วิพากษ์ไอเดีย กกต. จับแคนดิเดตนายกฯดีเบต

หมายเหตุ – ความเห็นของนักวิชาการและนักการเมือง กรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เสนอแนวทางการปฏิรูปการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือก ส.ส. โดยเสนอให้ผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองต้องดีเบตนโยบายของพรรค 5-6 ครั้ง ผ่านการออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์

นพดล ปัทมะ
แกนนำพรรคเพื่อไทย

การดีเบตเพื่อให้ประชาชนรับทราบนโยบายและความคิดของแคนดิเดตนายกฯเป็นสิ่งที่ดีและควรทำ แต่อาจไม่ต้องถึงขนาดเป็นกฎหมาย ควรให้เป็นธรรมชาติและเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองและแม้ในสหรัฐหรืออังกฤษที่การดีเบตก่อนเลือกตั้งเขาทำกันเป็นปกติ แต่ไม่ใช่บังคับโดยกฎหมาย

ส่วนข้อเสนอในการร่างกฎหมายพรรคการเมืองและกฎหมายเลือกตั้งของฝ่ายต่างๆ ตอนนี้แนวคิดถูกโยนออกมาหลากหลาย แต่ยังไม่นิ่งและตกผลึก จึงไม่อยากวิจารณ์และตอบโต้กันไปมา เมื่อประเด็นชัดพอควรแล้วทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องคงจะได้ศึกษาและให้ความเห็น แต่ส่วนตัวเห็นว่าการปฏิรูประบบการเมืองต้องเดินหน้าเพื่อให้การเมืองมีความสุจริตและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

Advertisement

ผู้เขียนกฎหมายคงมีเจตนาดีและแม้เนื้อหาจะเข้มขึ้นแต่ถ้าประชาชนและประเทศได้ประโยชน์ ผมว่าน่าจะยอมรับกันได้ แต่กฎเกณฑ์ควรเป็นธรรม เท่าเทียม และได้สัดส่วนกับการกระทำความผิด มีความชัดเจนและอย่าสุดโต่งจนเกินไป เพราะการกำหนดโทษสูงอย่างเดียวยังแก้ปัญหาไม่ได้ ต้องมีมาตรการอย่างอื่นเสริมด้วยเช่นมาตรการทางสังคม

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

คิดว่าเกิดความย้อนแย้งในตัวเอง คือพรรคที่จะเสนอนายกฯ เขาก็เสนอผ่านแล้วจากการเลือกตั้ง อีกส่วนหนึ่ง ในการที่พรรคชนะการเลือกตั้ง ต้องมีนโยบายในการนำเสนอประชาชน และนำเสนอผู้สมัคร หรือหัวหน้าพรรค จากนั้นก็ดูจากการเสนอนโยบาย ชูตัวนายกฯ แล้วมาโหวตกันที่สภาอีกรอบ แต่อันนี้ กกต.ให้ว่าที่นายกฯเสนอนโยบายซ้ำ ทำให้เกิดความซ้ำซ้อนเข้าไปอีก

Advertisement

ด้านหนึ่ง กกต.คงมีวิธีคิดว่าการให้ว่าที่นายกรัฐมนตรีเสนอนโยบาย ดีเบตออกโทรทัศน์ก็เพื่อดูวิธีคิด วิสัยทัศน์ในการสื่อสารกับสังคม แต่ทำให้เกิดความซ้ำซ้อน ล่าช้าในการจะได้มาซึ่งตัวนายกฯ ผมมองว่า กกต.ไม่สมควรเข้าไปแทรกแซงมากไป

กกต.ต้องวางตำแหน่งตัวเองให้ชัดคือ มีหน้าที่ในเรื่องการเลือกตั้ง คุมการเลือกตั้ง การวางตำแหน่งของ กกต. ต้องชัดเจน คิดว่าหลังจากที่ กกต. รู้สึกว่ากำลังถูกแทรกแซงจากฝ่ายมหาดไทยพยายามดิ้นจนออกมาเป็นอย่างที่เห็น

