สกู๊ป น. 1 : จับชีพจร ‘รบ.บิ๊กตู่’ อยู่ครบวาระหรือไม่

จับชีพจร ‘รบ.บิ๊กตู่’ อยู่ครบวาระหรือไม่

มีมุมมองจากนักวิชาการต่อสถานการณ์ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังจากเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์การบริหารการรับมือการแพร่ระบาดโควิด-19 การออกมาชุมนุมของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลหลายกลุ่ม และอีกหลายสถานการณ์ ทำให้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับวาระการบริหารงานของรัฐบาลจะครบวาระ ในอีกประมาณ 1 ปีครึ่งนับจากนี้หรือไม่

นายสุขุม นวลสกุล นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง มองว่า สถานะของ พล.อ.ประยุทธ์ จะอยู่หรือไป อยู่ที่การตัดสินใจของท่านเองเป็นหลัก วันนี้นายกรัฐมนตรีไม่ได้คิดว่าปัญหากำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน จะทำให้เพลี่ยงพล้ำทางการเมือง ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์จะยุบสภาก่อนหรืออยู่ครบวาระก็ต้องติดตาม แต่คำว่าลาออกคงไม่มี และไม่ได้สู้ตายคาเก้าอี้ แต่ความรู้สึกของนายกรัฐมนตรียังเชื่อว่ายังเป็นต่อทางการเมือง ยังมีความมั่นใจในตัวเองสูง คิดเข้าข้างตัวเองตามวิสัยของนักบริหารทั่วไป ไม่ได้เชื่อว่าจะมีอันเป็นไปตามที่ฝ่ายต่อต้านชี้นำว่าจะต้องถูกทอดทิ้ง หรือโดนเท

ที่สำคัญหากสิ่งรอบข้างรายล้อมรอบตัวผู้นำเป็นพิษ ทุกอย่างก็จะไปกันใหญ่ สำหรับฝ่ายความมั่นคงก็คงจะประเมินสถานการณ์ด้านดีให้ทราบ เช่น การบริหารสถานการณ์โควิดคนทั่วไปมองว่าแย่หรือล้มเหลว ก็จะรายงานว่าถ้าหากบุคคลอื่นเข้ามาทำบ้านเมืองจะยิ่งแย่กว่านี้ เหมือนที่เคยบอกไว้ว่าหากเป็นรัฐบาลปกติ ถ้าเจอความล้มเหลว ถูกด้อยค่าแบบนี้ คงพ้นสภาพไปนานแล้ว

สิ่งไม่ปกติทำให้รัฐบาลนี้อยู่ได้โดยปกติ มาจากกติกาทางการเมือง ใครคิดสูตรการเมืองพลิกแพลงอย่างไร แต่ถึงที่สุดก็ต้องมีมือของ 250 ส.ว.จึงจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อกติกายังเป็นแบบนี้ การกดดันให้ลาออกก็คงไม่มีอะไรในกอไผ่ เพราะไม่มีหนทางจะก้าวข้าม 250 เสียง ส.ว. แม้ว่าบางคนจากฝ่ายนักเลือกตั้งโลกสวย ฝันจะรวมเสียง ส.ส.ให้เกิน 250 คน เพื่อก้าวข้าม ส.ว. แต่คงไม่เกิดขึ้นจริง

Advertisement

ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ พยายามมองในแง่ดีว่าอย่างน้อยคงผ่านวิธีการเลือกตั้งบัตร 2 ใบ แต่ไม่น่าจะผ่านง่ายๆ เพราะต้องแก้ไขตัวเลขจำนวน 350 ส.ส.เขตและ 150 ส.ส.บัญชีรายชื่อ ต้องแก้หลายมาตราในขั้นตอนการแปรญัตติ

ผู้เป็นประธานคือ นายไพบูลย์ นิติตะวัน เดิมประธานมีร่างของตัวเองที่สภาโหวตไม่รับ ดังนั้น นายไพบูลย์ก็ต้องพยายามทำให้ร่างเดียวของประชาธิปัตย์แก้ไขแล้วใกล้เคียงกับร่างตกไปก่อนหน้านี้ หลังจากนี้ต้องดูความสัมพันธ์ของแต่ละฝ่ายว่าจะทำให้การแก้ไขสำเร็จหรือไม่ หรือถามว่าการแปรญัตติครั้งนี้ ถามว่าถ้าประธาน เป็นนายบัญญัติ บรรทัดฐาน ยังพอจะมีความน่าเชื่อถือเพิ่มขึ้นบ้างหรือไม่

