“องอาจ”วอน คสช.เปิดกว้างวิจารณ์รธน.ได้ จี้ กรธ.แก้ ม.232 เหตุเปิดช่องการเมืองแทรกป.ป.ช.

เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ เวลา 10.00 น. ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคปชป. ภาค กทม. แถลงถึงรัฐธรรมนูญร่างแรกฉบับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ว่า ตนขอเรียกร้องไปยังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาลให้เปิดกว้างวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาเพื่อเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในการลงประชามติ เพราะจะทำให้เห็นทัศนคติมุมมองทั้งจุดเด่นและจุดด้อยมาปรับปรุง เพื่อก่อให้เกิดกระแสการตื่นตัวสนใจร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่ง คสช.และรัฐบาลควรปูทางสร้างสรรค์บรรยากาศประชาธิปไตยรองรับการเลือกตั้งที่จะเกิดกลางปีหน้าด้วย

นายองอาจกล่าวต่อว่า จุดเด่นของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่แตกต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับอื่นเพราะมีความเข้มข้น 5 ประการ คือ 1.การป้องกันปราบปรามการทุจริตเป็นหน้าที่ปวงชนชาวไทยไม่ให้ร่วมมือหรือสนับสนุนการทุจริต และรัฐต้องส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนเห็นอันตรายต่อการทุจริต มีกลไกที่มีประสิทธิภาพป้องกันและขจัดการทุจริตประพฤติมิชอบ 2.มีการกลั่นกรองบุคคลเข้าทำหน้าที่ในสภาเข้มข้นมากขึ้น 3.มีการกลั่นกรองบุคคลเข้าทำหน้าที่การบริหารภาครัฐเข้มข้นขึ้น ด้วยการกำหนดคุณสมบัติและการทำหน้าที่จะถูกตรวจสอบได้หลายช่องทาง 4.องค์กรอิสระมีหน้าที่เข้มข้น และ 5.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบัญญัติให้มีกฎหมายถึงหลักเกณฑ์การเลือกตั้งให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญด้วย ซึ่งมีส่วนทำให้การทุจริตเบาบางลงแต่ก็เป็นเพียงหลักการ ส่วนจะปฏิบัติได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่จะตามมา ดังนั้น กรธ.ต้องทำให้กฎหมายที่จะออกตามมามีความศักดิ์สิทธิ์สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญเพื่อให้สัมฤทธิผลในการปราบปรามการทุจริตได้

รองหัวหน้า ปชป.กล่าวอีกว่า ตนอยากให้ กรธ. แก้ไม่ให้อำนาจประธานรัฐสภาพิจารณาข้อกล่าวหาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพียงคนเดียวแต่ควรทำเป็นรูปของคณะ เพราะมาตรา 232 บัญญัติให้ ส.ส.หรือ ส.ว. หรือสองสภาจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 หรือประชาชนมีสองหมื่นคน มีสิทธิเข้าชื่อร้องกรณีร่ำรวยผิดปกติ จงใจขัดรัฐธรรมนูญ ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรงให้ยื่นเรื่องต่อประธานรัฐสภา เมื่อเห็นว่ามีหลักฐานอันควรสงสัยตามที่ถูกกล่าวหาให้ประธานรัฐสภาส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลฎีกาดำเนินการตามกฎหมายต่อไปเพราะถ้าให้ประธานรัฐสภาพิจารณาคนเดียวอาจมีการวิ่งเต้นให้วินิจฉัยว่าไม่มีความผิดได้ตั้งแต่ต้น อีกทั้งประธานรัฐสภายังเป็นคนของรัฐบาลทำให้การกล่าวหา ป.ป.ช.อาจเป็นการสมรู้ร่วมคิด หรือฮั้วกันจนอาจเกิดการพิจารณาที่ไม่เป็นธรรมได้ ดังนั้น กรธ.จึงควรปรับแก้ในส่วนนี้ เพราะเป็นหัวใจสำคัญของการปราบปรามการทุจริต

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image