จับสัญญาณ-ปัจจัย วิกฤตในเรือ ‘บิ๊กตู่’

จับสัญญาณ-ปัจจัย วิกฤตในเรือ ‘บิ๊กตู่’

สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยที่มียอดผู้ติดเชื้อใหม่รายวันพุ่งเกินวันละ 1 หมื่นคนต่อเนื่องมา 10 วัน ตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคมที่ผ่านมา และมีตัวเลขติดเชื้อสะสมในประเทศกว่า 5 แสนคนไปแล้ว

ขณะที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตสะสมมีจำนวน 4,052 รายไปแล้ว จนส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขของประเทศเข้าขั้นวิกฤต ลามไปถึงวิกฤตศรัทธาและความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลที่มี “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่นั่งเป็นผู้นำของฝ่ายบริหาร ทั้งเสียงเรียกร้องของภาคประชาชน กลุ่มมวลชนที่เคลื่อนไหวทางการเมือง รวมทั้งดารานักแสดงที่ออกมา “คอลเอาต์” แสดงจุดยืนเรียกร้องให้ปรับการบริหารจัดการโควิดของรัฐบาลให้มีประสิทธิภาพมากกว่านี้

ขณะที่ท่าทีของพรรคร่วมรัฐบาลที่มีต่อนายกฯ ทั้งพรรคภูมิใจไทย (ภท.) และพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ต่างประคองตัว รักษาสภาพไม่ให้บอบช้ำจากวิกฤตการบริหารจัดการโควิด-19 ไปมากกว่านี้ โดยเฉพาะลูกพรรคทั้งพรรค ภท. และพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) มักจะออกมาตอบโต้และปกป้องหัวหน้าพรรคของตัวเองในประเด็นเรื่องอำนาจหน้าที่การบริหารจัดการโควิด-19 ทั้งเรื่องอำนาจจัดสรรการฉีดวัคซีน การจัดซื้อวัคซีนในแต่ละยี่ห้อ ต่างกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ที่รวบอำนาจการบริหารจัดการโควิดไว้ทั้งหมด ในแบบซิงเกิลคอมมานด์ ส่งผลให้รัฐมนตรีจากพรรคร่วมอื่นๆ ทำได้เพียงรับคำสั่งทำงานแบบรูทีน เหมือนฝ่ายข้าราชการประจำ

Advertisement

ขณะที่กระแสภายนอกและเสียงเรียกร้องจากพรรคร่วมฝ่ายค้าน ต่างออกมาเรียกร้องให้พรรคร่วมรัฐบาลถอนตัว เพื่อเปิดทางให้มีการยุบสภา หรือบีบให้นายกฯลาออก และมีการเลือกนายกฯคนใหม่ ส่วนท่าทีและสัญญาณของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ส่งผ่านวงประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา ที่มีหัวหน้าพรรคพรรคร่วมรัฐบาลนั่งเป็นรัฐมนตรีกันครบถ้วน

ทั้ง “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) และ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) โดย “พล.อ.ประยุทธ์” สื่อสารความในใจ จากนายกฯ ถึงตัวแทนพรรคร่วมรัฐบาลว่า “ตอนนี้ไม่ใช่เวลาเล่นการเมือง ใครจะทิ้งผมก็ตามใจ แต่ผมจะทำงานต่อ” ถือเป็นการส่งสัญญาณว่ายังไม่ถอย ทั้งลาออก หรือยุบสภา และยังจะเดินหน้าทำงานในฐานะผู้นำรัฐบาลต่อไป

