คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : มนุษยชาติ@โตเกียวโอลิมปิก2020(+1)

เพลงมาร์ชที่บรรเลงขึ้นเมื่อนักกีฬาชาติแรกเดินเข้ามาสู่พื้นที่ของกรีฑาสถานแห่งชาติกรุงโตเกียวอาจแปลกแปร่ง หรือไม่ก็ผ่านหูไปเลยสำหรับผู้คนส่วนใหญ่ แต่สำหรับคนที่รุ่นเติบโตมากับวัฒนธรรมร่วมสมัยของวิดีโอเกมยุค 1980 แล้ว มันทำให้หัวใจเต้นแรง

มหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนที่ช้ากว่ากำหนดเดิมถึงหนึ่งปีได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ท่ามกลางเสียงประท้วงและความไม่พอใจของผู้คนในท้องถิ่นพื้นที่แม้จนนาทีสุดท้าย การจัดมหกรรมกีฬาที่ราวกับเป็นการดื้อแพ่งเอาผู้คนจากทั่วโลกมารวมตัวกันท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ซึ่งกลายพันธุ์ไปอย่างหลากหลายจนยังไม่อาจกล่าวได้ว่ามนุษยชาติสามารถประกาศชัยชนะต่อวิกฤตภัยนี้ได้โดยเด็ดขาด

เช่นนี้เมื่อทางผู้จัดงานยืนยันมั่นคงว่ามหกรรมกีฬาโอลิมปิกจะเริ่มตามกำหนดการเดิมหลังจากผัดผ่อนให้วิกฤตไวรัสนี้มาแล้วหนึ่งปี จึงเหมือนการดื้อแพ่งดันทุรังโดยแท้ แต่กระนั้น คบเพลิงแห่งการแข่งขันก็ได้จุดขึ้นเพื่อนับวันแรกของวันที่เหลืออีก 16 วันแล้ว โดยนักเทนนิสสาวลูกครึ่งญี่ปุ่น-เฮติ ผู้ถือสัญชาติอเมริกัน

มหานครโตเกียวเป็นเวทีแห่งมหกรรมกีฬานี้เป็นครั้งที่สอง หลังจากครั้งแรกในปี 1964 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่กีฬาโอลิมปิกได้จัดขึ้นในทวีปเอเชียด้วย การจัดมหกรรมกีฬาโอลิมปิกในครั้งนั้นได้เปลี่ยนแปลงประเทศญี่ปุ่นไปตลอดกาล จากภาพลักษณ์ประเทศผู้รุกรานอันโหดเหี้ยมแต่กลับเป็นฝ่ายแพ้สงคราม
อย่างย่อยยับจนไม่ได้รับความไว้วางใจให้มีกองทัพจนถึงทุกวันนี้ สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและเทคโนโลยี
ญี่ปุ่นเป็นเพียงของทดแทนเพราะราคาถูกกว่าสินค้าจากชาติตะวันตก โตเกียวโอลิมปิก 1964 เป็นการ
แจ้งเกิดของประเทศญี่ปุ่นยุคใหม่ที่มีโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ผู้คนมีวัฒนธรรม และเทคโนโลยีญี่ปุ่นที่ล้ำสมัยอย่างนาฬิการะบบคอมพิวเตอร์ รถไฟความเร็วสูงหัวกระสุนชินคันเซ็น และการเริ่มต้นของยุคโทรทัศน์สี ผู้คนทั่วโลกจึงจับตามองกันว่า สำหรับโตเกียว 2020 (+1) นี้ ญี่ปุ่นจะนำเสนออะไรต่อชาวโลก

Advertisement

สิ่งที่เราได้เห็นจากพิธีเปิดเมื่อคืนวันศุกร์ที่ 23 กรกฎาคมที่ผ่านมา คือการที่ญี่ปุ่นประกาศความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมร่วมสมัยของตนเอง ทั้งการ์ตูนภาพวาด (มังงะ) ภาพยนตร์การ์ตูน (อนิเมะ) และวิดีโอเกม ตลอดจนวัฒนธรรมแห่งความคิดสร้างสรรค์แนว “น้อยแต่มาก” ที่แสนฉลาด

เราได้เห็นนักกีฬาแต่ละชาติเดินเข้ามาเรียงลำดับตามตัวอักษรในภาษาญี่ปุ่นนำมาด้วยป้ายแสดงชื่อประเทศในบอลลูนคำพูดแบบที่เราเห็นในมังงะ โดยผู้ถือป้ายที่แต่งตัวเลียนแบบตัวการ์ตูนขาวดำสองมิติ และการใช้เพลงประกอบจากวิดีโอเกมต่างๆ เป็นเพลงมาร์ชนำนักกีฬาเข้าสนาม

