ภูมิรัฐศาสตร์ของอัฟกานิสถาน;ทางเสือผ่าน

อัฟกานิสถานเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลในภูมิภาคเอเชียใต้ เป็นเส้นทางการค้าที่เชื่อมต่อทวีปยุโรป พื้นที่เอเชียใต้และเอเชียกลางมีอาณาเขตทางทิศตะวันตกจรดประเทศอิหร่าน ทางทิศใต้และตะวันออกติดปากีสถาน ทางทิศเหนือติดเติร์กเมนิสถาน อุซเบกิสถาน และทาจิกิสถาน ส่วนทางทิศตะวันออกสุดติดประเทศจีน มีอาณาเขต 652,000 ตารางกิโลเมตร มีกรุงคาบูลเป็นเมืองหลวงและเมืองใหญ่สุดของประเทศ มีประชากรประมาณ 39 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาติพันธุ์ปาทาน ถือว่ามีมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ประมาณร้อยละ 42 มีชาวทาจิกประมาณร้อยละ 27 มีชาวฮาซาราซึ่งเป็นมองโกล กับชาว อุซเบกอีกประมาณร้อยละ 9 ทั้ง 2 เผ่า และอื่นๆ

อัฟกานิสถานตั้งอยู่ใจกลางที่ราบสูงฮินดูกูช ซึ่งเป็นเขตที่ราบสูงซึ่งเชื่อมเข้ากับที่ราบสูงปม
ปามีร์ (ปมปามีร์คือจุดรวมเทือกเขากลางทวีปเอเชีย ที่เรียกว่า ปามีร์นอต (Pamir Knot) เป็นจุดรวมเทือกเขาหิมาลัย เทือกเขาฮินดูกูช เทือกเขาเทียนชาน เทือกเขาคุนหลุน และเทือกเขาคาราโครัม) จากทางตอนเหนือ โดยมีหมู่เทือกเขาใหญ่จากทางตะวันออกมาบรรจบคือเทือกเขาคุนหลุน ที่ราบสูงเทือกเขาคาราคอรัมเรื่อยมาจนถึงเขตเทือกเขาหิมาลัยจากทางตะวันออกด้วยการเชื่อมจุดพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภาคพื้นทวีปเอเชียนี้ จึงทำให้ดินแดนอัฟกานิสถานกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่เชื่อมโยง 3 ภูมิภาคสำคัญของทวีปเอเชียเอาไว้ด้วยกัน คือจีน อินเดียและอิหร่าน (เปอร์เซีย) ตามประวัติศาสตร์บรรดาพ่อค้าหรือนักการทูตจากจีนจะเดินทางไปยังจักรวรรดิเปอร์เซียจำเป็นต้องเดินทางผ่านแอ่งทาริมที่ทุรกันดารสู่เขตที่ราบสูงที่มีแต่ภูเขาสลับซับซ้อนของเทือกเขาปมปามีร์ แล้วจึงเดินทางต่อไปถึงแคว้นคอราซานที่เป็นที่ราบกว้างใหญ่ของจักรวรรดิเปอร์เซีย แต่หากจะเดินทางไปอินเดียอนุทวีปที่อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ก็ต้องเปลี่ยนทิศทางเดินทางไปทางตะวันออกเมื่อผ่านเขตที่ราบสูงปมปามีร์ก่อนแล้วจึงมุ่งหน้าลงใต้ไปทางช่องแคบเขาไคเบอร์ ครั้นถึงอินเดียแล้วยังสามารถเดินทางต่อไปตามที่ราบสูงหิมาลัยจนถึงพรมแดนทิเบต พม่า และแคว้นหยุนหนานในจีนเองได้อีกด้วย ส่วนบรรดาพ่อค้าและนักการทูตของจักรวรรดิไบแซนไทน์ (โรมันตะวันออก) จักรวรรดิ เปอร์เซีย หรือแม้แต่ชาวอาหรับที่ต้องการจะมุ่งไปสู่แผ่นดินจีนอันห่างไกลหรือมุ่งหน้าสู่อินเดียก็จำเป็นต้องเดินทางผ่านที่ราบสูงฮินดูกูชและที่ราบสูงปมปามีร์อยู่นั่นเอง โดยบรรดาพื้นที่ภูมิศาสตร์เหล่านี้ล้วนอยู่ในอัฟกานิสถานในทุกวันนี้

ดังนั้น อัฟกานิสถานจึงเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่บรรดาชาติมหาอำนาจที่กำลังขยายดินแดนเข้าสู่หรือออกจากภูมิภาคยูเรเชียจะต้องเข้าครอบครองให้ได้ ในช่วงศตวรรษที่ 19 อัฟกานิสถานก็กลายเป็นสนามการประลองทางการเมืองและการทูตระหว่างจักรวรรดิอังกฤษกับจักรวรรดิรัสเซีย เพราะอัฟกานิสถานเป็นกุญแจสำคัญในการขยายดินแดนรัสเซียไปสู่มหาสมุทรอินเดียอันเป็นความฝันที่จะมีเมืองท่าที่ปราศจากน้ำแข็งตลอดปีของรัสเซียที่อังกฤษไม่ต้องการให้เกิดขึ้น ซึ่งจบลงด้วยการที่อังกฤษต้องทำสงครามกับอัฟกานิสถานถึง 3 ครั้ง แต่ในที่สุดอัฟกานิสถานก็ได้เอกราชใน พ.ศ.2462 คือนานกว่าบรรดาประเทศรอบข้างจากการไม่ยอมสยบต่อศัตรูภายนอกของชาวอัฟกานิสถานนั่นเอง

สงครามทั้งสามครั้งของอังกฤษต่ออัฟกานิสถานนี้ได้ให้บทเรียนแก่มหาอำนาจต่างๆ ที่พยายามเข้ามายึดครองอัฟกานิสถานในเวลาต่อมาไม่ว่าจะเป็นสหภาพโซเวียต หรือสหรัฐอเมริกาที่ต้องเผชิญกับสภาพภูมิศาสตร์และผู้คนชาวอัฟกานิสถานที่แทบจะเรียกว่าไม่สามารถที่จะเอาชัยชนะได้เลย กล่าวคือทั้งประเทศอัฟกานิสถานเป็นดินแดนแห่งหุบเขาและที่ราบสูงซึ่งบรรดาเมืองต่างๆ ของอัฟกานิสถานล้วนแล้วแต่มีทางเข้าทางออกทางเดียวแทบทั้งสิ้น ในการรบนั้นหากตัดเส้นทางคมนาคมของศัตรูได้ บรรดาเมืองสำคัญๆ ก็ไม่สามารถยืนหยัดอยู่ได้ นอกจากนี้ พลเมืองอัฟกานิสถานส่วนใหญ่กระจายกันตามหุบเขาซึ่งไม่ค่อยได้ติดต่อกับโลกภายนอกจึงมีลักษณะเหมือนคนโบราณที่มีความภูมิใจในชาติพันธุ์ของตนเองสูงมาก ยึดมั่นศาสนาอิสลามเหนือสิ่งอื่นใด และพร้อมเสมอที่จะสู้รบเพื่อปกป้องศักดิ์ศรีตนและวิถีชีวิตของตนประกอบกับได้รับการสนับสนุนทางอาวุธยุทโธปกรณ์จากประเทศอื่นๆ ตามสถานการณ์ของสงครามเย็นและการต่อต้านจักรวรรดินิยมอเมริกา ทำให้ 2 อภิมหาอำนาจของโลกไม่สามารถยึดครองอัฟกานิสถานได้เลย

Advertisement

การยุติสงครามอันยาวนาน 20 ปีของสหรัฐอเมริกาในอัฟกานิสถาน จากการประกาศของประธานาธิบดีโจ ไบเดนแห่งสหรัฐอเมริกา ในการถอนกำลังทหารออกจากอัฟกานิสถานตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2564 และให้เสร็จสิ้นก่อนกำหนดในวันครบรอบ 20 ปีการก่อวินาศกรรมเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ 11 กันยายน 2544 หรือ 9/11 ซึ่งเป็นจุดเริ่มการทำสงคราม ก็คือการสิ้นสุดของการยึดครองอัฟกานิสถานของสหรัฐอเมริกา ทำให้อัฟกานิสถานประสบความสำเร็จในการขับไล่อภิมหาอำนาจทั้ง 3 ของโลกออกจากประเทศได้

นับว่ายากนิ่งนักที่บรรดาประเทศเล็กประเทศน้อยของโลกจะสามารถทำได้

โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image