การที่ให้ว่าที่นายกฯออกมาดีเบตนโยบายนั้น ไม่ต้องเขียนลงเป็นข้อกฎหมายก็ได้ ถ้าอยากให้ดีเบตขึ้นจริงๆ ก็อาจจะจัดเป็นแคมเปญ หรือข้อเสนอ ว่าสังคมต้องการไหม การลงรายละเอียดในกฎหมายจะทำให้เกิดความซ้ำซ้อนเข้าไปอีก รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ซับซ้อนพออยู่แล้ว ต้องเข้าใจก่อนว่ากระบวนการเหล่านี้ไม่ได้มีไว้เพื่อการคัดหาคนที่ดี แต่เป็นการสร้างการเรียนรู้ทางการเมืองของประชาชน พยายามทำให้คนเกิดการเรียนรู้จากกลไกรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ทำให้ซับซ้อนจนคนรู้สึกว่ายากและไม่อยากเรียนรู้ แล้วการเมืองทั้งหมดจะอยู่ที่ชนชั้นนำ และพัฒนาอะไรไม่ได้

นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

ผมไม่แน่ใจว่าการจะเขียนสิ่งเหล่านี้ไว้ในกฎหมายจะกระทำได้หรือไม่ เพราะการเขียนลักษณะนี้เป็นการบังคับให้กระทำ เนื่องจากการจะดีเบตหรือไม่ ถือเป็นสิทธิของตัวผู้สมัคร ถ้าเขาเลือกที่จะไม่ไปดีเบตนโยบายต่อสาธารณะก็จะเสียคะแนนไปเอง สิ่งเหล่านี้ควรจะนำมาเป็นพัฒนาการทางการเมืองมากกว่าที่จะนำมาไว้ในรูปแบบของกฎหมายเพื่อหวังบังคับให้ผู้สมัครกระทำตาม

ปกติแล้ว ผู้ที่จะมาสมัครเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือ หัวหน้าพรรคที่จะถูกเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรี ควรจะไปดีเบตแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณชนอยู่แล้ว เพราะถือเป็นสิ่งที่ควรจะกระทำ แต่ยังไม่เห็นว่าจะต้องมีเจตจำนงไปเขียนกฎหมายบังคับเอาไว้แต่อย่างใด ที่ผ่านมามีการจัดเวทีเพื่อให้พรรคการเมืองได้แสดงความคิดเห็นและนโยบายที่เป็นเวที กกต. ก็มีอยู่แล้ว ทั้งการจัดในพื้นที่ต่างจังหวัดในแต่ละภูมิภาค ซึ่งผู้สมัคร ส.ส.จะไปร่วมดีเบตหรือไม่ก็ได้

ผมยังสงสัยว่าการบังคับด้วยการเขียนกฎหมายเช่นนี้จะทำได้หรือไม่ และไม่แน่ใจว่า ระหว่างสิ่งที่ควรจะกระทำและสิ่งที่ต้องกระทำ เพราะโดยหน้าที่ผู้สมัคร เมื่อลงเล่นการเมืองต้องไปดีเบตหาเสียงอยู่แล้ว

สมมุติมีการเขียนกฎหมายบังคับเช่นนี้จริง แล้วถึงวันดีเบตออกอากาศ ปรากฏว่า ผู้สมัคร ส.ส.ที่ถูกพรรคการเมืองเสนอรายชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรี เกิดอาการป่วยหนัก ป่วยกะทันหัน เจ็บคอ หลอดลมอักเสบ พูดไม่ได้ แล้วเขามีใบรับรองแพทย์จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมายืนยัน ถามว่า กฎหมายรับรองสิทธิอะไรตรงนี้ของผู้สมัครท่านนั้นได้หรือไม่ จะไปตัดสิทธิเขาเลยหรือไม่ เพราะที่เสนอมาเป็นเพียงข้อบังคับในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ คือ กฎหมายลูก ซึ่งถามว่าจะไปใหญ่กว่ากฎหมายแม่ที่ยิ่งใหญ่กว่า คือ รัฐธรรมนูญได้อย่างไร จะเขียนขัดแย้งกับกฎหมายที่สูงกว่าได้อย่างไร เพราะรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้ไประบุสิทธิตรงนี้

