นักวิชาการม.เชียงใหม่ ถกวิกฤตสิทธิชุมชนกับอำนาจนิยมในทรัพยากร

ภาพจาก เว็บไซต์ Prachatham

นักวิชาการมช. ถกวิกฤตสิทธิชุมชนกับอำนาจนิยมในทรัพยากร

เมื่อวันพุธที่ 14 กย.นี้ ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดให้มีการเสวนาทางวิชาการเรื่อง วิกฤตสิทธิชุมชนกับอำนาจนิยมในทรัพยากร ณ ห้องประชุมชั้น 3 อาคาร 3 คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีวิทยากรประกอบด้วย ศ.ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์ อ.ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ และ รศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.ขวัญชีวัน บัวแดง

ผศ.ดร.ขวัญชีวัน บัวแดง ได้กล่าวถึงเหตุผลในการจัดงานเสวนาว่า กรณีที่เกิดขึ้นกับชุมชนกะเหรี่ยงซึ่งอาศัยอยู่ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ได้ชวนให้ตั้งคำถามและทบทวนต่อประเด็นสิทธิชุมชน ว่ามีสถานะเช่นไรในสังคมไทยปัจจุบัน และจะเข้าใจเหตุการณ์การเผาบ้านเรือนและขับไล่ชุมชนกะเหรี่ยงโดยเจ้าหน้าที่อุทยาน ที่กลายเป็นเรื่องที่ถูกกฎหมายได้อย่างไร โดยที่แม้ว่าชุมชนจะตั้งถิ่นฐานมาเป็นเวลานาน แต่กลับไม่ได้รับการยอมรับในทางกฎหมายแต่อย่างใด

ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี
ได้เริ่มต้นการเสวนาว่า เรามักได้ยินคำกล่าวที่ว่า ไม่ว่ารัฐบาลไหน ก็กวาดจับชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในป่าอยู่แล้ว ดังนั้น ระบอบการเมืองเช่นไร หรือรัฐบาลประเภทใด ก็ไม่ได้ต่างอะไร โดยเห็นว่า ความเชื่อนี้ มีปัญหา และเป็นสาเหตุของความล้มเหลวของขบวนการสิทธิชุมชนในไทย โดยเสนอว่า ความรุนแรงของอำนาจนิยมในการจัดการทรัพยากร เป็นผลพวงของระบอบการเมืองแบบเผด็จการ

ปิ่นแก้วให้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ว่า ป่าอุทยานแห่งชาติของไทย ภายใต้แนวทางป่าปลอดคนจน เกิดขึ้นในยุครัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งเป็นรัฐบาลเผด็จการทหาร ที่นำเอาโมเดลป่าอุทยานของสหรัฐอเมริกามาใช้ในไทย จักรวรรดินิยมอเมริกัน เข้ามาช่วยไทยจัดตั้งป่าอุทยานแห่งชาติแห่งแรกที่เขาใหญ่ ในปี 2505 ซึ่งนำความคิดของอุทยานแห่งชาติเยลโลสโตนมาใช้ ซึ่งเป็นป่าอุทยานของอเมริกาที่ใช้กองกำลังทหารมาจัดตั้งและบริหารกว่า 30 ปี ก่อนจะถ่ายโอนอำนาจให้อุทยาน และขับไล่ชนพื้นเมืองอินเดียนแดงที่อยู่มากว่า 11,000 ปีออกไป

Advertisement

อุทยานแห่งชาติไทย ได้ถือกำเนิดขึ้นโดยรัฐราชการ ที่ใช้อำนาจเผด็จการในการแย่งชิงอำนาจการควบคุมป่าจากประชาชนมาไว้ในมือกลุ่มข้าราชการ เทคโนแครตของกรมป่าไม้ และกรมอุทยาน แต่ป่าที่ว่า ก็ปลอดเฉพาะคนจน เพราะคนรวยสามารถไปเที่ยวได้ ชนชั้นกลาง กลุ่มอนุรักษ์ในเมืองจึงสนับสนุนป่าประเภทนี้