วัฒนธรรมวิดีโอเกมถือเป็นทั้งสินค้าวัฒนธรรมส่งออกที่สำคัญของญี่ปุ่น แม้ว่าตัวเครื่องเล่นเกมคอมพิวเตอร์แบบต่อออกโทรทัศน์เครื่องแรกของโลกจะไม่ได้ถือกำเนิดขึ้นที่ญี่ปุ่น แต่ผู้ที่ทำให้มันแพร่หลายไปทั่วโลกเป็นวัฒนธรรมใหม่นี้ คือบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นนินเทนโดและโซนี กับความร่วมมือของบริษัทซอฟต์แวร์เกมญี่ปุ่นอีกนับสิบชื่อ

เครื่องเล่นที่เป็นต้นกำเนิดของสื่อบันเทิงนี้ในยุคปี 1980 ของบริษัทนินเทนโดใช้ชื่อการค้าที่ขายในประเทศญี่ปุ่นและเอเชียมีหมายถึง “คอมพิวเตอร์สำหรับครอบครัว” (Family computer : Famicom) และวิดีโอเกมที่ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้งในยุค 1995-2000 ของโซนีใช้ชื่อที่ให้ความหมายว่า “สถานีแห่งการเล่น” (Playstation) เครื่องเกมทั้งสองชื่อเหมือนเป็นการกำหนดอนาคตของวัฒนธรรมอิเล็กทรอนิกส์ประเภทนี้

ในปัจจุบันวิดีโอเกมถือเป็นศิลปะประยุกต์และสื่อให้ความบันเทิงอีกแขนงหนึ่งที่กลายเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ประจำบ้านอีกชิ้นที่อยู่คู่กับโทรทัศน์ และการเล่นวิดีโอเกมถูกยอมรับเป็น “กีฬา” อย่างหนึ่งประเภทกีฬาอิเล็กทรอนิกส์ (eSport) ที่มีการแข่งขันกันตั้งแต่ในระดับโรงเรียนไปจนถึงระดับโลก ได้รับการนับรวมไว้ในมหกรรมกีฬาภูมิภาคอย่างเอเชี่ยนเกมส์และซีเกมส์ เพียงแค่ยังไม่เข้ามาร่วมในกีฬาโอลิมปิกในขณะนี้เท่านั้นเอง

สำหรับเพลงที่ถูกเลือกมาเปิดหัวและปิดท้ายการเดินเข้าสนามของนักกีฬา มีชื่อว่า “โหมโรงแห่งโรโตะ” (Overture: Roto’s Theme) จากเกมชุดดรากอนเควสต์ (Dragon Quest) ซึ่งเป็นเกมแนวสวมบทบาท (Role play game) ของญี่ปุ่น ที่แม้ว่าจะไม่ใช่เกมที่ดังที่สุดหรือขายดีที่สุดในระดับโลก หรือแม้แต่เทียบกับเกมแนวเดียวกันจากญี่ปุ่นด้วยกันที่เป็นคู่แข่งอย่างเกมชุดไฟนอลแฟนตาซี (Final Fantasy) แต่ถ้าในประเทศญี่ปุ่นแล้วไม่มีใครกล้าปฏิเสธความยิ่งใหญ่ของ “ดราเก้” อันเป็นชื่อที่นักเล่นเกมญี่ปุ่นเรียก
เกมดรากอนเควสต์ได้

ความยิ่งใหญ่ของเกมชุด “ดราเก้” นั้นเป็นตำนานว่าในสมัยที่การขายซอฟต์แวร์เกมยังอยู่ในรูปแบบ
ของตลับหรือแผ่นซีดี ทางการญี่ปุ่นถึงกับต้องขอความร่วมมือบริษัทผู้จัดจำหน่ายว่า กรุณาอย่าขายเกม
ดรากอนเควสต์ภาคใหม่ในวันทำการ เพราะมันจะทำให้เด็กนักเรียนและมนุษย์เงินเดือนวัยทำงานพากันโดดเรียนลางานกันไปต่อแถวเข้าคิวรอซื้อเกมกันตั้งแต่เช้าตรู่เพื่อนำกลับไปเล่นที่บ้าน