แต่เมืองไทยก็แปลกอยู่อย่างหนึ่ง คือ บางเรื่องที่ไม่ควรและไม่จำเป็นจะต้องมาเขียนเป็นกฎหมายก็เอามาเขียนไปเสียหมด

ชำนาญ จันทร์เรือง
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์

ถ้าจัดดีเบตอย่างนี้แล้วนายกฯคนนอกจะเอานโยบายที่ไหนไปดีเบต เพราะไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคแล้วจะมีส่วนในการกำหนดนโยบายได้อย่างไรหรือมีส่วนกำหนดบ้างแล้วจะไปรู้นโยบายดีกว่าพรรคเขาได้ยังไง จริงอยู่ว่าเป็นการทาบทามในพรรคแต่เจ้าตัวต้องยินยอม แล้วไม่ได้เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขพรรคเขาจะรู้ได้ยังไง

ยิ่งถ้านายกฯคนนอกก๊อกสอง กรณีที่รอบแรกไม่สามารถหาได้ รอบสองจะหนักเลย ส.ว.โหวตไม่ต้องมาจากพรรคไหนทั้งนั้นยิ่งเป็นไปไม่ได้ ของแบบนี้อย่าลืมว่าจะชั่วจะดีจะชอบหรือไม่อย่างไรระบบพรรคการเมืองเป็นระบบตัวแทนของความคิดเห็น เป็นตัวแทนของความต้องการของประชาชน ไม่ว่าพรรคเล็กใหญ่ก็เป็นตัวแทนของกลุ่มผลประโยชน์ ซึ่งภาษาทางรัฐศาสตร์

คำว่ากลุ่มผลประโยชน์เป็นคำกลางๆ ไม่บวกไม่ลบ เป็นตัวแทนของกลุ่มวิชาชีพ เกษตรกร แม่บ้าน นักวิชาการ แล้วในระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ไม่มีทางที่พรรคเดียวจะตั้งรัฐบาลได้ ต้องไปประสานกับพรรคอื่นอีก 2-3 พรรค แล้วจะเอานโยบายพรรคไหนเป็นหลัก พอไปรวมกันก็ไม่แน่ว่าจะได้ครองกระทรวงเศรษฐกิจทั้งหมดหรือเปล่า ความมั่นคงทั้งหมดหรือเปล่า ต้องคละกันอีก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงจากพรรคหนึ่ง รัฐมนตรีช่วยมาจากอีกพรรคหนึ่ง

มองว่าก็เสนอความเห็นได้ แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นนายกฯมาดีเบต พรรคนั่นแหละที่เสนอนโยบาย ไม่อย่างนั้นจะมีพรรคการเมืองไว้ทำไม ให้พรรคเสนอเพราะ ส.ส.ของเขาไปหาเสียง หัวหน้าพรรคคนนอกพูดไปอย่าง ส.ส.พูดหาเสียงอีกอย่างหนึ่ง จะเป็นไปได้อย่างไร

กรณีที่มีนายกฯคนนอก ตัวนายกฯกับ ส.ส.ต้องขัดกันอยู่แล้ว ส.ส.ในพื้นที่หาเสียงไว้อย่างหนึ่ง นายกฯคนนอกมาทีหลัง เพิ่งได้รับการทาบทามไม่กี่วันจะไปพูดอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นไปไม่ได้

ผมว่า กกต.เอาไอเดีย เอาแนวความคิดต่างๆ มาพัฒนาจัดการการเลือกตั้งให้เป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย บริสุทธิ์ยุติธรรม และเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพจะดีกว่า

เรื่องพรรคการเมืองเป็นวิวัฒนาการ จริงอยู่ที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้พรรคการเมืองเติบโตได้ยาก แต่พรรคการเมืองก็มีวิวัฒนาการของมัน แม้จะถูกยุบไปก็ต่อสายกันได้ตลอด