แต่ในสหรัฐฯ พัฒนาการการจัดการป่าที่เริ่มจากการรวมศูนย์อำนาจ ต่อมาได้กระจายอำนาจไปสู่ชนพื้นเมืองมากยิ่งขึ้น มีการออกกฎหมาย Tribal Self Governance Act ในปี 1994 ให้ชนพื้นเมืองสามารถยื่นขอจัดการพื้นที่ที่มีความสำคัญทางวัฒนธรรมได้ แม้ว่าจะอยู่ในพื้นที่อุทยาน เช่นใน Yosemite, Redwood, Mount Rainier ล่าสุดมีการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติชนเผ่า (Tribal National Parks) ในอุทยานแห่งชาติ Badlands National Park เป็นที่แรกที่มีการถ่ายโอนอำนาจในการจัดการป่าบางส่วนให้กับชนพื้นเมืองได้จัดการด้วยตนเอง

ปิ่นแก้ว เห็นว่า การเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (paradigm) ในการจัดการอุทยานในสหรัฐฯ เกิดขึ้นได้ก็ด้วยระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตย ที่เปิดโอกาสให้ชนพื้นเมืองสามารถรวมกลุ่ม ต่อรองและต่อสู้ มาตลอดสองร้อยปี ที่ทำให้ในที่สุดได้เปลี่ยนวิธีคิดของนักป่าไม้และการจัดการป่าให้หันมายอมรับสิทธิตามประเพณีควบคู่ไปกับการจัดการป่า

Advertisement

แต่ในไทย ที่ลอกเลียนแบบอุทยานอเมริกา กลับมีทิศทางถอยหลัง ส่วนหนึ่งเพราะว่าประวัติศาสตร์การผูกขาดอำนาจการจัดการทรัพยากรในมืองของรัฐราชการ ดำเนินมาช้านาน และถูกทำให้แย่ลงด้วยรัฐประหารซ้ำซาก ทำให้ระบอบการเมืองกลายเป็นศูนย์อำนาจของข้าราชการ สิทธิชุมชนที่ถูกตราไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2540 ก็ถูกฉีกทิ้งทำลายโดยรัฐประหารในเวลาต่อมา และทำให้การจัดการป่า กลายเป็นพื้นที่ทางการทหาร (Militarization of national park) ที่หากไม่ส่งกองกำลังทหารเข้าไป เจ้าหน้าที่ป่าไม้ก็ทำตัวเป็นทหารเสียเอง

ปิ่นแก้วเสนอว่า การจะต่อสู้กับอำนาจนิยมในการจัดการทรัพยากร ต้องต่อสู้กับการผูกขาดอำนาจของรัฐราชการ และระบอบราชการที่ครองอำนาจนำในสังคมไทย และหนทางในการต่อสู้ในเรื่องนี้ มีอยู่ทางเดียว คือการทำให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย ทำให้กลุ่มองค์กรชนเผ่าทั้งหลาย มีเสรีภาพ ที่จะจัดตั้ง รวมตัว และเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อต่อรอง และเรียกร้องสิทธิของตนได้ จึงจะค่อยๆปฏิรูปทิศทางของการจัดการทรัพยากรให้ไปสู่มือของประชาชนได้

อานันท์ กาญจนพันธุ์ เห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้น มีสาเหตุอย่างน้อย 3 ประการคือ 1. กระบวนการยุติธรรมที่ล้มเหลว เพราะการใช้กฎหมายมีแต่แง่ลบ ไม่เคยใช้กฎหมายในแง่บวก มุ่งแต่จะจับเฉพาะคนยากจน แต่ถ้าเป็นคนรวย หากบุกรุกป่า ก็จะให้เช่าต่อ เพราะลงทุนไปเยอะแล้ว กฎหมายให้รางวัลคนทำผิด ทั้งที่กรมป่าไม้และกรมอุทยานเอง ก็ขาดงบประมาณและกำลังคน แต่กลับไม่เคยใช้กฎหมายในการให้รางวัลชาวบ้านที่รักษาป่า

2. สิทธินั้นมีความหลากหลาย แต่กฎหมายไทยนั้นคับแคบ รู้จักเพียงสิทธิของรัฐและเอกชน ทั้งที่ทั่วโลกมีการรับรองสิทธิอื่นๆมากมาย เช่น สิทธิทางวัฒนธรรม ในแคนาดามีการให้สิทธิแก่คนพื้นเมืองในประเพณีที่เคยปฏิบัติมา แม้ว่าคนขาวจะไม่เคยปฏิบัติ หรือไม่รู้จักก็ตาม สิทธินั้นมีหลายประเภท ทั้งสิทธิมนุษยชน สิทธิในการมีส่วนร่วมของประชาชน ในประเทศที่เจริญแล้ว ไม่มีใครใช้สิทธิประเภทเดียวจัดการประเเทศ ระบบที่จำกัดตัวเองอยู่ในโลกแคบๆเช่นไทย จะพาให้ตนเองล้มเหลวในที่สุด