ดังนั้น สำหรับคนที่โตมากับวิดีโอเกมฟามิคอมในยุค 1980 ท่วงทำนองดนตรีเปิดเข้าเกมของดรากอนเควสต์ ซึ่งเป็นทำนองเดิมตลอดช่วงเวลา 30 กว่าปีแตกต่างไปเพียงคุณภาพของเสียงที่ขึ้นกับเทคโนโลยีการประมวลผลของเครื่องเกมแต่ละรุ่น จึงเป็นเหมือนกับ “เพลงชาติ” ของพวกเรา ที่ไม่ว่าจะมีเชื้อชาติ ถือศาสนา หรือพูดจาอ่านเขียนภาษาใด

การเลือกเพลงโหมโรงแห่งโรโตะเป็นเพลงเปิดอาจจะเป็นเพราะความยิ่งใหญ่ของเกมนี้ดังที่กล่าวไปแล้ว แต่ไม่รู้ว่าบังเอิญหรือไม่ที่เกมดรากอนเควสต์ทุกภาคจะเปิดฉากขึ้นในโลกสมมุติที่ธรรมชาติวิปริตแปรปรวน บ้านเมืองและผู้คนถูกรุกรานโจมตีจากสัตว์ประหลาดที่มาจากไหนก็ไม่รู้ หรือบางครั้งมันก็เป็นสัตว์เดิมที่อยู่ร่วมกับมนุษย์ได้ในธรรมชาติแต่ก็กลับบ้าคลั่งขึ้นมากก็มี ในยามที่ผู้คนกำลังสิ้นหวังหวาดกลัวกับข่าวการคืนชีพขึ้นมาของ “จอมมาร” ที่ร้ายกาจเกินพลังที่มนุษย์ธรรมดาจะกำราบรับมือได้

ท่ามกลางความมืดหม่นและหวาดกลัวนั้น สิ่งเดียวที่ยังหล่อเลี้ยงจิตใจผู้คน คือตำนานแห่ง “ผู้กล้า” ที่เคยปราบปีศาจหรือจอมมารและนำสันติสุขคืนมาสู่โลกเมื่ออดีตกาลจะกลับมา โดยเชื่อว่ายังมีลูกหลานที่สืบเชื้อสายของเขาอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง ที่จะแสดงตัวออกมาเพื่อปราบยุคเข็ญคืนสันติสุขให้โลกอีกครั้ง

ในเกมดรากอนเควสต์ทุกภาค แม้ผู้เล่นจะได้สวมบทบาทเป็นตัวละครที่มีเชื้อสายของผู้กล้าในตำนาน แต่ก็เริ่มต้นด้วยการเป็นคนธรรมดาที่มีพลังเพียงน้อยนิดเจ็บได้ตายได้ หากด้วยความพยายาม ประสบการณ์ และการสนับสนุนจากผู้คนรอบข้างและเพื่อนร่วมทีม ผ่านการผจญภัยที่สนุกสนานซาบซึ้ง จนเมื่อปัจจัยต่างๆ ถึงพร้อม เขาก็ไปจัดการกับจอมมารและคืนสันติสุขกลับมาให้โลกนี้ได้ในที่สุด

ผู้กล้าในเกมดรากอนเควสต์จึงไม่ได้มีพลังวิเศษหรือเก่งมาตั้งแต่ต้น แต่เป็นเพราะการบ่มเพาะของผู้เล่นผ่านเนื้อเรื่อง ทำให้เขาทำภารกิจอันยิ่งใหญ่ได้ในที่สุด

เช่นนี้แล้ว การจัดมหกรรมโตเกียวโอลิมปิก 2020 จึงอาจจะไม่ใช่การดื้อแพ่งหรือความพยายามจะฝืนจัดด้วยผลประโยชน์แต่เพียงมิติเดียวเท่านั้น แต่มันยังมีส่วนลึกอันแสดงออกถึงความไม่ยอมแพ้ของมนุษย์ ที่มีต่อภัยคุกคามมนุษยชาติเผ่าพันธุ์โฮโมเซเปียนส์ด้วย

เราอาจจะยังตั้งหลักไม่ทันในปีแรกที่ถูกคุกคามโจมตี ด้วยขาดประสบการณ์และความรู้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปจนมนุษย์แต่ละชาติสามารถคิดค้นวัคซีนสารพัดชนิดด้วยเทคโนโลยีต่างๆ ที่เป็นความรู้อันสะสมมา
ของเรา จนสามารถรับมือกับไวรัสที่อันตรายที่สุดตัวหนึ่งในประวัติศาสตร์ในระดับที่ควบคุมได้ เรารู้กลไกการติดต่อของมันจนสามารถปรับวิถีชีวิตแบบใหม่ที่จะปลอดภัยจากมันได้ในระดับหนึ่งแล้ว เราก็ควรที่จะยืนยันที่จะทำกิจกรรมที่เราตั้งใจวางแผนไว้แล้ว แต่ด้วยการปรับตัวและวางแผนด้วยสติปัญญาและความร่วมมือกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

