“ชาญเชาวน์”เผยไทยรับข้อเสนอUPRอีก 2 รวม 8 ข้อ หลังคสช. มีคำสั่งพลเรือนเลิกขึ้นศาลทหาร

“ปลัดชาญเชาวน์”เผยไทยรับข้อเสนอ UPR อีก 2 รวม 8 ข้อ หลังคสช. มีคำสั่งเลิกศาลทหาร

เมื่อวันที่ 15 ก.ย. ที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานการประ ชุมเพื่อพิจารณาข้อเสนอแนะที่ได้รับจากการทบทวนรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของไทยตามกลไก UPR ในส่วนที่เกี่ยวข้องับการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหาร หลังจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งที่ 55/2559 ลงวันที่ 12 ก.ย.ที่ผ่านมา ที่กำหนดให้การดำเนินคดีบางประเภทที่เดิมอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหารกลับมาอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม รวมทั้งท่าทีไทยในประเด็นดังกล่าว เพื่อเป็นแนวทางในการแถลงต่อที่ประชุมคณะทำงาน UPR สมัยที่ 28 ในการรับรองผลการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนไทยอย่างเป็นทางการ ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 23 ก.ย.นี้ สำหรับการประชุมครั้งนี้ มีตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย นางกรรณิการ์ แสงทอง อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กรมพระธรรมนูญ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) กระทรวงการต่างประเทศ (ตท.) ศาล และอัยการ

นายชาญเชาวน์ กล่าวภายหลัง การการประชุมในวันนี้เป็นการหารืออย่างไม่เป็นทางการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นการหารือเบื้องต้น หลังจากที่ คสช.มีคำสั่งที่ 55/2559 ลงวันที่ 12 ก.ย.ที่ผ่านมา เพื่อพิจารณาว่าไทยจะสามารถรับข้อเสนอ จากประเทศสมาชิกสหประชาชาติ 249 ข้อ ซึ่งไทยตอบรับทันที 181 ข้อ และนำกลับมาพิจารณาเพิ่มเติม 68 ข้อ ซึ่งจาก 68 ข้อนั้น ก่อนที่จะมีคำสั่ง คสช. ฉบับดังกล่าวออกมา ไทยได้รับข้อเสนอเพิ่มแล้วอีก 6 ข้อ ซึ่งการประชุมอย่างไม่เป็นทางการในวันนี้ เพื่อที่จะพิจารณาดูว่าอีก 62 ข้อที่เหลือ ไทยจะสามารถรับข้อเสนออะไรได้เพิ่มเติมอีกหรือไม่ ซึ่งจากข้อเสนอที่เหลืออยู่ 62 ข้อ

นายชาญเชาวน์ กล่าวอีกว่า จากการตรวจดูในรายละเอียด ของข้อเสนอพบว่ามีอยู่ 2 ข้อที่ไทยอาจจะสามารถรับได้เพิ่มเติม คือ 1.เรื่องจัดทำมาตรการ เพื่อปฏิบัติตามหลักกฎหมายเกี่ยวกับการใช้ตุลาการ ตามสภาวะปกติ เพื่อให้พลเรือนสามารถ ถูกดำเนินคดีในศาลปกติ มีประเทศคอสตาริกาเป็นผู้เสนอ ซึ่งหลังความจริงแล้วหลังจากเมื่อวันที่ 12 กันยายน พลเรือนที่กระทำผิดก็ไม่ต้องขึ้นศาลทหารอีก ยกเว้นตามกฎหมายพระธรรมนูญ และ 2.เรื่องหลักประกัน ให้พลเรือนทุกคน ดำเนินคดีที่ศาลพลเรือนและได้รับสิทธิในการเข้าถึงการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม ตามพันธกรณีภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองไทย โดยประเทศสาธารณรัฐเช็ค เป็นผู้เสนอ ซึ่งเรื่องดังกล่าวประเทศไทยก็มีหลักประกัน ก็คือรัฐธรรมนูญที่ระบุชัด ดังนั้นใน2 ข้อข้างต้นที่กล่าวมา ประเทศไทยสามารถรับข้อเสนอดังกล่าวได้ จึงให้กรมคุ้มครองสิทธิฯไปหารือกระทรวงการต่างประเทศอีกครั้ง

ปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ไทยอาจจะมีการพิจารณารับข้อเสนอจากประเทศสมาชิกสหประชาชาติได้เพิ่มเติมอีก หลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 ก.ย.ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบร่างปฏิญญาการประชุมระดับสูงเรื่องการจัดการการย้ายถิ่นขนาดใหญ่ของผู้ลี้ภัยและผู้โยกย้ายถิ่นฐาน โดยการประชุมสมัชชาสหประชาติ ที่จัดขึ้นในช่วง วันที่ 19 ก.ย.ที่สหประชาชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ ช่วงในวันที่ 23 ก.ย.นี้ นายธานี ทองภักดี เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส จะได้แจ้งผลการพิจารณาข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ให้สหประชาชาติทราบในการประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติต่อไป

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image