาตนเองที่บ้านได้ โดยให้มีขีดความสามารถในการรองรับผู้ติดเชื้อในระดับ 150,000-200,000 ราย กระจายเป็นจุดต่างๆ อย่างครอบคลุม ในระดับแขวงเขต ตำบล และอำเภอ

“2.2. ให้รัฐบาลกระจายอำนาจให้กับหน่วยงานท้องถิ่น หรือหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ในการดูแลศูนย์พักคอยเพื่อติดตามอาการ เช่น ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ให้สำนักอนามัย ศูนย์บริการสาธารณสุข และสำนักเทศกิจ ทำหน้าที่ดูแล และในพื้นที่ต่างจังหวัดให้ อบต. และ อบจ. เป็นผู้ดูแล เป็นต้น 2.3. สำหรับผู้ป่วยในกลุ่มสีเขียว ที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุ และไม่ได้อยู่ในกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ที่พักรักษาตัวที่โรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม หรือ Hospitel ภายใต้การดูแลของโรงพยาบาล หากพบว่ากักตัวมาเป็นระยะเวลา 10 วันแล้ว ไม่มีอาการของโรค และสภาพปอดปกติ ให้ผู้ป่วยกลับไปกักตัวรักษาตนเอง หรือทำ Home Isolation ที่บ้าน หากที่บ้านไม่เอื้ออำนวย ให้ผู้ป่วยมาพักที่ศูนย์พักคอยเพื่อติดตามอาการ หรือ Community Isolation Center จนครบ 14 วัน เพื่อเปิดพื้นที่ให้กับโรงพยาบาล ในการดูแลผู้ป่วยในกลุ่มสีเหลือง สีแดง และผู้ป่วยในภาวะวิกฤต

“นอกจากจะทำให้ประสิทธิภาพในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ดีขึ้นแล้ว ยังทำให้โรงพยาบาลสามารถที่จะดูแลผู้ป่วยในภาวะวิกฤติจากโรคอื่น เช่น โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหลอดเลือดหัวใจ ได้ด้วย ซึ่งเป็นการแก้ไขไม่ให้ระบบสาธารสุขของประเทศล้มเหลวไปมากกว่านี้ และ 2.4. ให้โรงพยาบาลรับผู้ป่วยในกลุ่มที่เปลี่ยนจากสีเขียว เป็นสีเหลือง จากศูนย์พักคอยติดตามอาการ Community Isolation Center หรือ Home Isolation หรือกรณีใดๆ มารักษาตัวต่อที่โรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม หรือ Hospitel ภายใต้การกำกับดูแลของโรงพยาบาล โดยห้ามมิให้ปฏิเสธ” นายวิโรจน์กล่าว

นายวิโรจน์กล่าวว่า ข้อที่ 3 : ให้รัฐบาลตรวจสอบอุปสรรคหน้างานอย่างเร็วที่สุด โดยเฉพาะข้อจำกัดที่ทำให้ผู้ติดเชื้อเข้าถึงยาต้านไวรัสอย่างล่าช้า เร่งแก้ไขระเบียบ ลดขั้นตอน และลดงานเอกสารงานธุรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาลและการเข้าถึงยาลง ในกรณีที่จำเป็น ก็ต้องใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในการแก้ไขปัญหาคอขวดที่เกิดขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว ที่เริ่มมีอาการ ตลอดจนผู้ติดเชื้อที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้มีโรคประจำตัว ได้เข้าถึงยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ได้เร็วที่สุด โดยการวินิจฉัยของแพทย์ ภายใน 4 วันนับจากวันที่เริ่มมีอาการ ซึ่งเป็นไปตามแนวเวชปฏิบัติของกรมการแพทย์ ฉบับวันที่ 21 กรกฎาคม 2564 แต่ในทางปฏิบัติยังไม่สามารถทำได้เป็นการทั่วไป นี่คือสิทธิการมีชีวิตรอดของประชาชน ซึ่งไม่ควรต้องสูญเสียไป จากระบบงานธุรการที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์วิกฤต

นายวิโรจน์กล่าวต่อว่า รัฐบาลควรจะแก้ไขกฎระเบียบให้อาสาสมัครต่างๆ ที่ช่วยประสานหาเตียงให้กับผู้ติดเชื้อ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ศูนย์พักคอยติดตามอาการ Community Isolation Center สามารถประสานงานกับโรงพยาบาล เพื่อลงทะเบียนให้กับผู้ติดเชื้อได้ และสามารถรับยาที่แพทย์สั่ง มาจ่ายให้กับผู้ป่วยที่อยู่ในศูนย์พักคอยติดตามอาการ รวมทั้งนำส่งยาที่แพทย์สั่งให้กับผู้ติดเชื้อที่ทำ Home Isolation หรืออยู่ระหว่างการรอเตียง เพื่อลดโอกาสการเสียชีวิต ให้น้อยลงที่สุดเท่าที่จะทำได้ ก่อนที่วัคซีนที่มีคุณภาพจะมาถึงเต็มแขนประชาชนอย่างที่นายอนุทินเคยสัญญาไว้

“สิ่งที่รัฐบาลต้องทำโดยทันทีก็คือการประคับประคองสถานการณ์ เพื่อไม่ให้สถานการณ์การระบาดของโรค และการสูญเสียชีวิตของประชาชนลุกลามไปมากกว่านี้ จึงขอให้รัฐบาลพิจารณาข้อเสนอหลักทั้ง 3 ข้อ พร้อมกับข้อเสนอแนะอื่นๆ และเร่งนำไปปฏิบัติด้วย อย่าให้ระเบียบต้องทำให้ประชาชนรอคอย และอย่าให้การรอคอยเข่นฆ่าประชาชน” นายวิโรจน์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image