การจัดมหกรรมโตเกียวโอลิมปิก 2020 ท่ามกลางวิกฤตการณ์ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่แสนอันตรายและเรายังไม่อาจเอาชนะได้อย่างหมดจดสมบูรณ์ ก็อาจเท่ากับเป็นการประกาศเจตนารมณ์การท้าทายไม่ยอมจำนนของมนุษยชาติ ต่อจอมมารแห่งพิบัติภัยที่มองไม่เห็น และอาจจะไม่มีแม้แต่เจตจำนงใดๆ นอกจากกลไกลึกลับตามธรรมชาติที่ขับเคลื่อนมันอยู่ก็เป็นได้

ในมหกรรมโอลิมปิก เราจึงได้พบกับผลลัพธ์แห่งความพยายามไม่ยอมแพ้ของมนุษย์แต่ละคน ทั้งในระดับปัจเจก ระดับทีม และระดับประเทศ ในทุกเหรียญชัยมีตำนานแห่งการต่อสู้ของผู้มีพรสวรรค์ ความมุ่งมั่น วินัยและการอดทนทุ่มเท หรือแม้แต่ความทะเยอทะยานที่จะท้าทายข้อจำกัดของมนุษย์ผ่านการทำลายสถิติต่างๆ

นอกจากนี้ ผู้จัดงานยังฉลาดที่จะแสดงความเคารพถึงพลังของมนุษย์ธรรมดาที่ทำหน้าที่ของตนอย่างเข้มแข็ง เช่น ที่นำคุณหมอและพยาบาลที่ทำหน้าที่ในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดในเรือสำราญเมื่อปีที่แล้วมาเป็นตัวแทนบุคลากรทางการแพทย์ร่วมวิ่งเชิญคบเพลิงด้วย รวมถึงการรำลึกถึงความสูญเสียของผู้คนที่ไม่มีโอกาสได้อยู่เห็นมหกรรมกีฬาในวันนี้โดยภัยธรรมชาติคลื่นยักษ์สึนามิเมื่อสิบปีที่แล้วจากจังหวัดฟุกุชิมะและมิยากิ ด้วยดอกไม้ที่ปลูกจากผู้คนที่ได้รับความสูญเสียแต่ยังมีความหวัง และส่งมอบความหวังนั้นมาประกอบเป็นช่อดอกไม้เพื่อแสดงความยินดีสำหรับนักกีฬาที่ได้เหรียญรางวัล

สุดท้ายคือความภาคภูมิใจในความเป็นชาติของกองเชียร์ทางบ้าน ความภาคภูมิใจใน “ชาติ” อันเป็นเรื่องเล่าที่แข็งแกร่งที่สุดที่ผูกหลอมเราไว้ด้วยกัน พร้อมกับความนับถือและชื่นชมในผลแห่งความมานะพยายามของปัจเจกชนที่พูดภาษาเดียวกับเรา อยู่ร่วมแผ่นดินและเผชิญชะตากรรมร่วมกับเรา

จึงไม่แปลกเลยที่ไม่ว่าคุณจะมีความคิด “ก้าวหน้า” ในเชิงปรัชญาสังคมและการเมืองจนมองว่า “ชาติ” เป็นสมมุติสัจจะที่เกิดขึ้นจากวาทกรรมและเรื่องเล่า หรืออาจจะมาจากการปลูกสร้างของผู้มีอำนาจปกครอง หรือบางคนมองไกลไปถึงความเป็นพลเมืองโลกที่ไร้ขอบเขตแห่งอำนาจรัฐและวัฒนธรรม แต่ทั้งหมดทั้งมวลนั้นถูกหยุดไว้ชั่วคราวในสี่วินาทีสุดท้ายที่น้องเทนนิส พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ นักเทควันโดสัญชาติไทย ที่พลิกกลับมาเอาชนะ อาเดรียน่า เซเรโซ อิเกลเซียส นักเตะสาวชาวสเปนอย่างหวุดหวิด

ซ้ายแค่ไหนก็แอบเฮ และมีความสุขได้แม้จะเพียงส่วนเสี้ยววินาที

พลังและความมุ่งมั่นต่างๆ ของมนุษย์หลายชาติหลายภาษาที่มารวมตัวกันที่กรุงโตเกียว ณ ขณะนี้ จึงเป็นเหมือนคำประกาศชัยแม้จะยังไม่ชนะของมนุษยชาติ ว่าไม่มีอะไรจักทำลายเผ่าพันธุ์อายุห้าหมื่นปีของเราได้

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image