ถอดรหัสแจ้งจับข่าวปว. ตามหลัง‘บิ๊กตู่’สั่งลุยเฟคนิวส์

หมายเหตุ – ความเห็นนักวิชาการกรณี พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) มอบให้ พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ ผู้อํานวยการ สํานักงานพระธรรมนูญทหารบก (ผอ.สธน.ทบ.) เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเผยแพร่ข่าวอันเป็นเท็จ การปล่อยข่าวเผยแพร่ลงในโซเชียลมีเดีย อ้างว่า ผบ.ทบ.ทําการรัฐประหาร และเป็นช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เพิ่งประกาศคุมเข้มปัญหาเฟคนิวส์

สิริพรรณ นกสวน สวัสดี
นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การใช้กฎหมายปราบเฟคนิวส์ทำให้รัฐบาลถูกกระแสตีกลับค่อนข้างมาก กระทั่งมีเรื่องของการทำรัฐประหารมากลบเกลื่อน แต่มีความเห็นของนักวิชาการจำนวนมากออกมาชี้ให้เห็นว่า การใช้กฎหมายดังกล่าวเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และต้องรอให้มีการชี้ขาดจากอำนาจศาล หากมองในแง่การใช้กฎหมายปิดปากประชาชน ปิดปากสื่อมวลชน ในหลักการพบว่าวิธีการขัดแย้งกับการวางเป้าหมาย

หากรัฐต้องการกำจัดเฟคนิวส์ก็ควรจะต้องเปิดกว้างให้มีช่องทางการสื่อสาร ขณะเดียวกันมีการตั้งข้อสังเกตว่าข่าวสารเข้าข่ายคลาดเคลื่อน บางเรื่องมีการเผยแพร่ออกมาจากฝ่ายของรัฐบาล ถ้าไม่มีใครออกมาพูดก็จะไม่รู้ว่ามีข่าวลือเรื่องการทำรัฐประหาร ยอมรับว่าเงียบมาก สื่อมวลชนให้ความสนใจบ้าง แต่ไม่มาก ทั้งที่สถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้ร้อนระอุ แต่เชื่อว่าจะยังไม่มีการรัฐประหารเกิดขึ้น เนื่องจากทำแล้วจะมีความชอบธรรมเกิดขึ้นอีกในยุคนี้คงยากมาก ที่สำคัญยังไม่ได้เห็นความแตกแยก หรือความขัดแย้งรุนแรงของรัฐบาลชุดนี้กับทหาร เพราะยังมีกลุ่ม คสช.เคยทำรัฐประหารให้การสนับสนุนกับกองทัพ

Advertisement

หากรัฐประหารจะเกิดขึ้นได้ก็คงเป็นช่วงเดือนกันยายน 2564 อาจมีเรื่องของผลประโยชน์ไม่ลงตัวภายในกองทัพ หรือชนชั้นนำ โดยเฉพาะการแต่งตั้งโยกย้ายหลายตำแหน่ง รวมทั้งการแต่งตั้งปลัดกระทรวงมหาดไทย อาจเป็นเหตุผลของการยึดอำนาจ ไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ของประชาชน เพียงแต่ฉวยโอกาสกระแสของประชาชนไม่พอใจ พล.อ.ประยุทธ์ค่อนข้างสูงถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือ เพราะฉะนั้นเมื่อการทำรัฐประหารไม่ได้มีเป้าหมายทำเพื่อประชาชน ความชอบธรรมที่จะเกิดขึ้นก็ไม่มี และจะทำสำเร็จได้ยาก

ยืนยันว่าการทำรัฐประหารไม่ควรเกิดขึ้นอีกใน พ.ศ.นี้ หรือหากจะมีอีกก็คงไม่เหมือนการพาลุงกำนันนำม็อบนกหวีดกลับไปพักผ่อนในปี 2557 ดูเหมือนจะมีการวางแผนร่วมกัน