3. นักสิทธิชุมชน มักใช้เรื่องสิทธิชุมชนที่อ้างอิงกับความยากจนเพียงอย่างเดียว ซึ่งถือเป็นการใช้เรื่องสิทธิแต่ในแง่ลบเหมือนกัน แต่สิทธิชุมชนสามารถที่จะทำหน้าที่ในการอุดช่องโหว่ของการเอาเปรียบของตลาด ใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมกลไกตลาดที่สร้างปัญหาให้กับสังคมไทยได้ เช่นการให้สิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากร จะช่วยลดการเก็งกำไรในที่ดิน เป็นต้น จึงเป็นการบ้านที่นักสิทธิชุมชนต้องขยายแนวทางของตนเองต่อไป

ปัญหาที่สำคัญในตอนนี้คือการเข้ามาของตลาด เสรีนิยมใหม่ ในการเบียดขับผู้คนและทำลายทรัพยากรอย่างมหาศาล ทั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษและโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ

ชยันต์ วรรธนะภูติ ได้เริ่มต้นด้วยการชี้ให้เห็นว่า ปัญหาการละเมิดสิทธิชาวบ้านที่เกิดขึ้นนั้นมีรากปัญหามาจากการที่ชนพื้นเมืองในประเทศ ไม่ได้รับการยอมรับจากรัฐหรือทางการ โดยเริ่มต้นจากการยุบสถาบันวิจัยชาวเขา ในทศวรรษที่ 2540 โดยรัฐอ้างว่าไม่มีชาวเขาอีกต่อไปแล้ว ในเวทีนานาชาติ รัฐบาลไทยก็ไม่ยอมว่าประเทศไทย มีชนพื้นเมือง ทั้งที่ชาวกะเหรี่ยง ลัวะ ตั้งถิ่นฐานมาก่อนคนไทยในภาคเหนือ ชาวชองในจันทบุรี หรือชาวเลในภาคใต้

รัฐบาลไทยยังไม่ยอมลงนามในข้อตกลงว่าด้วยผู้ลี้ภัย มองผู้ลี้ภัยว่าเป็นผู้พลัดถิ่น การไม่ยอมรับสถานะผู้ลี้ภัย จึงปฏิบัติต่อคนเหล่านี้ โดยไม่สนใจสิทธิของพวกเขา จึงไม่เป็นที่แปลกใจที่เหตุการณ์เช่นกรณี แก่งกระจาน ดาระอั้ง และชาวเลที่หาดราไวย์ได้เกิดขึ้น และโดยที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจและความรุนแรงต่อชนเหล่านี้อย่างไม่สนใจสิทธิของพวกเขา ในกรณีหาดราไวย์ แม้ไม่ใช่ทหาร แต่การอพยพผู้คนด้วยกำลังเป็นที่รับรู้โดยเจ้าหน้าที่ทหารในพื้นที่

ชยันต์เห็นว่า แม้ว่าหน่วยงานรัฐบางหน่วยงาน เช่นกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะมีบทบาทในการเข้ามาสนับสนุนการรวมตัวของชนเผ่าในไทย เช่นการจัดตั้งเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมือง แต่เครือข่ายนี้ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญด้านสิทธิหรือปกป้องสิทธิของชนเผ่า แต่มีเพื่อทำกิจกรรมรวมกลุ่ม หรือจัดแสดงงานประเพณีเท่านั้น

กรณีหาดราไวย์ เป็นความขัดแย้งระหว่างอุทยานแห่งชาติทางทะลกับชาวบ้าน โดยอุทยานต้องการนำพื้นที่ดังกล่าวมาใช้เพื่อแสวงหารายได้จากการท่องเที่ยว เช่นเดียวกับที่แก่งกระจาน ก็พบว่ามีการตัดต้นไม้ขนาดใหญ่ โดยเลื่อยยนต์ที่คนกะเหรี่ยงไม่มีทางมีได้ มีกรณีช้างป่าถูกฆ่าตาย โครงการปลูกเถาวัลย์ในป่า และการฆาตกรรมผู้คน ในแง่นี้ ปัญหาระหว่างอุทยากับชาวบ้านจึงไม่ใช่แค่สิทธิชุมชน แต่เป็นเรื่องผลประโยชน์ของอุทยาน