ปัจจุบันรัฐบาลผสม 19 พรรค มีเสียงในสภารวมกัน 270 เสียง ในจำนวนนี้เป็นเสียงของ ภท. 61 เสียง และ ปชป. 48 เสียง โดยมีจำนวนเสียงมากกว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านที่มี 212 เสียง ถึง 58 เสียง หากยังจับมือกันแน่นเกมการเมืองในสภาก็ไม่อาจล้มรัฐบาลได้ โดยท่าทีของพรรคร่วมรัฐบาล อย่าง “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯและ รมว.สาธารณสุข ตอบคำถามอีกครั้งว่าจะถอนตัวจากรัฐบาลหรือไม่ว่า ไม่เคยคิดทิ้งนายกฯ และแน่นอนว่าพรรคภูมิใจไทยยังมั่นคง เหนียวแน่น อยู่ร่วมรัฐบาลยาวจนครบวาระ เช่นเดียวกับ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะเลขาธิการพรรค กล่าวชี้แจงในประเด็นเดียวกันว่า “ไม่เคยคิดเรื่องที่จะทิ้งรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี”

Advertisement

ขณะที่ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” ชี้แจงถึงจุดยืนการร่วมรัฐบาลอีกครั้งว่า “การตัดสินใจอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งต้องไม่ซ้ำเติมวิกฤตประเทศ ที่ขณะนี้ประเทศกำลังเผชิญปัญหาทั้งโควิด-19 และเศรษฐกิจ ซึ่งหลายฝ่ายต้องช่วยกันฝ่าวิกฤตให้สถานการณ์ดีขึ้น พรรคประชาธิปัตย์ก็ต้องทำหน้าที่ และร่วมมือกับประชาชน เพื่อนำประเทศฟันฝ่าอุปสรรคให้ผ่านพ้นปัญหานี้ไปให้ได้”

เหตุผลสำคัญที่แกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ยังยืนยันหนักแน่นเป็นเสียงเดียวกันว่ายังไม่คิดถอนตัวจากพรรคร่วมรัฐบาล เนื่องจากสภาพของรัฐบาลและพรรคร่วมยังอยู่ในสภาพติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ไปตามๆ กัน หากยังแก้ปัญหาโควิด-19 ให้พ้นจากวิกฤตเพื่อฟื้นศรัทธาและความเชื่อมั่นของประชาชนให้คะแนนนิยมกลับมาดีขึ้นอีกครั้งไม่ได้ การถอดใจ ถอนตัว หรือยุบสภาในเวลานี้ โอกาสที่ได้คัมแบ๊กกลับมาจากการเลือกตั้ง คงริบหรี่เต็มที เนื่องจากประชาชนยังอยู่ในอารมณ์ที่สิ้นหวัง และไม่เชื่อมั่นต่อการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 ของรัฐบาลชุดนี้

อีกทั้งยังมีปัจจัย ทั้งร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องระบบเลือกตั้ง ที่พรรคร่วมรัฐบาลอยากให้มีการแก้ไขกลับมาใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ยังผ่านความเห็นชอบจากสภา และร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญยังไม่ได้รับการแก้ไข หากถอนตัวหรือยุบสภา โดยที่ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณยังไม่ผ่าน โอกาสที่พรรคร่วมรัฐบาลจะใช้ประโยชน์จาก พ.ร.บ.งบประมาณเร่งทำผลงานสร้างคะแนนนิยม ก่อนเลือกตั้งก็จะทำไม่ได้ ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาลอย่างแน่นอน

กูรูทางการเมืองจึงฟันธงตรงกันว่าจะไม่มีรัฐบาลชุดใดคิดยุบสภา ในช่วงที่รัฐบาลของตัวเองอยู่ในภาวะเพลี่ยงพล้ำในทางการเมือง หรือคะแนนนิยมตกต่ำอย่างแน่นอน สู้อยู่แก้ปัญหาเพื่อฟื้นคะแนนนิยม และรอให้กลไกต่างๆ ที่จะเอื้อประโยชน์ในทางการเมืองให้ตัวเองมีความได้เปรียบเสียก่อน ถึงเวลานั้นจึงต้องมาจับสัญญาณของรัฐบาลและพรรคร่วมกันอีกครั้ง ในการตัดสินใจทางการเมือง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image