การสะสมขีปนาวุธของประเทศต่างๆในเอเชีย กำลังจะเป็นวิกฤตในอนาคต

ขีปนาวุธ DF-26 ของจีน พิสัยการยิงไกลถึง 4,000 กิโลเมตร

ขีปนาวุธ (Missile) หรืออาวุธปล่อยนำวิถี หมายถึงอาวุธขับเคลื่อนโดยระบบนำวิถีกล่าวคือ มีการติดตั้งอุปกรณ์สำหรับนำพาอาวุธปล่อยคือ ขีปนาวุธไปสู่เป้าหมายได้อย่างแม่นยำ (ตรงข้ามกับระบบอาวุธขับเคลื่อนแบบไม่นำวิถี ซึ่งเรียกว่า จรวด) ขีปนาวุธมีส่วนประกอบหลักอยู่สี่ส่วน คือ ระบบกำหนดเป้าและนำวิถี, ระบบควบคุมทิศทาง, จรวดขับดัน และหัวรบ (แบบระเบิดธรรมดา และระเบิดนิวเคลียร์) ขีปนาวุธสามารถจำแนกออกได้เป็นหลายประเภทตามวัตถุประสงค์การใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นขีปนาวุธพื้นสู่พื้น, ขีปนาวุธอากาศ
สู่พื้น, ขีปนาวุธพื้นสู่อากาศ หรือขีปนาวุธอากาศสู่อากาศ โดยขีปนาวุธที่มีอยู่ในปัจจุบันทั้งหมดถูกออกแบบมาให้ใช้พลังงานขับดันจากการทำปฏิกิริยาเคมีภายในเครื่องยนต์จรวด, เครื่องยนต์ไอพ่น หรือเครื่องยนต์ประเภทอื่นๆ

ขีปนาวุธแบบแรกของโลกมีชื่อว่า จรวด วี-1 (V-1 flying bomb) เป็นลูกระเบิดที่ติดปีก และเครื่องไอพ่นเข้าไป ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็น จรวด วี-2 ที่รวมเครื่องยนต์ไอพ่นไว้ในตัว และติดตั้งครีบที่ปลายจรวดแทนปีกที่ตัดออก เป็นลักษณะสากลของขีปนาวุธที่ใช้ในปัจจุบัน โดยเป็นอาวุธที่ประเทศเยอรมนีนำมาใช้ในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนที่เยอรมนีจะพ่ายแพ้ไปในที่สุด ซึ่งหลังจากนั้นประเทศต่างๆ ก็พากันพัฒนาขีปนาวุธขึ้นเป็นอาวุธมหาประลัยที่สำคัญอยู่ในปัจจุบัน

ขีปนาวุธแบ่งออกตามลักษณะการขับเคลื่อนเป็นสองประเภท คือ ขีปนาวุธทิ้งตัว (ballistic missile) คือขีปนาวุธ ซึ่งถูกนำวิถีในขั้นตอนแรกที่ถูกขับเคลื่อนด้วยกำลังเชื้อเพลิงก่อนที่ในขั้นตอนสุดท้ายจะทิ้งตัวลงตามแรงโน้มถ่วงของโลกลงที่เป้าหมาย นอกจากนี้ ขีปนาวุธแบบทิ้งตัวยังแยกย่อยออกเป็นขีปนาวุธทิ้งตัวทางยุทธวิธี (Tactical ballistic missile) หรือ TBM คือขีปนาวุธทิ้งตัว ซึ่งออกแบบสำหรับการใช้งานพิสัยใกล้สั้นในสมรภูมิ ซึ่งมักมีพิสัยปฏิบัติการต่ำกว่า 300 กิโลเมตร ขีปนาวุธประเภทนี้มักติดตั้งบนรถบรรทุก เพื่อสามารถเคลื่อนที่ได้โดยสะดวก และสามารถติดตั้งหัวรบหลายหัวเพื่อโจมตีโครงสร้างพื้นฐานทางทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ของศัตรูไม่ว่าจะอยู่ในแนวหน้า หรือแนวหลังของสมรภูมิ

ส่วนขีปนาวุธอีกประเภทหนึ่งคือ ขีปนาวุธร่อน (Cruise missile) หมายถึงขีปนาวุธนำวิถีใช้กับเป้าหมายบนพื้น ขีปนาวุธพิสัยใกล้เกือบทั้งหมดเป็นขีปนาวุธประเภทนี้ การที่เรียกเช่นนี้เนื่องจากมันมีปีกที่ทำให้มันร่อนอยู่ในอากาศได้ ขีปนาวุธประเภทนี้ถูกออกแบบมา เพื่อนำส่งหัวรบขนาดใหญ่เป็นระยะทางไกล โดยที่ยังคงความแม่นยำ ขีปนาวุธร่อนสมัยใหม่สามารถทำความเร็วเหนือเสียง หรือเท่ากับเสียงได้ และมีระบบนำทางในตัวเองขีปนาวุธร่อนเป็นขีปนาวุธประเภทที่ครอบคลุมพิสัยการปฏิบัติการมากที่สุด ปัจจุบันมีขีปนาวุธร่อนตั้งแต่พิสัยใกล้ไม่เกิน 1,000 กิโลเมตร ไปจนถึงขีปนาวุธร่อนแบบทอดตัวข้ามทวีป อย่างไรก็ตาม ขีปนาวุธร่อนยังสามารถร่อนในระดับต่ำได้ ขีปนาวุธร่อนได้รับแรงบันดาลใจมาจาก ระเบิดบิน วี-1 ของเยอรมนีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นขีปนาวุธแบบแรกของโลก