เพราะฉะนั้นการทำรัฐประหารครั้งต่อไปไม่มั่นใจว่าจะจบสวยแบบเดิมหรือไม่ แม้ว่าการทำรัฐประหารที่ผ่านมาจนถึงปี 2557 แต่ขณะนี้ถึงปี 2564 ผ่านมา 7 ปี ความรู้สึกของประชาชนกับการรัฐประหารได้รับการเรียนรู้ว่าผลกระทบเป็นอย่างไร ทำให้การยอมรับในการทำรัฐประหารในสังคมไทยต่างไปจากเดิมมาก

หากมีการทำรัฐประหารเพื่อเอา พล.อ.ประยุทธ์ออกไปจากตำแหน่ง ก็ไม่สามารถสร้างการยอมรับได้ นอกจากนั้น หลังรัฐประหารแล้วโจทย์ใหญ่ของชนชั้นนำจะเอาใครไปทำหน้าที่เป็นผู้นำรัฐบาล ทั้งที่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองควรใช้กระบวนการผ่านรัฐสภาตามกติกาที่กำหนดไว้ ไม่เช่นนั้นปัญหาจากการทำรัฐประหารก็จะนำไปสู่ทางตันของการเมืองไทย และจะมีคำถามใหญ่ถึงทหารว่ามีความชอบธรรมอะไรจากการทำรัฐประหารในภาวะวิกฤตโรคระบาด ขณะที่ทหารไม่เคยออกมาช่วยเหลือประชาชนทั้งที่มีกำลังพล มีงบประมาณจำนวนมาก

ดังนั้น หากมีการทำรัฐประหารเกิดขึ้นในวันนี้ต้องถามว่ากองทัพมีความชอบธรรมอย่างไร

ยุทธพร อิสรชัย
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

สถานการณ์ขณะนี้ความเชื่อมั่นของรัฐบาลค่อนข้างมีปัญหา จากการสื่อสารทางการเมืองในภาวะวิกฤต ทำให้มีเสียงวิจารณ์เรื่องการบริหารจัดการโควิด-19 การจัดหาวัคซีน รวมไปถึงการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ดังนั้น ความชอบธรรมทางการเมือง หรือการยอมรับจากประชาชนเป็นปัญหาตามมา ทั้งความไม่เชื่อมั่นทางการเมือง แม้จะมีคำสั่งตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อปราบปรามเฟคนิวส์และข้อมูลที่ทำให้ประชาชนหวาดกลัว จึงไม่สามารถบังคับ หรือควบคุมกำกับได้ ในทางกลับกันก็มีกลุ่มบุคคลพยายามสร้างสถานการณ์ เพราะไม่ชอบรัฐบาล หรือมีเป้าหมายอื่น จึงมีการปล่อยข่าวบางเรื่องออกมา ทำให้ประชาชนเชื่อว่าอาจจะเป็นเรื่องจริงได้กับความถดถอยเรื่องของความเชื่อมั่นต่อรัฐบาล

เพราะฉะนั้นจุดนี้สิ่งที่จะแก้ไขได้ จึงไม่ใช่เรื่องของการไล่จับขบวนการเฟคนิวส์ ไม่มีหนทางจะปราบได้หมด และปรากฏการณ์แบบนี้ก็มีโอกาสเกิดขึ้นต่อเนื่อง ดังนั้น สิ่งที่รัฐต้องทำไม่ใช่การออกคำสั่งตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อควบคุมกำกับ มีผู้ไม่เห็นด้วยจำนวนมาก มีกระแสวิจารณ์จากแวดวงสื่อมวลชน การออกแถลงการณ์ของบรรดานักวิชาการ สิ่งที่ภาครัฐต้องทำคือทบทวนตัวเองว่าขบวนการสื่อสารมีปัญหาอย่างไรหรือไม่ ทำให้ความเชื่อมั่นไม่เกิดขึ้น ทำให้เฟคนิวส์เข้ามาแทนที่

