‘อังคณา’ แนะประยุทธ์เลิกแข็งกร้าว ที่ปรึกษาส.นักกม.สิทธิ ชี้ โควิดต้องแก้ที่การเมือง

‘อังคณา’ แนะประยุทธ์เลิกแข็งกร้าว ที่ปรึกษาส.นักกม.สิทธิ ชี้ โควิดต้องแก้ที่การเมือง

เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม สืบเนื่องการนัดหมายชุมนุมของ กลุ่มเยาวชนปลดแอก เวลา 13.00 น. ของวันที่ 7 สิงหาคมนี้ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และเครือข่ายองค์กรสิทธิมนุษยชน ร่วมกันแถลงข้อห่วงใยต่อสถานการณ์ทางการเมืองและการละเมิดสิทธิ

ในตอนหนึ่ง นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่าการที่รัฐใช้ความรุนแรงและกฎหมายที่ไม่ได้สัดส่วนกับความผิดในการจัดการกับการชุมนุมทางการเมืองในรอบปีที่ผ่านมา ไม่เป็นไปตามหลักการตามข้อ 21 ของกติกา ICCPR ในการให้คุ้มครองการชุมนุม ไม่ว่าจะเป็นกรณีปิดกั้นพื้นที่รัฐสภาไม่ให้ผู้ชุมนุมมาเรียกร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเมือวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 การฉีดนำใส่ผู้ที่มาชุมนุมโดยสันติ และการที่ตำรวจใช่ปืนจ่อศีรษะผู้ชุมนุมเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ที่ผ่านมา รวมทั้งข้อเสนอในการแก้ไขรัฐธรรมนูญของภาคประชาชนที่ถูกปฏิเสธ ซึ่งถือเป็นการทำลายประชาธิปไตยที่ร้ายแรง ล้วนส่งผลให้ความขัดแย้งทวีความรุนแรงขึ้น

Advertisement

นางอังคณากล่าวว่า การชุมนุมของประชาชนในสถานการณ์โควิด-19 เกิดขึ้นทั่วโลกเนื่องจากรัฐล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรค และเรียกร้องให้รัฐยุติการแก้ไขปัญหาโดยใช้อำนาจนำ ควรใช้หลักรัฐศาสตร์ ในการแก้ไขความขัดแย้งและหาทางออกด้วยการเจรจาร่วมกันไม่ให้นำไปสู่ความรุนแรง โดยเฉพาะเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องจริงใจและเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน และเรียกร้องให้นายกฯ ยุติท่าทีแข็งกร้าว โดยลาออก ยุบสภาฯ เพื่อคืนอำนาจให้ประชาชนต่อไป

นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

นายสมชาย หอมลออ ที่ปรึกษา ครป. และที่ปรึกษาสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ความตึงเครียดในปัจจุบันเป็นผลมาจาการบริหารงานการแก้ไขสถานการณ์โรคโควิด-19 ที่ล้มเหลวและการใช้กฎหมายพิเศษของรัฐเพื่อคุกคามผู้เห็นต่างทางการเมือง จะนำไปสู่การสูญเสียในอนาคตอันใกล้อย่างแน่นอน แต่ไม่อาจคาดการณ์ได้ว่าจะจบลงอย่างไร

“การแก้ไขปัญหาโควิดต้องแก้ไขที่การเมือง โดยในตอนนี้ นายกฯ ควรลาออกเพราะเป็นน็อตตัวสำคัญที่กีดขวางระบบไม่ให้สามารถทำงานได้ หรือการยุบสภาซึ่งอาจไม่ใช่การแก้ปัญหาในเชิงระบบ แต่เป็นการเปิดโอกาสให้มีรัฐบาลชั่วคราวมาบริหารประเทศช่วงนี้ รวมทั้งการแก้ไขเฉพาะหน้าให้แก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวเพื่อปลดล็อคส.ว. นอกจากนี้นายสมชายยังเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เผชิญหน้ากันใช้ความอดทน ละเว้นการยั่วยุให้เกิดความรุนแรง รวมทั้งสื่อมวลชนกระแสหลักและสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ได้เสนอข่าวตามข้อเท็จจริงและพยายามรายงานข่าวไปในทางสร้างสรรค์ ไม่บิดเบือนความจริง และไม่ยุยงให้เกิดความรุนแรง” นายสมชายกล่าว

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ที่ปรึกษา ครป. อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า สถานการณ์ของประเทศไทยตอนนี้เสมือนตกอยู่ในหลุมดำของความขัดแย้งที่ร้ายแรงกว่าอดีต และเป็นความขัดแย้งทางการเมืองที่เป็นภาวะวิกฤตซ้อนวิกฤต อันเป็นผลกระทบจากสถานการณ์โควิดต่อสังคม สุขภาพกาย สุขภาพจิต และความยากจน ทำให้มองเห็นความล้มเหลวของภาครัฐในการจัดการแก้ไขปัญหาทั้งเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์โดยเฉพาะเรื่องการจัดการวัคซีนซึ่งเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในเวลานี้

“การชุมนุมเรียกร้องของเยาวชนและนักศึกษาควรเป็นเรื่องที่ชื่นชมยินดีและเป็นสิทธิที่ชอบธรรม เพราะทำเพื่อปกป้องอนาคตของตนเองไม่ให้ตกอยู่ในหลุมดำต่อไป แต่กลับถูกบิดเบือนว่าเป็นการทำลายชาติ ยุยง ปลุกปั่นให้เกิดความแตกแยก หรือล้มล้างสถาบัน ขอเรียกร้องให้รัฐบาลเปลี่ยนท่าที หันมามารับฟังประชาชนเพื่อหาทางแก้ปัญหาวิกฤตโควิดร่วมกัน โดยใช้หลักนิติรัฐ และนิติธรรม” นพ.นิรันดร์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image