Advertisement

สำหรับพิสัย (range) ของขีปนาวุธนั้นแตกต่างกันอยู่บ้างระหว่างขีปนาวุธทิ้งตัวกับขีปนาวุธแบบร่อน ในที่นี้จะกล่าวถึงขีปนาวุธแบบทิ้งตัวเพียงอย่างเดียวพอสังเขปคือ ขีปนาวุธพิสัยใกล้ (Short-range ballistic missile) พิสัย 300 ถึง 1,000 กิโลเมตร ขีปนาวุธพิสัยกลาง (Medium-range ballistic missile) พิสัย 1,000 ถึง 3,500 กิโลเมตร ขีปนาวุธพิสัยปานกลาง (Intermediate-range ballistic missile) พิสัย
3,500-5,500 กิโลเมตร ขีปนาวุธข้ามทวีป (Intercontinental ballistic missile) พิสัย 5,500 กิโลเมตร

ขีปนาวุธที่ทางการไต้หวันผลิตขึ้นเอง
แสดงไว้ที่เกาะเผิงหู

การที่สาธารณรัฐประชาชนจีนได้ผลิตขีปนาวุธ DF-26 ที่มีพิสัยการยิงไกลถึง 4,000 กิโลเมตรเข้าประจำการตลอดแนวชายฝั่งทะเลจีนตะวันออก และทะเลจีนใต้นั้นเป็นการแสดงออกถึงศักยภาพที่จีนสามารถที่จะยิงขีปนาวุธเข้าทำลายเรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐอเมริกาได้อย่างราบคาบในบริเวณช่องแคบไต้หวัน และในทะเลจีนใต้ที่จีนได้อ้างกรรมสิทธิไว้ทั้งหมด พร้อมกันนั้นทางการอเมริกันตรวจพบว่า จีนกำลังสร้างฐานไซโลทั้งหมด 119 จุด ในทะเลทรายเเห่งหนึ่งที่จังหวัดกานสูทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศจีน จากข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมสิ่งปลูกสร้างที่เกิดขึ้นอาจใช้สำหรับขีปนาวุธประเภท DF-41 ของจีน ซึ่งสามารถติดหัวรบนิวเคลียร์ได้ และสามารถยิงได้ไกลเกือบ 7,000 กิโลเมตรสิ่งปลูกสร้างที่เกิดขึ้นอาจใช้สำหรับขีปนาวุธประเภท DF-41 ของจีน ซึ่งสามารถติดหัวรบนิวเคลียร์ได้ และสามารถยิงได้ไกลเกือบ 7,000 กิโลเมตร นั่นหมายความว่าอาจยิงจากจีนมาถึงสหรัฐได้แล้ว นอกจากนี้ยุทโธปกรณ์ดังกล่าวน่าจะมีศักยภาพติดหัวรบนิวเคลียร์ได้สูงสุดถึง 10 หัวรบ ทำให้สหรัฐอเมริกาต้องรีบเร่งพัฒนาขีปนาวุธที่จะโต้ตอบขีปนาวุธของจีนอย่างขมีขมันโดยจะนำขีปนาวุธพิสัยไกลชนิดใหม่คือ The Long-range Hypersonic Weapon (LRHW) ที่มีความเร็วกว่าเสียงถึง 5 เท่า สามารถยิงได้ไกลกว่า 2,775 กิโลเมตรและเคลื่อนที่ได้เร็วแบบขีปนาวุธทิ้งตัวทางยุทธวิธี มาติดตั้งตลอดแนวหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกรวมถึงญี่ปุ่น ไต้หวันและหมู่เกาะต่างๆ เป็นการตอบโต้

ทำให้ไต้หวัน เกาหลีใต้และญี่ปุ่นต่างก็เร่งพัฒนาขีปนาวุธของตนเอง และสะสมกำลังขีปนาวุธเพิ่มขึ้นเพราะไม่อาจจะพึ่งพาสหรัฐอเมริกาเพียงถ่ายเดียวได้เนื่องจากเกาหลีเหนือก็พัฒนาขีปนาวุธได้ก้าวหน้าจนแทบจะยิงถล่มทั้งเกาหลีใต้และญี่ปุ่นได้เกือบทุกจุด ซึ่งบรรดาประเทศอื่นในทวีปเอเชียต่างๆ ก็ไม่ปรารถนาที่จะถูกทิ้งไว้ข้างหลังในเรื่องขีปนาวุธ จึงมีแนวโน้มที่จะพากันทุ่มเทงบประมาณในการพัฒนา และซื้อขีปนาวุธมาสะสมไว้ในคลังอาวุธกันเป็นงานมหกรรม

Advertisement

และเมื่อมีอาวุธครบ พร้อมมือก็ย่อมชักนำไปสู่กรณีพิพาทขัดแย้งกัน ซึ่งอาจนำมาซึ่งสงครามโดยง่ายในอนาคตอันไม่ไกลนักแน่นอน

โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image