ในทางกลับกัน ยิ่งทำให้การสื่อสารเป็นทางเดียว จึงมีข้อจำกัดให้ประชาชนวิจารณ์ งดเสนอข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความหวาดกลัว จึงไม่ทำเกิดการตรวจสอบกันเองจากภาคประชาสังคม หรือการตรวจสอบจากสื่อสังคมออนไลน์ ยิ่งทำให้ข้อมูลมีโอกาสถูกบิดเบือนได้มากขึ้น แต่หากมีการตรวจสอบกันอย่างกว้างขวาง
หากมีเฟคนิวส์ก็จะมีกลไกการตรวจสอบของสังคมกันเองว่าอะไรคือข่าวจริง แต่เมื่อไม่มีการตรวจสอบ หรือแสดงความเห็น ก็ทำให้ข่าวปลอมมีประสิทธิภาพมากขึ้น รัฐจึงต้องทบทวนบทบาทท่าทีในการตัดสินใจเชิงนโยบาย

ขณะที่การทำรัฐประหารคงไม่เกิดขึ้นได้ง่าย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นอาจเป็นเพราะความชอบธรรมทางการเมืองของรัฐบาลมีปัญหา ประชาชนเริ่มออกมาชุมนุม การแสดงความเห็นให้นายกรัฐมนตรีลาออก หรือให้ยุบสภามากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อการเคลื่อนไหวมีมากขึ้นก็เป็นสิ่งที่ตอบรับกับกระแสข่าวเหล่านี้ได้ง่าย ไม่ว่าจะถูกปล่อยออกมาเพื่อวัตถุประสงค์ใดก็ตาม

ส่วนท่าทีของรัฐบาลไม่ได้กังวล แต่สิ่งที่ทำให้ข่าวเหล่านี้ออกมา ส่วนหนึ่งเพราะกำลังจะสู่ฤดูของการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ ทั้งนายทหารที่มีผลต่อความมั่นคงของรัฐบาลและฝ่ายพลเรือน ดังนั้น เรื่องของข้อมูลข่าวสารเป็นประเด็นที่มีความสำคัญ ทั้งการบริหารจัดการด้านอื่นไม่ว่าจะเป็นระบบสาธารณสุข เรื่องวัคซีน เรื่องเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นข้อมูลข่าวสารในเวลานี้การสื่อสารทางการเมือง

รัฐบาลจะต้องหาหนทางสร้างความเชื่อมั่น ทำให้มีความน่าเชื่อถือกับข้อมูลของตนเองมากกว่า
ไล่จับข่าวปลอม ไม่ใช่ทางออก หรือการแก้ไขปัญหา ในทางกลับกันทำให้ถูกวิจารณ์เรื่องเสรีภาพในการแสดงออก

สุขุม นวลสกุล
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง

วันนี้รัฐบาลยังมีชุดความเชื่อว่าจากแผนงานที่กำหนดไว้ในการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ยอดผู้ป่วย ผู้เสียชีวิต มีโอกาสจะลดลง แต่ก่อนจะเป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าจริงหรือไม่ ยอดผู้ป่วยของจริงยังมีแนวโน้มจะพุ่งสูงขึ้น เพราะฉะนั้นหากปล่อยให้มีกระแสข่าวในทางร้ายกระหน่ำซ้ำเติม ความเชื่อของประชาชนก็ลดลงไปมาก จึงไม่น่าแปลกใจที่มีการโยนกระแสเรื่องการทำรัฐประหารลงมา เพราะวันนี้รัฐบาลไม่รู้จะไปทางไหนแล้ว เพราะรอจะอยู่รอดไปถึงช่วงสิ้นปี หากตัวเลขลดลงจริงรัฐบาลก็จะได้รับการยอมรับ

ต้องยอมรับว่าการล้มรัฐบาลด้วยการทำรัฐประหารในประเทศมีบ่อย เพราะกระแสการยุบสภาก็ยังมองไม่เห็น การลาออกก็ยังไม่เกิดขึ้น ดังนั้น ประชาชนบางส่วนก็มีสิทธิคิดแบบลัดวงจรว่าคงจะมีการทำรัฐประหารหรือไม่ เพราะเคยทำกันมาแล้ว ทั้งที่การทำรัฐประหารในยุคนี้ไม่ตอบโจทย์อะไรเลย ซ้ำร้ายบ้านเมืองจะวุ่นวายหนักกว่าเดิม

