ป.ป.ช. ซัด ตั้งปลัดกห.ล้วงลูกทำลายมั่นคง-ทหารแตก บิ๊กโอ๋ โต้ ทำตามกฎ บิ๊กตู่ยังร่วมเลือก

แถลงปิดสำนวนถอดถอน ปม “สุกำพล” ล้วงลูก ตั้ง นั่งปลัดกห. “สุภา” ชี้ ทำลายความมั่นคง –ทำทหารแตกสามัคคี ด้าน อดีต รมว.กลาโหม โต้ แต่งตั้งทำครบขั้นตอนกฎหมาย บิ๊กเหล่าทัพ รวม “บิ๊กตู่” ก็รับรองให้

เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 15 กันยายน ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช.ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อดำเนินการรับฟังคำแถลงการณ์ปิดสำนวน ตามสำนวนถอดถอนพล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกจากตำแหน่ง หลังถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิด กรณีเข้าไปแทรกแซงการแต่งตั้งปลัดกระทรวงกลาโหม (กห.) โดยมิชอบ โดยน.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. แถลงปิดสำนวนว่า เมื่อครั้ง พล.อ.อ.สุกำพล ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงการแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพล เป็นการจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ 2550 และขัดต่อมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรงด้วย ทั้งนี้ การที่พล.อ.อ.สุกำพล อ้างว่าการประชุมในวันที่ 17 สิงหาคม 2555 เพื่อแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลของกห.เป็นการประชุมที่ชอบด้วยกฏหมายไม่ใช่เป็นการปรึกษานอกรอบนั้น เป็นคำกล่าวอ้างที่คลาดเคลื่อน เพราะการประชุมเพื่อพิจารณาแต่งตั้งจะต้องเป็นไปตามมาตรา 25 ของพ.ร.บ.จัดระเบียบข้าราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2511 และการที่อ้างว่าตำแหน่งปลัดกห.ขึ้นตรงกับรัฐมนตรี จึงมีสิทธิเสนอชื่อได้ตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหม ข้อที่ 15 นั้นเป็นการตีความโดยที่ไม่มีกฎหมายรองรับ และตีความขยายอำนาจเพื่อมีเจตนาเข้าไปก่าวก่ายแทรกแซงการทำงานของคณะกรรมการแต่งตั้ง

น.ส.สุภา กล่าวต่อว่า การกระทำของพล.อ.อ.สุกำพล ในการแต่งพล.อ.ทนงศักดิ์ อภิรักษ์โยธิน ผู้ช่วยผบ.ทบ.นั้น เป็นการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามขั้นตอนและขัดกับพ.ร.บ.จัดระเบียบข้าราชการกระทรวงโหมอย่างชัดแจ้งว่า ใช้สถานะหรือตำแหน่งรัฐมนตรีก่าวก่ายแทรกแซงการแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลของกห. โดยคำพูดของ พล.อ.อ. สุกำพล ที่ระบุว่า “ถ้าไม่แทรกแซงล้วงลูกเลยก็ไม่ต้องเป็นรัฐมนตรีเลยดีกว่า” ไม่อาจตีความหรือวินิจฉัยเป็นอย่างอื่นได้ กรณีนี้ยิ่งกว่าคดีของนายประชา ประสพดี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยที่เข้าไปแทรกแซงการตั้งผอ.องค์การตลาด กระทรวงมหาดไทยที่เป็นจุดเล็กๆ แต่พล.อ.สุกำพล เข้าไปแทรกแซง รั้วของชาติทำระบบราชการเสียหาย ฝ่ายการเมืองจะแทรกแซงไม่จบไม่สิ้น ราชการต้องวิ่งหาเพื่อตำแหน่ง ทำรัฐธรรมนูญหมดความศักดิ์สิทธิ์ กห.มีหน้าที่พิทักษ์รักษาเอกราชและความมั่นคงของชาติ หากให้การเมืองเข้ามาดำเนินการการบังคับบัญชาจะอ่อนแอ แตกความสามัคคีในคณะทหาร ดังนั้น แม้พล.อ.อ.สุกำพล จะได้พ้นตำแหน่งไปแล้วก็สมควรที่ สนช.จะใช้ดุลพินิจลงมติถอดถอนเพื่อแสดงความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายและ ป้องกันไม่ให้พล.อ.อ.สุกำพล กลับเข้ามีตำแหน่งทางการเมืองในหน่วยงานของรัฐ

