“กษิต” มึน รัฐจะปราบข่าวปลอม แต่การข่าวของรัฐเองยังสับสน ขัดกันเองอยู่เลย

“กษิต” มึน รัฐจะปราบข่าวปลอม แต่การข่าวของรัฐเองยังสับสน ขัดกันเองอยู่เลย

เมื่อวันที่ 30 ก.ค. นายกษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เขียนข้อความแสดงความเห็นกรณี รัฐบาลมีคำสั่งจัดการข่าวปลอม ข่าวสารที่บิดเบือนและก่อให้เกิดความหวดกลัวในหมู่ประชาชน โดย ระบุว่า

พลันได้เห็นข่าว นายกฯ มีคำสั่งให้จัดการผู้เผยแพร่ข่าวปลอม หรือ Fake News แล้วก็อดหวั่นใจไม่ได้ว่า ระดับปฏิบัติการจะดำเนินการไปในทิศทางใด เพราะหากไม่เข้าใจเจตนารมย์ของกฎหมายแล้ว มันสุ่มเสี่ยงที่จะไปกระทบสิทธิ์ในการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตใจของประชาชนได้ นั่นจึงทำให้องค์กรณ์สื่อต่างๆ ต้องออกมาร่วมแถลงการณ์คัดค้านกันเป็นแถว

1. หากฝ่ายปฏิบัติการไปสืบหา และจัดการกับกลุ่มคนที่เป้นต้นตอในกระบวนการสร้างข่าวปลอมเลย ก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นการจัดการที่ต้นเหตุ เพียงแต่มันต้องอาศัยฝีมือของเจ้าหน้าที่ในการสืบสวน และอาจจะต้องใช้เวลาพอสมควร

Advertisement

2. หากฝ่ายปฏิบัติเลือกทางสะดวก โดยไปกวาดจับเอาประชาชนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ นำเอาข่าวปลอมมาแชร์โดยไม่รู้ข้อเท็จจริง ก็คงจะต้องจับกันไม่รู้จักจบจักสิ้น เพราะมันเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ หากแต่วิธีนี้ ได้สถิติการจับไปโชว์นายได้ไม่ยาก ซึ่งเรื่องแบบนี้แหละที่จะกระทบต่อสิทธิ์ในการแสดงความคิดเห็น และเพิ่มกระแสต่อต้านโดยไม่จำเป็น

อย่าลืมว่า การจะบอกว่าข่าวใดจริง หรือปลอม ในช่วงที่การข่าวภาครัฐเองยังมีความสับสนเช่นนี้ มันทำได้ยาก วันนึง รมต.สาธารณสุขบอกว่าจะไม่มีการเลื่อนฉีดวัคซีน พอคล้อยหลังไม่กี่วัน ฝ่ายดูแลการฉีดวัคซีนก็ออกมาประกาศเลื่อนทั้งหมด ทำเอาประชาชนงงเป็นไก่ตาแตก ว่าตกลงข้อเท็จจริงคืออะไร เพราะไม่ได้มีคำอธิบายตามมาจากทางภาครัฐ ซึ่งเรื่องแบบนี้ เป็นการเปิดช่องให้ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลเอาไปโจมตีได้โดยสะดวก เหตุใดจึงไม่คิดไปแก้ไข?

วันนึงข่าวการแก้ไขปัญหาโควิด จากหน่วยงานต่างๆ ก็ประกาศกันออกมาเรื่อยๆ ต่างฝ่ายต่างประกาศ บางทีก็ขัดแย้งกันเอง เหมือนไม่ได้มีการคุย หรือประสานงานกันมาก่อน เช่นนี้แล้ว จะบอกว่ารัฐเองคือผู้สร้างความสับสน จนสังคมไม่รู้ว่าอะไรจริงอะไรเท็จได้หรือไม่?

Advertisement

ล่าสุด ผู้ว่าฯ กทม ก็ไปฉะกับ กรมควบคุมโรค เรื่องการกระจายวัคซีน จน นายกฯ ต้องลงมาห้ามทัพ ขนาดในหน่วยงานรัฐกันเอง ข้อมูลยังสื่อสารไม่ตรงกันเลย แล้วจะไปหวังให้ประชาชนแยกแยะจริง-เท็จ ได้อย่างไร?
อุตส่าเอานายกมาเป็นประธานแทบทุกคณะทำงาน แต่เอาเข้าจริง แต่ละคณะก็ดำเนินการไปแบบตัวใครตัวมัน บอกสังคมว่าจะบูรณาการ แต่ไม่เห็นจะมีการร่วมมือใปในทิศทางเดียวกัน

เริ่มด้วยการเรียกทุกฝ่ายมานั่งคุย มานั่งตกลงกันว่าใครจะนำใคร ทิศทางจะไปทางไหน แนวทางคืออะไร ใครมีหน้าที่สื่อสารในองค์กรณ์ไหน ก็น่าจะดี

หลังจากนั้น ก็มอบหมายขึ้นว่า มาใครในหน่วยงานต่างๆ จะเป็นผู้แถลงให้กับประชาชน และใครจะเป็นคนเชคข่าวกับหน่วยงานอื่นๆ ก่อนแถลง จะได้ไม่มาแย้งกันเองให้สังคมสับสน

ส่วนเรื่องจัดการข่าวปลอม ฝ่ายสืบสวนหาต้นตอก็ทำงานไป ฝ่ายแก้ข่าวก็ยิ่งต้องทำงานหนักเป็นสองเท่า เพื่อให้ประชาชนได้รู้ว่า ข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง เมื่อประชาชนรู้ว่ามันเป็นข่าวปลอม เขาก็ไม่ไปวุ่นวาย ไม่ไปแชร์ หรือไปแสดงความคิดเห็น ให้เป็นประเด็นขยายออกไป

บูรณาการการสื่อสารเสียที หน่วยงานรัฐจะได้ไม่สับสน ประชาชนก็ไม่งง
เมื่อทุกฝ่าย รวมทั้งประชาชนมีความเข้าใจในข้อเท็จจริง
จะกี่ร้อย กี่พันข่าวปลอม ก็เขย่าสังคมไทยไม่ได้

อยากฝากถึง นายกฯ ไว้ว่า คนในสังคมไทย นั้นเป็นสังคมประชิปไตย
จึงไม่เหมือนระบบทหาร ที่สั่งลงมาแล้วก็จบ
ซึ่งหากต้องการให้เขาไปทางไหน ก็ต้องมีข้อมูล และคำอธิบายที่ชัดเจน
เขาจะได้พร้อมใจ ร่วมเดินไปทิศทางเดียวกันกับท่านได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image