แล้วอย่าพยายามไปคิดว่าการทำรัฐประหารครั้งต่อไปอาจจะพา พล.อ.ประยุทธ์และ 2 ป.ลงจากเก้าอี้แบบสวยๆ ไร้มลทิน สิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้น เพราะประชาชนเบื่อหน่ายการทำงาน เนื่องจากยังไม่เห็นผลงานอะไรทั้งเรื่องโควิด การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นข้อเสนอที่บอกให้แสดงสปิริตด้วยการลาออกน่าจะเป็นสิ่งที่สวยงามที่สุด แต่ถ้าลาออกแล้วจะกลับมาอีกก็คงจะไม่สวย

ทุกครั้งที่มีกระแสการยึดอำนาจ เรื่องนี้จะมาพร้อมกับการปฏิเสธ แต่จากอดีตที่ผ่านมาการออกมาปฏิเสธก็ไม่สามารถจะเชื่อได้ และครั้งนี้ยังไม่มีนายทหารที่มีความโดดเด่น มีความสามารถจะไล่ พล.อ.ประยุทธ์ออกไป แล้วตัวเองจะกลายเป็นพระเอก วันนี้มีแต่ทหารซื้ออาวุธแทบทั้งนั้น และในสถานการณ์บ้านเมืองแบบนี้ก็ควรจะคิดได้บ้างว่าประเทศควรจะนำไปใช้งบประมาณในทางใดให้มีความคุ้มค่า อย่าทำให้ประชาชนต้องออกมามีกระแสต่อต้านทำให้ต้องเลิกซื้อ

ส่วนตัวเชื่อว่าการทำรัฐประหารคงเกิดขึ้นไม่ได้ แต่อย่าลืมว่า พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกรัฐมนตรี เคยบอกว่า การเมืองไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าเกิดขึ้นอีก การเมืองก็จะไปถึงทางตันหนักยิ่งกว่าเก่า เพราะมองไม่เห็นว่า หากกองทัพมายึดอำนาจแล้วฝีมือในการบริหารจะดีกว่าเก่าหรือไม่ ประชาชนเชื่อใจได้แค่ไหน วันนี้ยังไม่มีใครที่มีความโดดเด่นถึงขั้นทำให้มีความน่าเชื่อถือ และเชื่อว่านายทหารส่วนใหญ่ยังสนับสนุนการทำงานรัฐบาล

ที่สำคัญ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ยอมลงจากเก้าอี้ง่ายๆ อย่างแน่นอน อาจจะคิดไปไกลแบบทหารว่า การทำสงครามคงจะแพ้ไม่ได้ แล้วจะอยู่จนชนะ แต่ต้องบอกว่าสิ่งที่ประชาชนประเมิน และผู้มีอำนาจคิดวางแผนไว้จะแตกต่างกันมาก ไม่เช่นนั้นจะกำหนดเปิดประเทศภายใน 120 วันไว้เพื่ออะไร แม้ว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังมองไม่เห็นหนทางจะไปถึงจุดนั้น

ส่วนการเคลื่อนไหวในการชุมนุมหลากหลาย แม้จะมีสถานการณ์โควิด การทำกิจกรรมยังทำให้ผู้มีอำนาจหวั่นไหวพอสมควร หลังจากนี้หากโควิดคลี่คลายก็ยังเป็นเรื่องที่น่ากังวลพอสมควร

ปิยณัฐ สร้อยคำ
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ภายหลังนายกรัฐมนตรีออกมาตรการสั่งคุมเข้มเฟคนิวส์หรือข่าวปลอม ด้วยการให้กระทรวงแต่ละกระทรวงดำเนินการแก้ปัญหาอย่างรวดเร็วและจริงจัง ตั้งศูนย์ข่าวปลอมในหลายระดับเพื่อตรวจสอบและประกาศข้อเท็จจริง รวมไปถึงการดำเนินคดีกับผู้สร้างข่าวปลอมนั้น ได้ก่อให้เกิดเสียงวิจารณ์จากภาคประชาชนเป็นจำนวนมาก ทั้งในแง่ของของความชอบธรรมในการดำเนินการ และความกังวลจากการจำกัดเสรีภาพของประชาชนในการวิพากษ์วิจารณ์การดำเนินงานของรัฐ