กรณีแก่งกระจาน การตั้งถิ่นฐานของชาวบ้าน ไม่ถูกยอมรับว่าเป็นชุมชน แม้ว่าจะอยู่มาแต่ดั้งเดิม หมู่บ้านของคนกะเหรี่ยง ต่างไปจากชุมชนภายนอกตรงที่อาจย้ายบ้านตามพื้นที่ทำกิน หรือเมื่อเกิดโรคระบาด อยู่กันเป็นกลุ่มเล็กๆ แต่มีความสัมพันธ์กับคนพื้นราบมานาน แลกเกลือด้วยน้ำพริกและน้ำผึ้ง ทั้งยังมีหลักฐานสมุดราชบุรี สมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งระบุว่ามีกะเหรี่ยงและกะหร่างอาศัยอยู่ในแถบที่เป็นป่าแก่งกระจานมาก่อน กรมประชาสงเคราะห์ก็เคยเข้าไปสำรวจและมอบเหรียญชาวเขาให้ตั้งแต่ก่อนตั้งอุทยาน ชยันต์ตั้งข้อสังเกตว่าหลักฐานเหล่านี้ กลับไม่ได้รับการยอมรับจากทางการแต่อย่างใด

ชยันต์ได้สรุปตอนท้ายว่า การเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย มีส่วนทำให้แนวโน้มการตัดสินของกระบวนการยุติธรรมโอนเอียงได้ กรณีหาดราไวย์ มีการเชิญนักโบราณคดีมาขุดค้นโครงกระดูก และพบว่า DNA ตรงกับชาวบ้าน 11 ครอบครัว แต่กลับไม่เป็นหลักฐานที่ถูกยอมรับ หลักฐานที่ได้รับการยอมรับ กลับเป็นโฉนดที่ดินของรัฐ ทั้งนี้ พื้นที่ของหาดราไวย์ เป็นทำเลทอง ที่นายทุนต้องการเป็นอย่างยิ่ง นอกจากอำนาจนิยมแล้ว ทุนนิยม และเสรีนิยมใหม่ ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่เบียดขับสิทธิชุมชนด้วยเช่นกัน

ในการเสวนาในครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมเสวนา ได้ร่วมแลกเปลี่ยนในประเด็นต่างๆอย่างกว้างขวาง อาทิ อ.บุญชู ณ ป้อมเพชร จากคณะนิติศาสตร์ มช. เห็นว่า ส่วนหนึ่งของปัญหาในกระบวนการยุติธรรมมาจากการที่กระบวนการเรียนการสอนกฎหมายในไทย ที่ไม่สามารถทำให้ผู้เรียนกฎหมาย ที่ต่อมาบางส่วนเมื่อจบออกมาเป็นผู้พิพากษา ห่างไกลจากข้อเท็จจริงของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเข้าใจที่มีต่อชุมชน การฟังพยานหลักฐาน ก็มักฟังแต่พยานหลักฐานเอกสารของรัฐ โดยไม่ค่อยให้ความสำคัญกับพยานผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้มีความรู้ต่างๆ

อ.ชำนาญ จันทร์เรือง
ได้ให้ความเห็นต่อการนำคดีขึ้นสู่ศาลในกรณีแก่งกระจานว่า น่าสังเกตว่าน่าจะผิดแผนก เพราะจริงๆแล้วเรื่องดังกล่าว เป็นเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่เรื่องนี้กลับเป็นการพิจารณาของแผนกสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ชำนาญเห็นว่า คดีดังกล่าว ยังอยู่ในขั้นอุทธรณ์ ซึ่งชาวบ้านยังมีหนทางที่จะต่อสู้คดีอยู่ อ.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ได้ตั้งคำถามว่า เหตุใด civic democracy ในฐานะที่เป็นขบวนการเคลื่อนไหว จึงไม่สามารถขยับเขยื้อนหรือมีพลังมากไปกว่าการยันในระดับพื้นที่ได้ โดยเห็นว่า สิทธิชุมชนยังคงไม่สามารถจับใจชนชั้นกลางได้ เพราะแม้แต่นักกฎหมายแนวหน้าก็ยังไม่เข้าใจเรื่องนี้มากนัก และดังนั้นจึงเป็นภาระกิจที่จะต้องทำให้เรื่องนี้มีความชัดเจน และเข้าถึงชนชั้นกลางให้ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image