มีผลวันนี้ ราชกิจจาฯประกาศเสนอ ‘ข่าว-เฟคนิวส์’ สร้างความหวาดกลัว ถึงตัดไอพี เจอคดี

เน้น ‘สื่อสิ่งพิมพ์-เว็บ’ ราชกิจจาฯประกาศเสนอ ‘ข่าว-เฟคนิวส์’ สร้างหวาดกลัว-บิดเบือน ถึงตัดไอพี-เจอคดีมีผลวันนี้

เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 29)

โดยสาระสำคัญระบุว่า ที่มีการเผยแพร่โดยทั่วไปซึ่งข้อความอันเป็นเท็จที่อาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือน เพื่อให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดหรือสับสน ปฏิบัติตนไม่ถูกต้อง จนเกิดความเสียหายหรือเหตุการณ์ร้ายแรงมากขึ้นในสถานการณ์ฉุกเฉิน จนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือการรักษาสุขภาพของประชาชนโดยผ่านทางสื่อต่างๆ โดยเฉพาะอินเตอร์เน็ต อันเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ฉุกเฉินให้วิกฤตยิ่งขึ้น จำเป็นต้องมีมาตรการที่กำหนดให้การใช้สิทธิหรือเสรีภาพในการแสดงออกเป็นไปอย่างมีเหตุผล ถูกต้องตรงตามข้อเท็จจริงตามกรอบที่รัฐธรรมนูญกำหนด อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ นายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ห้ามผู้ใดเสนอข่าว จำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ในเขตพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

ข้อ 2 ในกรณีมีการเผยแพร่ข้อความหรือข่าวสารตามข้อ 1 ในอินเตอร์เน็ต ให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แจ้งผู้รับใบอนุญาตการให้บริการอินเตอร์เน็ตตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ทุกรายทราบและให้ผู้รับใบอนุญาตดังกล่าวทุกรายมีหน้าที่ตรวจสอบว่าข้อความหรือข่าวสารดังกล่าวมีที่มาจากเลขที่อยู่ไอพี (IP address) ใด หากเป็นเลขที่อยู่ไอพี (IP address) ที่ตนเป็นผู้ให้บริการ ให้แจ้งรายละเอียดตามที่สำนักงาน กสทช.กำหนดให้สำนักงาน กสทช.ทราบ และให้ระงับการให้บริการอินเตอร์เน็ตแก่เลขที่อยู่ไอพี (IP address) นั้นทันที ให้สำนักงาน กสทช.ส่งรายละเอียดตามที่ได้รับแจ้งตามวรรคหนึ่งให้แก่สำนักงานตำรวจแห่งชาติโดยเร็วเพื่อดำเนินคดีต่อไป

Advertisement

ผู้รับใบอนุญาตผู้ใดไม่ปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตการให้บริการอินเตอร์เน็ต และให้สำนักงาน กสทช.ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2564

ด้านนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหาการเผยแพร่ข้อมูลเท็จทางสื่อสังคมออนไลน์ มีมติแต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ การแก้ไขปัญหา การเผยแพร่ข้อมูลเท็จทางสื่อสังคมออนไลน์ ให้แก่หน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ในการทำมาตรการทางปกครอง มาตรการทางภาษี และมาตรการสังคม มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันปราบปราม และแก้ไขปัญหาการเผยแพร่ข้อมูลเท็จทางสื่อสังคมออนไลน์

นายชัยวุฒิกล่าวว่า สำหรับสถิติการระงับข้อมูลที่ไม่เหมาะสมช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม โดยดีอีเอสยื่นคำร้องและแจ้งความดำเนินคดี มีคำสั่งศาลให้ระงับแล้ว 8 คำสั่ง รวม 94 ยูอาร์แอล อยู่ระหว่างพิจารณาของศาล 8 คำร้อง รวม 145 ยูอาร์แอล แจ้งความดำเนินคดีผู้กระทำความผิดนำเข้าข้อมูลไม่เหมาะสม รวม 54 ยูอาร์แอล/บัญชีรายชื่อ ส่วนผลการป้องกันปราบปรามในช่วงเดียวกัน ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.ตร.) หรือ PCT และกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ดำเนินคดีเกี่ยวกับการเสนอข่าวอันไม่เป็นความจริงตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 35 ยูอาร์แอล และขอเชิญสมาชิก 2,409,640 บัญชี ร่วมกันต่อต้านข่าวปลอม พบเห็นแจ้งได้ที่ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมที่ไลน์ @antifakenewscenter

Advertisement

นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า มติ ครม.ให้จัดการเรื่องข่าวปลอมที่ก่อความสับสนต่อสังคมที่ไทยกำลังเผชิญกับโควิด สำนักงาน กสทช.จะตรวจสอบและแก้ไขข่าวปลอมที่เกี่ยวข้องกับ กสทช.และสำนักงาน กสทช.ทันที หากประชาชนพบเห็นข่าวสารแต่ไม่แน่ใจในข้อเท็จจริงแจ้งที่คอลเซ็นเตอร์ของสำนักงาน กสทช. หมายเลข 1200 โทรฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image