สถานการณ์การเมืองขณะนี้ แม้ว่าจะรุมเร้าหลายทิศทาง แต่นายกฯไม่หวั่นไหว ถ้าถามว่าอะไรทำให้ พล.อ.ประยุทธ์แข็งแกร่งได้ระดับนี้ ต้องกลับไปดูว่าที่ผ่านมามีปัจจัยอะไรทำให้ พล.อ.ประยุทธ์เข้าสู่อำนาจการเมืองแล้วยืนหยัดมาได้ถึงวันนี้ บางอย่างเป็นเรื่องพูดไม่ได้ แต่ผู้คนสามารถจินตนาการเองได้ ปกติถ้าแก้โควิดล้มเหลว วัคซีนไม่มีฉีดตามเป้าหมาย คนติดเชื้อคนตายเพิ่มขึ้นรายวัน คงไปนานแล้ว

ส่วนที่มองว่าประชาชนจะเอือมระอา เบื่อหน่ายจริงหรือไม่ ก็อย่าเหมารวม แต่ต้องเจาะไปที่แต่ละกลุ่มเป้าหมาย เช่น คนในรุ่นผม ส่วนตัวอาจจะมองว่าถ้านายกรัฐมนตรีถ้ายังอยู่แบบนี้ก็คงจะลำบาก แต่ในแวดวงของคนที่มีอายุใกล้เคียงกันส่วนใหญ่ยังเชียร์รัฐบาล เพราะมองว่าการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่อาจไปล้มล้างบางอย่างที่เชื่อถือมาอย่างยาวนาน ไม่ได้มองว่าผู้นำจะมีความสามารถในการบริหารเศรษฐกิจ บริหารสถานการณ์โรคระบาด แต่มองอย่างเดียวว่าจะยึดหลักอนุรักษนิยมไว้ได้นานแค่ไหน

วันนี้คนส่วนใหญ่รู้ดีว่า พล.อ.ประยุทธ์ยังอยู่ได้ แม้ว่าจะเจอการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือเจอการเคลื่อนไหวของมวลชน เพียงแต่ไม่อยากจะพูด เพราะถ้าบอกว่า พล.อ.ประยุทธ์อยู่ได้ คนฟังก็บอกว่าสงสัยคงจะเชียร์รัฐบาล แต่ในมุมของการวิเคราะห์ก็ต้องประเมินจากความเป็นจริง

ปัจจุบันกลุ่มออกมาไล่ พล.อ.ประยุทธ์ก็มึนไปหมดแล้ว เพราะเข้าใจว่าใครที่บอกว่านายกรัฐมนตรีอยู่ได้ถือว่าออกมาเชียร์ โดยไม่สนใจเรื่องของกฎหมาย กติกาบ้านเมือง หรือชอบฟังข้อมูลจากกลุ่มบุคคลบอกข้อมูลตรงกับชุดความคิดในใจ โดยไม่ได้พยายามมองความเป็นจริงด้วยหลักการและเหตุผล

ส่วนชนชั้นกลางที่หลายฝ่ายเชื่อมั่นว่าโดดเด่นจากเหตุการณ์ในยุคพฤษภาทมิฬ 2535 วันนี้อาจเชื่อมไม่ติดกับการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ที่ก้าวล้ำสุดโต่งเกินไป การรวมตัวไม่เป็นเอกภาพ ดังนั้นผู้มีอำนาจก็อาศัยจังหวะขาดๆ เกินๆ เหล่านี้อยู่ในเก้าอี้ต่อไป ส่วนการต่อสู้ในสภาปัญหาระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล ไม่แน่ใจว่าทำให้การอภิปรายไม่ไว้วางใจ มีผลกับพลังในการทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลลดลงหรือไม่

ด้าน นายโอฬาร ถิ่นบางเตียว นักวิชาการภาควิชาการรัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา มองว่า หากประเมินสถานการณ์รอบด้าน ชัดเจนว่าทุกเรื่องไม่เป็นผลดีกับรัฐบาล มีผลกระทบต่อสถานะของนายกรัฐมนตรีโดยตรง แต่ถ้ามองจากเกมการเมืองเชื่อว่ารัฐบาลนี้อยู่ได้อีกระยะ เพื่อยืดเวลาให้ผ่านงบประมาณ 65 แนวโน้มน่าจะผ่านได้ เนื่องจากพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล ขัดแย้งในการจัดสรรงบกลาง แต่ถึงที่สุดรัฐบาลชุดนี้จะทำงานไม่ครบวาระ 4 ปี

หากจะมองถึงผลกระทบกับความมั่นคงในอำนาจเฉพาะตัวของ พล.อ.ประยุทธ์ วันนี้บุคคลที่มีพลังทางการเมือง เช่น นายทักษิณ ชินวัตร หรือคุณโทนี่ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ กลุ่มเยาวชนปลดแอก พรรคการเมืองฝ่ายค้าน รวมไปถึงประชาชนออกมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก กดดันให้นายกรัฐมนตรีลาออกหรือยุบสภา แต่หากดูการเมืองจากกลุ่มพลังอำนาจค้ำยัน หรือเป็นนั่งร้านให้กับรัฐบาล หากมองไปที่ 3 สถาบันหลักในระบบพรรคร่วม ทั้งพลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ยังมีเอกภาพ

