เดินหน้าชน : เบรกแตก

ล็อกดาวน์จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมาก เหตุใดการแพร่ระบาดเพิ่มสูงต่อเนื่องทั่วประเทศ

ศบค.ออกมาตรการปิดแคมป์คนงาน-ไซต์ก่อสร้างในกรุงเทพฯและปริมณฑล เนื่องจากพบการระบาดเป็น
กลุ่มก้อน กระจายเป็นคลัสเตอร์แคมป์ก่อสร้างหลายแห่ง

บังคับใช้ 28 มิถุนายน ขณะนั้นตัวเลขติดเชื้อโควิด-19 ระดับเฉลี่ยวันละ 5 พันคน

การประกาศปิดแคมป์ทำให้มีแรงงานบางส่วน (คาดว่าไม่น้อย) ทั้งต่างชาติ คนไทย แห่เดินทางกลับภูมิลำเนา บางคนใช้คำว่า “ผึ้งแตกรัง”

Advertisement

และเชื่อว่ามีไม่น้อยเช่นกันที่ติดเชื้อโควิด-19 แต่ยังไม่แสดงอาการ ยืนยันได้จากเมื่อตรวจสอบไทม์ไลน์ผู้ติดเชื้อใหม่ในต่างจังหวัดมักจะพบว่าติดมาจากญาติพี่น้องที่เดินทางมาจาก กทม.และปริมณฑล

นับจาก 28 มิถุนายน วันที่ปิดแคมป์ หากยึดเอาช่วง 14 วัน ที่ผู้ติดเชื้อจะแสดงอาการ (ระยะแรกอาจดูเหมือนคนปกติ) ก็หมายความว่าโควิด-19 แพร่ระบาดออกสู่ต่างจังหวัดเป็นการใหญ่ไปแล้ว

ขณะเดียวกันแม้ปิดแคมป์ แต่การแพร่ระบาดในพื้นที่ กทม.-ปริมณฑลก็ยังอยู่ในระดับสูง และสูงกว่าทุกจังหวัดทั่วประเทศจังหวัดรวมกัน

Advertisement

ศบค.ต้องออกมาตรการควบคุมกิจกรรม กิจการ ประกาศเคอร์ฟิว จังหวัดที่ถูกเรียกว่าพื้นที่ควบคุมสูงสุดและ
เข้มงวดหรือพื้นที่แดงเข้มรอบแรก 10 จังหวัด กรุงเทพ มหานคร-ปริมณฑล ได้แก่ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร จังหวัดชายแดนภาคใต้ สงขลา นราธิวาส ปัตตานี ยะลา

บังคับใช้ 12 กรกฎาคม ในวันนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อประเทศขึ้นมาอยู่ที่ 8,656 ราย เสียชีวิตขึ้นมาที่ 80 ราย

7 วันหลังการประกาศล็อกดาวน์ครั้งนี้ ผู้เชื้อใหม่เพิ่มเป็น 11,396 ราย เสียชีวิตทะลุร้อยมาอยู่ที่ 101 ราย

ที่น่าสนใจ ตัวเลขผู้ป่วยใหม่ต่อวันใน 67 จังหวัดได้ขึ้นมาแซง 10 จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้มแล้ว แต่ผู้ติดเชื้อ
โควิด-19 ใน 10 จังหวัดนี้ก็ยังเพิ่มในระดับสูง ทั้งยังขยายไปจังหวัดใกล้เคียง

ศบค.ต้องออกมาตรการคุมกิจกรรม กิจการ ประกาศเคอร์ฟิว เพิ่มอีก 3 จังหวัด อยุธยา ฉะเชิงเทรา ชลบุรี

บังคับใช้ 22 กรกฎาคม

จนถึงขณะนี้จำนวนผู้ป่วยต่อวันรวมทั่วประเทศทะยานมาที่ 1.5 หมื่นรายแล้ว

รศ.ดร.นวลจันทร์ สิงห์คราญ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ทำแบบจำลอง
คาดการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 รวบรวมข้อมูลจนถึงวันที่ 17 กรกฎาคม แบบจำลองแสดงให้เห็นว่า หากไม่มีมาตรการใดออกมาเลย จำนวนผู้ติดเชื้ออาจพุ่งไปถึง 31,997 รายต่อวัน แต่หาก “ทำดีที่สุด” ผู้ติดเชื้อจะลดลงมาอยู่ที่ 9,018-12,605 รายต่อวัน

ขณะที่การศึกษาของศูนย์วิจัยธนาคารกรุงศรีอยุธยาระบุว่า หากการให้บริการวัคซีนเป็นไปตามเป้าหมาย จะเริ่มเห็นจำนวนผู้ติดเชื้อในทิศทางขาลงในช่วงปลายสิงหาคมถึงต้นกันยายน แต่ก่อนจะถึงเวลานั้นอาจมีผู้ติดเชื้อเกินกว่า 15,000 ราย และหากแย่ที่สุดอาจสูงกว่า 20,000 ราย

หากยึดเอาแบบจำลองของอาจารย์นวลจันทร์ เท่ากับขณะนี้เราเดินมาครึ่งทางของอัตราติดเชื้อที่เลวร้ายที่สุด

หรือถ้าเป็นศูนย์วิจัยธนาคารกรุงศรีอยุธยา เราก็เดินใกล้ “เลวร้ายที่สุด” เข้าไปทุกที

ทั้งที่ ศบค.ออกมาตรการมาแล้ว 3 ระลอก

มีคำถามว่า มาตรการที่ออกมาดังกล่าว ศบค.ได้ประเมินหรือบวกลบคูณหารแล้วหรือไม่ ว่าสถานการณ์ติดเชื้อจะเพิ่มสูงรายวันแบบนี้

หากรู้อยู่แล้ว ก็น่าจะหาทางหนีทีไล่ไว้บ้างแล้ว เหตุใดการระบาดยังคงมีลักษณะเหมือนควบคุมไม่อยู่

ในทางกลับกัน หากปรากฏการณ์นี้อยู่เหนือเกินความคาดหมาย

เหตุใด (อีกเช่นกัน) จึงตัดสินใจดำเนินมาตรการบนความเสี่ยงเช่นนี้

สัญญา รัตนสร้อย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image