ด้าน พล.อ.อ.สุกำพล แถลงปิดสำนวนว่า ยืนยันว่าได้ปฏิบัติตามพ.ร.บ.พ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 และข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยการแต่งตั้งทหารชั้นนายพล พ.ศ.2551 และแบบธรรมเนียมปฏิบัติของกระทรวงกลาโหมทุกขั้นตอน มีการนัดประชุม มีกรอบเวลาในการทำงาน มีองค์ประชุมครบ โดยมีการจัดประชุม 2 ครั้ง ครั้งแรกเพื่อพิจารณาแต่งตั้งปลัดกห.เพียงตำแหน่งเดียว ซึ่งตนได้ เสนอชื่อพล.อ.ทนงศักดิ์ ต่อที่ประชุมร่วมกับ พล.อ.ชาตรี ทัตติ รองปลัดกห.ขณะนั้น โดยยืนยันว่า พล.อ.ทนงศักดิ์ไม่ใช่รุ่นเดียวกับตนแต่เป็นรุ่นน้องหนึ่งปี ส่วนสาเหตุที่ไม่ให้พล.อ.พิณภาษณ์ สริวัฒน์ เข้ามาร่วมการประชุมด้วย เพราะพล.อ.พิณภาษณ์เป็นแค่ผู้ช่วยเลขานุการเท่านั้น มีหน้าที่จดบันทึกการประชุมอย่างเดียว ไม่มีสิทธิออกเสียงทั้งสิ้น ประกอบกับตนเองต้องการรักษาความลับ อีกทั้งการประชุมครั้งนี้มีแค่วาระเดียวเท่านั้น สามารถจำเอาก็ได้ ไม่ต้องจดบันทึกการประชุม

Advertisement

“ผลการพิจารณาในครั้งนั้น ผู้บัญชาทหารสูงสุด คือ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารบก คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารเรือ คือ พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ และผม รวม4 คน มีมติเลือกพล.อ.ทนงศักดิ์ เป็นปลัดกระทรวงกลาโหม มีเพียงพล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ ปลัดกห. คนเดียวที่เสนอชื่อพล.อ.ชาตรี ประเด็นสำคัญ คือ การได้มาซึ่งปลัดกระทรวงกลาโหมนั้นจากการลงมติเป็นการถามทีละคนผมจำได้” พล.อ.อ.สุกำพล กล่าว และ ว่า ส่วนการประชุมครั้งที่สอง เป็นการพิจารณาโยกย้ายนายทหารทุกหน่วยราชการ 811 คน ทุกรายชื่อได้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างถูกต้อง โดยมีการพิจารณาคณะกรรมการของแต่ละส่วนราชการสังกัดกระทรวงกลาโหมทั้งหมด และกรรมการตามพ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหมพ.ศ.2551 ที่เข้าร่วมประชุมซึ่งประกอบด้วยผู้บัญชาการเหล่าทัพทุกคนได้เห็นชอบและร่วมลงนามทั้งหมด

พล.อ.อ.สุกำพล กล่าวต่อว่า ตนยืนยันอีกครั้งว่าเป็นการประชุมที่ถูกต้องทุกประการ สิ่งที่สำคัญคือ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการเหล่าทัพ ได้ให้การยืนยันกับคณะกรรมการไต่สวนของป.ป.ช.เป็นลายลักษณ์อักษรยืนยันว่า เป็นการประชุมที่ถูกต้องตามกฎหมายและข้อบังคับทุกประการ แต่ป.ป.ช.ละเลยที่จะพิจารณาคำชี้แจงดังกล่าวอย่างสิ้นเชิง ทั้งๆที่ลายลักษณ์อักษรที่เขาตอบมานั้นเป็นช่วงที่ตนออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแล้ว การที่คณะกรรมการป.ป.ช.เสียงข้างมากละเลยไม่พิจารณาคำยืนยันของส่วนราชการในกระทรวงกลาโหมที่ยืนยันตรงกันว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นผู้บังคับบัญชาของปลัดกห. ดังนั้น ปลัดกห.จึงเป็นนายทหารชั้นนายพลที่ขึ้นตรงกับรัฐมนตรี โดยรัฐมนตรีมีอำนาจเสนอบุคคลที่สมควรดำรงตำแหน่งปลัดกห.ต่อที่ประชุมคณะกรรมการการพิจารณาแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลของกห.ได้ อย่างไรก็ตาม สุดท้ายนี้ขอขอบคุณสมาชิกสนช.ที่รับฟังคำชี้แจง และขอบคุณคณะกรรมการป.ป.ช.เสียงข้างน้อย 3 เสียงที่เข้าใจการทำงานของตน และขอให้สมาชิกสนช.ทุกท่านกรุณาใช้วิจารณญาณต่อไป

ทั้งนี้ เมื่อคู่กรณีได้แถลงปิดสำนวนเสร็จ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช.ได้ประชุมเพื่อพิจารณาว่าจะลงมติถอดถอนพล.อ.อ.สุกำพลหรือไม่ในวันที่ 16 กันยายนนี้ เวลา 10.00 น.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image