ขณะที่ 2 พรรคฝ่ายค้านยังขัดแย้งเรื่องการจัดสรรงบ ทั้งหมดนี้จะส่งผลไปถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หาก 2 พรรคไม่ประสานความร่วมมือคงจะทำหน้าที่ได้ไม่สมบูรณ์ รวมทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญกรณีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ถึงที่สุดแล้วอาจเป็นกระบวนการทำให้รัฐบาลได้เปรียบ เพื่อเตรียมความพร้อมเลือกตั้งใหม่

นอกจากนั้น กลุ่มทุนผู้สนับสนุนหลักของรัฐบาล ยังมีเอกภาพพอสมควร โดยเฉพาะกลุ่มได้ผลประโยชน์จากรัฐบาลตั้งแต่ยุค คสช. หรือก่อนการเลือกตั้งในปี 2562 ที่สำคัญกลุ่มชนชั้นนำฝ่ายจารีตยังสนับสนุนรัฐบาล รวมทั้งกองทัพ ทั้งที่เคยมีกระแสการทำรัฐประหาร ดังนั้นจะเห็นว่าการเมืองในระบบทั้งหมด ทำให้รัฐบาลได้เปรียบ เพื่อลากระยะเวลาหาจุดสมดุล หากโควิดคลี่คลาย หลังผ่านงบประมาณ แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ตัวเองได้เปรียบ จากนั้นจะยุบสภา แต่หลังจากนั้นรัฐบาลก็อาจถูกมองว่าเป็นการยุบสภา เพื่อฟอกขาวภายใต้กติกาที่สังคมไม่ยอมรับ จึงทำให้ความขัดแย้งในสังคมไม่มีแนวโน้มลดลง

รัฐบาลนี้อยู่ต่อไปอีกระยะ เนื่องจากกลุ่มผู้คัดค้านทั้งเยาวชนปลดแอก คณะราษฎร 63 เชื่อว่าเป็นการออกมาเคลื่อนไหวไม่มียุทธศาสตร์ทางการเมือง ดูเหมือนจะไร้ทิศทาง ขณะที่คุณโทนี่พยายามโจมตีรัฐบาล แต่ก็แสดงจุดยืนไม่ชัดเจนว่าตกลงจะเอาอย่างไรกับการเมือง เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ลาออกแล้วจะมีอะไรเพิ่มเติม คุณโทนี่พูดไม่ชัดว่าจะเอาอย่างไรกับสถานะของตนเอง จะกลับมาไทยได้อย่างไร ส่วนท่าทีของเยาวชนปลดแอกมีข้อเสนอก้าวล้ำเกินไป

ขณะที่ทุกฝ่ายมีเป้าหมายล้ม พล.อ.ประยุทธ์ แต่ทั้งหมดที่ร่วมกันไม่มียุทธศาสตร์ว่าหลังจากนั้นจะเดินหน้าไปอย่างไร แต่ละกลุ่มก็ไม่บอกให้ชัดต้องการอะไร ภาพการเคลื่อนไหวบางช่วงทำให้เห็นความรุนแรง แม้ไม่ทราบว่าใครทำ แต่อย่างน้อยภาพลักษณ์การชุมนุมรู้สึกตกต่ำในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ไม่เป็นผลดีกับกลุ่มเคลื่อนไหว

หลังจากนี้จะมีเรื่องคดีความ ทำให้การขับเคลื่อนยุ่งยากขึ้น ขณะที่กระแสสังคมส่วนหนึ่งก็ออกมาวิจารณ์เพราะการชุมนุมไม่ควรขาดแกนนำ ไม่ควรปล่อยให้มีมือที่สามเข้ามาแทรก ลดทอนความชอบธรรมจากแนวทางการชุมนุมที่สงบ จึงทำให้ซีกรัฐบาลเล่นเกมยื้อต่อไปได้ ถือว่ายังได้เปรียบทางการเมืองค่อนข้างมาก
ส่วนความเคลื่อนไหวใหญ่จากกระแสอาจจุดติดขึ้นมาอีก เชื่อว่าคงยาก เพราะปัจจัยหลายด้านจากวิกฤตโควิดก็แทบจะมาถึงสุดปลายทางแล้ว นอกจากนั้นต้องรอกลุ่มออกมาเคลื่อนไหวล้มรัฐบาล ต้องออกมาแสดงจุดยืนร่วมกันให้ได้ หากต่างฝ่ายยังสงวนท่าที หรือมีวาระซ่อนเร้นการทำกิจกรรม คงจะไปต่อไม่ได้

สำหรับชนชั้นกลางบางส่วน ขณะนี้ไม่ชอบการทำงานของ พล.อ.ประยุทธ์ แต่มีจำนวนไม่น้อยยังไม่ไว้วางใจวิธีต่อต้าน พล.อ.ประยุทธ์ของกลุ่มเห็นต่าง เพราะไม่ยังเห็นจุดหมายปลายทางชัดเจน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image