ดีแต่”ร่าง”

ในขณะที่ กกต.มีแนวคิดจัดระเบียบ การจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ออกหลักเกณฑ์ วิธีการควบคุม

กำหนดให้ ผู้สนับสนุน และคัดค้านไม่เห็นด้วย ต้องลงทะเบียน เพื่อแสดงความคิดเห็นต่อรัฐธรรมนูญ อ้างว่าเพื่อความเท่าเทียม

นักวิชาการเรียกร้องรัฐ เปิดให้มีการรณรงค์ได้อย่างเสรี ปราศจากเงื่อนไขควบคุมใด

เว้นแต่ ข้อห้ามอย่างการขัดขวาง ข่มขู่ หรือกระทำการใดๆ ที่เป็นหลักยึดทั่วไปว่า

Advertisement

จะกระทำมิได้ มีบทลงโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืน

การรณรงค์เสรีเป็นแบบแผนทั่วไป มีเจตนารมณ์ มุ่งให้ประชาชนผู้มีส่วนได้

ส่วนเสียโดยตรง ในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยแท้จริง ได้รับรู้ข้อมูลทุกแง่มุม

Advertisement

ทั้งข้อดี-ข้อเสียมากที่สุด เท่าที่จะทำได้ เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาตัดสินใจ ออกเสียงว่า จะรับ หรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

การเปิดให้มีการรณรงค์อย่างเสรี เป็นตัวชี้วัด คุณภาพของการทำประชามติอีกทาง เนื่องจากประชาชนได้ตัดสินใจอย่างรอบคอบ บนพื้นฐานการมีข้อมูลทุกด้าน

มิใช่การโหวต โดยขาดการใคร่ครวญ ตัดสินใจจากการถูกชี้นำ ยัดเยียดข้อมูลด้านเดียว-ด้านใดด้านหนึ่ง ซึ่งวัดผลได้แต่คะแนน ขาดคุณค่าความสมบูรณ์อย่างที่พึงจะเป็น

ทั้งที่เป็นเรื่องใหญ่คอขาดบาดตาย

ดังนั้น เมื่อจะทำประชามติ จำเป็นยิ่งที่รัฐต้องเปิดกว้าง ให้รณรงค์ได้อย่างเสรี ทั้งฝ่ายเห็นด้วย และคัดค้าน ผลที่ออกมาจึงจะได้รับการยอมรับอย่างเป็นการทั่วไป ไม่มีใครติดใจ ตั้งคำถามอีกต่อไป

การปิดกั้น ควบคุมเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ขัดต่อหลักการ

รังแต่จะทำให้ประชาชนเบื่อหน่าย เอือมระอา ไม่อยากออกมาใช้สิทธิ เพราะอาจมอง

ไม่เห็นว่า การรับ หรือไม่รับนั้น จะส่งผลต่อบ้านเมืองมาก-น้อยเพียงใด

ตรงกันข้าม การเปิดกว้างมากกว่า ช่วยปลุกทุกฝ่ายตื่นตัว กระตือรือร้นอยากออกมาใช้สิทธิ เมื่อเล็งเห็นข้อดี-ข้อเสีย ความสำคัญที่ต้องออกมามีส่วนร่วม กำหนดอนาคตประเทศ

และเมื่อมีผู้ออกมาใช้สิทธิมาก ไม่ว่าผลปรากฏทางใด

ผลประชามตินั้น ย่อมเป็นข้อยุติที่สมบูรณ์

เพราะเป็นการยอมรับ หรือไม่ยอมรับของประชาชนทั่วทั้งประเทศ ที่ทุกฝ่ายต้องให้การยอมรับ

นายกรัฐมนตรี เรียกร้อง ทุกผู้นามออกมาใช้สิทธิออกเสียงประชามติ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญมั่นใจว่า หากมีผู้มาลงคะแนนออกเสียงทะลุ 80% ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้

ผ่านการเห็นชอบแน่นอน

การเปิดพื้นที่ ให้มีการรณรงค์เสรี นอกจากผลดีประการหลักที่กล่าวข้างต้น

ยังเป็นวิธีการ ที่มีผลพลอยได้ในการจูงใจประชาชนออกมาใช้สิทธิที่ได้ผลมากกว่า การรณรงค์รูปแบบดั้งเดิมอื่น อย่างที่ กกต.-หน่วยงานรัฐเคยยึดปฏิบัติ

ที่พิสูจน์มาแล้วว่า ล้มเหลว มีตัวเลขจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิค่อนข้างต่ำ เป็นเครื่องยืนยันชัดเจน

กรธ.มั่นใจมากว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นกฎหมายแม่บทการปกครองประเทศสูงสุดที่ดีฉบับหนึ่ง

เมื่อเป็นร่างที่ดี รัฐมีกลไก เครือข่าย เครื่องไม้เครื่องมือเพียบพร้อม เหนือกว่า

ฝ่ายการเมือง ฝ่ายนักวิชาการ อย่างชนิดเทียบกันไม่ได้ หากดีจริงไม่มีเหตุผลอันใดเลย ที่ต้องปิดกั้น กลัวการชำแหละ ชี้ให้เห็นผลดี-ผลเสีย อย่างถึงพริกถึงขิง

มีแต่ต้องสนับสนุนเท่านั้น

เพราะยิ่งลงลึกในเนื้อหาเท่าใด ก็ยิ่งเปิดโอกาส รัฐ-กรธ.ได้ชี้แจง ทำความเข้าใจกับสังคมให้ได้รับรู้ถึง ที่มา-ที่ไปได้มากขึ้น

ดีเสียอีกที่จะได้ตอบคำถามให้กระจ่าง หมดสิ้นสงสัย

การคิดจัดระเบียบ ควบคุมการรณรงค์ออกเสียงประชามติอย่างเข้มงวด ก่อให้เกิดคำถามตามมา ที่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีนั้น ที่แท้ดีจริงหรือไม่ หรือว่าเป็นแค่คำโฆษณาชวนเชื่อ

ดีเฉพาะในมุมมองคนดี-ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image