อ.นิติจุฬาฯ ชี้ห้ามเสนอข่าวให้หวาดกลัว ไร้มาตรวัดชัดเจน แนะยื่นศาลรธน.วินิจฉัย

อ.นิติจุฬาฯ ชี้ห้ามเสนอข่าวให้หวาดกลัว ไร้มาตรวัดชัดเจน แนะยื่นศาลรธน.วินิจฉัย

เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์แนวทางกฎหมายต่อกรณีการออกข้อกำหนดฉบับที่ 27 และ 29 ตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 อาจปิดกั้นการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ว่า หากมีการดำเนินคดีขึ้นตามข้อกำหนดดังกล่าวจะขึ้นต่อศาลยุติธรรมและประชาชนสามารถยกข้อกำหนดดังกล่าวขึ้นมาร้องว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะมีลักษณะละเมิดเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ถ้ามีการร้องแบบนี้ หากหน่วยงานของรัฐสู้ว่า ข้อกำหนดนี้มีเนื้อหาเดียวกันกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และหากข้อเท็จจริงปรากฏว่าศาลรัฐธรรมนูญยังไม่เคยมีคำวินิจฉัยกรณีนี้มาก่อนว่าขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ย่อมอาศัยช่องทาง มาตรา 212 ของรัฐธรรมนูญ แล้วต้องหยุดการพิจารณาและ ขอให้ศาลที่กำลังวินิจฉัยส่งเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ เข้ามาเพื่อวินิจฉัยว่า ตัวข้อกำหนด บทบัญญัติใน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9 ที่เป็นที่มาของเนื้อหาในข้อกำหนดนั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยส่วนตัวยืนยันว่าข้อกำหนดดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะไม่มีมาตรวัดที่ชัดเจนว่าอะไรคือเฟคนิวส์ อะไรคือข้อความที่ทำให้เกิดความหวาดกลัวต่อประชาชน แต่กลับเปิดโอกาสให้รัฐเพียงฝ่ายเดียวผูกขาดที่จะใช้ดุลพินิจและชี้ว่านี้คือข้อความเฟคนิวส์ นี่คือข้อความที่ก่อให้เกิดความหวาดกลัวกับประชาชน เมื่อมาตรวัดไม่ชัดและเอื้อให้ภาครัฐฝ่ายเดียวเป็นผู้กำหนด ตามหลักการแล้ว ชัดเจนว่าถือเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากจนเกินสมควรแก่เหตุ ซึ่งขัดต่อมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญ คือรัฐอาจจำกัดสิทธิเสรีภาพได้แต่ต้องไม่เกินสมควรแก่เหตุ แต่ตอนนี้เป็นการกำจัดสิทธิเสรีภาพที่เกินสมควรแก่เหตุแล้ว และในหลักการของรัฐธรรมนูญหากจะจำกัดการใช้สิทธิเสรีภาพต้องมีความชัดเจน ถ้าไม่ชัดเจนถือว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ

เมื่อถามว่า รัฐได้มีรายการชี้แจงทำความเข้าใจกับสื่อและประชาชนเกี่ยวกับพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯฉบับที่ 29 โดยระบุว่า ประชาชนยังคงสามารถวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลได้เหมือนเดิม ตรงนี้เพียงพอแล้วหรือไม่ ผศ.ดร.พรสันต์ กล่าวว่า ยังไม่เพียงพอ ตามที่อธิบายข้างต้นว่าเมื่อมาตรวัดไม่มีความขัดเจนและขัดต่อรัฐธรรมนูญก็ควรที่จะยกเลิกข้อกำหนดดังกล่าวด้วย แม้รัฐจะออกมาชี้แจงว่าไม่ได้ห้าม ประชาชนสามารถใช้สิทธิเสรีภาพได้ตามปกติ แต่ต้องไม่ลืมว่า ข้อกำหนดมีบทลงโทษทางอาญาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่มาตรวัดไม่ชัดว่าอะไรคือเฟคนิวส์ และข้อความที่ ตรงนี้ก่อให้เกิดความหวาดกลัวต่อประชาชน ฉะนั้นเมื่อไม่ชัดอย่างนี้จึงส่งผลให้ประชาชนหรือสื่อไม่กล้านำเสนอข้อมูล หรือแสดงความคิดเห็น เพราะเกรงว่าในอนาคตถ้ารัฐชี้ว่าข้อความขัดขัดต่อข้อกำหนดถูกลงโทษดำเนินคดีได้ ตรงนี้จึงทำให้คนไม่กล้าใช้เสรีภาพไปโดยปริยาย ฉะนั้นตราบใดที่ยังไม่มีมาตรวัดที่ชัดเจนที่ควรยกเลิกข้อกำหนดและมาตรการในการดำเนินคดีกับประชาชน เพราะอย่าลืมว่า รัฐบาลเข้ามาทำหน้าที่ในฐานะเป็นผู้แทนของประชาชนในการเข้ามาบริหารราชการ คุณอาสาเข้ามาทำงาน เมื่ออาสาเข้ามาทำงาน ดังนั้นตราบใดที่สื่อมวลชนและประชาชนใช้เสรีภาพโดยไม่ได้มีเจตนามุ่งร้าย แต่เป็นการแสดงความคิดเห็นพูดอภิปรายเรื่องการทำงานของรัฐบาล อย่างไรรัฐธรรมนูญก็คุ้มครองตามหลักประโยชน์สาธารณะ และ ตรงนี้รัฐบาลต้องเคารพในการใช้เสรีภาพของประชาชน แล้วเป็นรัฐบาลต้องมีความอดทนอดกลั้นต่อการวิพากษ์วิจารณ์นี่คือหัวใจความสำคัญของระบอบประชาธิปไตยแบบผู้แทนที่รัฐต้องเข้าใจ