ส่วนตัวมองว่า หากพิจารณาจากแง่มุมต่างๆ โดยเฉพาะในสถานการณ์ฉุกเฉินเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ นั้น การให้ข้อมูลถูกต้อง ชัดเจน รวดเร็วต่อประชาชนเป็นสิ่งที่รัฐบาลพึงกระทำให้มากที่สุด และก่อนจะนำข้อมูลออกมาเผยแพร่ รัฐบาลต้องจริงใจในการบริหารจัดการ ทุ่มเทสรรพกำลังและงบประมาณไปกับการจัดการวิกฤต รวมถึงแก้ไขปัญหาโควิด-19 ให้มีประสิทธิภาพที่สุด โดยนำข้อเท็จจริงทั้งหมด รวมถึงข้อมูลเชิงนโยบายดังกล่าวแสดงต่อสาธารณะเพื่อถ่ายทอดและสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน หากรัฐบาลทำได้เช่นนี้ ย่อมจะไม่ต้องสร้างศูนย์ข่าวปลอมใดๆ เพื่อมาจัดการกับความคิดเห็นหรือข้อมูลที่ภาคประชาชนจัดทำขึ้น

ส่วนตัวมองว่า การที่มีผู้ปล่อยข่าวเผยแพร่ลงในโซเชียลมีเดีย อ้างว่าทหารบกได้กระทําการรัฐประหาร และนํากําลังเข้าควบคุมบุคคลสําคัญแล้วในช่วงวันที่ผ่านมา ก่อนที่โฆษกกองทัพบกจะออกมาปฏิเสธและชี้แจงว่ากองทัพบกจะดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่ปล่อยข่าวเท็จนั้น ดูราวกับว่าจะเกิดขึ้นเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับนายกรัฐมนตรีในการตอกย้ำถึงความสำคัญของการจัดการกับข่าวปลอมโดยชี้ให้ประชาชนได้เห็นกรณีศึกษาและโทษของการกระทำดังกล่าว เพื่อจะได้ไม่กล้าจะเปล่งเสียงแห่งเสรีภาพหรือใช้สื่อสาธารณะในการปกป้องสิทธิของตน

หากถามถึงความเป็นไปได้ของการทำรัฐประหารโดยกองทัพนั้น ส่วนตัวเชื่อว่าเป็นไปได้แน่นอน เพราะในอดีตที่ผ่านมาก็เป็นบทพิสูจน์แล้วว่า กองทัพเข้ามาเกี่ยวพันกับการเมืองเพียงใด และรัฐบาลในปัจจุบันก็เชื่อมโยงและถูกสร้างขึ้นโดยกองทัพจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติและตามมาด้วยเสียงสนับสนุนจากเหล่าบรรดาสมาชิกวุฒิสภา ส่วนใหญ่ก็มาจากทหารหรือมีเครือข่ายเกี่ยวพันกันทั้งสิ้น ดังนั้น หากในอนาคตจะมีรัฐประหารที่กองทัพก็เป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้

แต่คำถามสำคัญที่ต้องตอบกัน ณ วันนี้ให้ได้คือ เราจะยอมให้การรัฐประหารโดยกองทัพเป็นสิ่งชี้ชะตาประเทศดังเช่นที่เป็นมาในอดีตหรือไม่ ส่วนตัวมองว่า บทบาทของทหารในการเมืองนั้นมีมากเกินพอแล้ว หากรัฐบาลในเงาทหารชุดนี้หมดความชอบธรรมหรือไร้ประสิทธิภาพในการบริหารประเทศ ก็ควรแสดงสปิริตด้วยการลาออกเพื่อเปิดทางให้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่ หากรัฐบาลใหม่เข้ามาแล้วทำไม่ดี ก็ให้กระบวนการประชาธิปไตยและกลไกรัฐสภาเป็นผู้ตัดสินชี้ขาด ขอให้อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนและฟังเสียงของประชาชนบ้าง

เพราะส่วนตัวเชื่อว่าให้ประเทศเคลื่อนด้วยพลังของประชาชน ดีกว่าถูกกำหนดโดยกลุ่มคนเพียงกลุ่มเดียวผ่านการรัฐประหาร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image