อย่างนี้เป็นการดีเบตผิดฝาผิดตัว กรณีการดีเบตของอเมริกา ประธานาธิบดีของเขาเป็นทั้งประมุขทั้งหัวหน้าฝ่ายบริหาร ระบบเขาแยกจากสภา เขาสามารถดำเนินนโยบายได้อย่างอิสระ ไม่ต้องผ่านมติไม่ไว้วางใจจากสภา แล้วของเรามีรัฐธรรมนูญครอบไว้อยู่แล้ว

นอกเหนือจากหน้าที่ของรัฐแล้วยังมีแนวนโยบายแห่งรัฐ และมีการปฏิรูปอีก 20 ปี กระดิกแทบไม่ได้ พูดจริงๆ แล้ว ผมคิดว่าหลังรัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกมา นายกฯแทบไม่ต้องประกาศนโยบายเลย เพราะทำอะไรไม่ได้เลยสักอย่าง ต้องทำตามรัฐธรรมนูญอย่างเดียว

การดีเบตเป็นแนวปฏิบัติ ดีเบตก็จะมีปัญหาอีก ถ้ามี 30-40 พรรคเสนอนโยบาย จะเสนอนโยบายอย่างไร ดีเบตอย่างไร ดีเบตทีละ 30 คน คนละ 3 นาทีเหรอ การดีเบตต้องแฟร์ ต้องให้โอกาสทุกคนที่เป็นผู้สมัครไม่ว่าจะพรรคเล็กพรรคใหญ่ต้องมีโอกาสพูด จะสุ่มหรือตัดเวลาไม่ได้

ส่วนข้อเสนอการปฏิรูปการรับสมัครที่เพิ่มค่าสมัคร ส.ส. จาก 5,000 บาท เป็น 10,000 บาท เพื่อป้องกันผู้สมัครที่ไม่ประสงค์เป็น ส.ส.ไม่หาเสียง แต่สมัครเพื่อแสดงตัวต่อสาธารณะนั้น โดยหลักวัฒนธรรมทางการเมืองของผู้คนในโลกมี 3 ระดับ 1.วัฒนธรรมดั้งเดิม ไม่สนใจไยดีอะไรทั้งนั้น 2.วัฒนธรรมแบบไพร่ฟ้า ใครว่ายังไงก็ว่ากัน ให้ทำก็ทำ ให้ไปเลือกตั้งก็ไป แต่ถ้าให้มีส่วนร่วมจะไม่เอา 3.วัฒนธรรมที่เจริญที่สุด ดีที่สุด คือ วัฒนธรรมการมีส่วนร่วม

เราต้องทำให้คนมีส่วนร่วมไม่ใช่เหรอ จะไปสร้างแบริเออร์กีดกันทำไม เป็นสิทธิของเขา คนลงสมัครต้องหวังชนะอย่างน้อยในพื้นที่ ไม่ชนะครั้งแรกอาจจะอยากปูฐานไปครั้งต่อไป

หลายคนก็สั่งสมประสบการณ์ขึ้นมา สมัครหลายครั้งก็ไม่ได้รับเลือก บอกว่าเขาต้องการชื่อเสียง แล้วยังไง ทุกคนมีสิทธิ ผิดกฎหมายตรงไหน แล้วเงินห้าพันบาทกับหนึ่งหมื่นบาทสำหรับเศรษฐีคนมีตังค์ก็ไม่ต่างกันหรอก แต่คนจน สมมุติว่าผมอยากสมัครด้วยเงินเดือนอาจารย์ หนึ่งหมื่นบาทนี่เยอะนะ นี่เป็นการกีดกันคนจน เป็นการเลือกปฏิบัติ ดูให้ดีว่าจะขัดกับรัฐธรรมนูญหรือเปล่า

ชื่อเสียงใครก็แสวงหาได้โดยสุจริต ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ได้ไปฆ่าใครตาย ไม่ได้ไปละเมิดใคร ที่แน่ๆ อันนี้ผมตีความได้ว่าเป็นการเข้าข่ายเลือกปฏิบัติมาตรา 27 ของรัฐธรรมนูญ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image