เมื่อถามว่า ภายใต้การบังคับใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ การแสดงความคิดเห็นถูกจำกัด และเมื่อเจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจตามกฎหมายดังกล่าวย่อมได้รับการคุ้มครองตาม มาตรา 17  ได้หรือไม่ ผศ.ดร.พรสันต์ กล่าวว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินอย่างไรก็อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ไม่ได้ใหญ่ไปกว่ารัฐธรรมนูญ ฉะนั้นรัฐจะอ้างเรื่องสถานการณ์ฉุกเฉินไม่ได้เพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากเกินสมควรไม่ได้ และสุดท้ายหน่วยงานของรัฐดำเนินคดีได้ ต่อให้เป็นพ.ร.ก.ฉุกเฉินก็ไม่ได้คุ้มครองการปฎิบัติหน้าที่นี้ แม้จะมีการอ้าง มาตรา 17 ก็ไม่สามารถคุ้มครอง เพราะคุ้มครองก็ต่อเมื่อเป็นการกระทำที่สุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และที่สำคัญต้องไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือเป็นกรณีที่มีความจำเป็น ดังนั้น หากปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการ เช่น ดำเนินคดีกับประชาชน หรือสื่อมวลชนไปโดยไม่สุจริต หรือเลือกปฏิบัติฟ้องร้องแค่บางคนบางส่วน หรือข้อกำหนดนี้จำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพเกินสมควร จะถือว่าเจ้าหน้าที่ย่อมไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย มาตรา 17 ถ้าบังคับใช้ และประชาชนหรือสื่อมวชนที่ได้รับผลย่อมสามารถฟ้องร้องกลับได้ และเจ้าหน้าที่จะเอา มาตรา 17 มาอ้างข้อคุ้มครองไม่ได้ ให้รับผิดทั้งทางแพ่งทางอาญาและทางวินัยได้

Advertisement

นอกจากนี้ ผศ.ดร.พรสันต์ กล่าวว่า อีกช่องทางที่สามารถตรวจสอบการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐได้ว่าถือเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอันเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ คือการยื่นคำร้องทุกข์ทางรัฐธรรมนูญต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ตามมาตรา 213 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกรณีที่ประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญ เขียนคุ้มครองว่า บุคคลที่ถูกละเมิดสิทธิ์หรือเสรีภาพที่คุ้มครองไว้ ซึ่งสามารถยื่นคำร้องได้ผ่านตัวผู้ตรวจการแผ่นดินและจะส่งไปให้กับศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อเข้ามาวินิจฉัยว่า การกระทำของรัฐที่กำลังดำเนินการอยู่นั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ และศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาวินิจฉัยเห็นว่าการกระทำของรัฐเป็นการละเมินสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ จะมีการสั่งให้หยุดการกระทำ

“ตราบใดที่มาตรการของรัฐยังไม่มีความชัดเจนแน่นอน ย่อมไม่สามารถออกมาเป็นมาตรการในการใช้เป็นเกณฑ์เพื่อมาจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ เพราะสิ่งที่รัฐกำลังดำเนินการอยู่ตอนนี้ จะไม่ใช่เพียงแค่การ “จำกัดสิทธิเสรีภาพ” เท่านั้น แต่เป็นการ “กำจัดสิทธิเสรีภาพ” ของประชาชน ทำให้พวกเขาไม่กล้าพูดไม่กล้าวิจารณ์ทั้งๆ ที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญรับรองและคุ้มครอง ” ผศ.ดร.พรสันต์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image