‘คสช.’โต้นักการเมืองกุข่าวให้นศท.เฝ้าหน้าคูหาประชามติ ยันอำนาจสูงสุดเป็นของ ปชช.

เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีแกนนำ นปช.ให้ข้อมูลว่าทางรัฐบาลใช้ทุกกลไก พร้อมทั้งใช้นักศึกษารักษาดินแดน (นศท.)ไปยืนโฆษณาหน้าหน่วยในวันลงคะแนนเพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติว่า คงเป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อนมาก เพราะทางกองทัพบกมีนโยบายสนับสนุนให้ นศท.ซึ่งอยู่ในวัยการศึกษาได้เข้ามามีส่วนช่วยเหลือสังคมในลักษณะจิตอาสาในกิจกรรมต่างๆ มาก่อนหน้าแล้ว ทั้งงานช่วยสังคมและงานสร้างความเข้าใจ ให้กับกลุ่มเพื่อนเยาวชนด้วยกันเอง หรือในกลุ่มครอบครัวและสังคมรอบข้าง แต่พอเป็นเรื่องของรัฐธรรมนูญก็ควรเป็นสิ่งที่ประชาชนทุกคนควรรู้และทำความเข้าใจ ไม่ใช่เป็นการไปเฝ้าหน้าคูหาแล้วคอยบอกใครให้เลือกอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นตนมั่นใจว่ายังไม่มีเรื่องใดไปขัดกับหลักการพื้นฐานของการทำประชามติ และประชาชนยังคงได้รับโอกาสร่วมและตัดสินใจได้โดยอิสระภายใต้กรอบและวิธีการที่เหมาะสม

พ.อ.วินธัยกล่าวต่อว่า สำหรับกรณีที่กล่าวว่ามีการบรรจุเนื้อหาทุกเรื่องที่ต้องการไว้ในร่างรัฐธรรมนูญนั้น ขณะนี้เข้าใจว่าคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็น เพื่อที่จะอธิบายตอบให้ด้วยเหตุด้วยผล ซึ่งมีในหลายๆ ประเด็น สามารถสร้างความกระจ่างสังคมได้เป็นอย่างดี แต่ข้อสังเกตจากสังคมในสมมุติฐานและความกังวลของกลุ่มการเมืองบางกลุ่มที่มีต่อร่างรัฐธรรมนูญเหมือนจะเน้นเฉพาะการเข้าสู่อำนาจและการรักษาอำนาจ เป็นหลัก จึงเป็นไปได้ที่พยายามไม่เห็นด้วยในแนวคิดการสร้างความเข้มแข็งให้องค์กรอิสระอื่นๆ ทั้งๆ ที่องค์กรอิสระนั้นๆ เป็นกลไกที่มีประชาชนมีส่วนร่วมได้โดยตรง และเสมือนเป็นคนร่วมขับเคลื่อนด้วย เช่นบางกรณีประชาชนอาจสงสัยก็สามารถขอยื่นเรื่องให้ตรวจสอบในเรื่องทุจริตหรือเรื่องที่ผิดปกติเองได้ด้วย

“สำหรับที่กล่าวว่าหากร่างรัฐธรรมนูญนี้บังคับใช้ ผู้ได้รับประโยชน์สูงสุดคือเครือข่ายอำนาจของ คสช. เชื่อว่ายังเป็นเพียงสมมุติฐานที่หวาดระแวงและขาดข้อพิสูจน์ที่สามารถจับต้องได้ มากไปกว่านั้นการที่กล่าวว่ามีความไม่เป็นประชาธิปไตยนั้นก็คงไม่ใช่ เพราะอีกส่วนของสังคมเริ่มมองเห็นตรงกันว่าปัญหาเกิดจากมีบางกลุ่มพยายามดึงเอาคำว่าประชาธิปไตยไปอ้างใช้ในมุมตนเองและพวกพ้องจะได้ประโยชน์เท่านั้น โดยเฉพาะการอ้างไว้เพื่อเป็นเกราะกำบังในการจะทำอะไรในเรื่องที่บางสถานการณ์อาจไม่เหมาะกับประเทศ หรืออ้างใช้กรณีคิดเห็นไม่ตรงกับกลุ่มคนที่เหลืออื่นๆ โดยเฉพาะกลุ่มที่คิดว่าอาจขัดขวางผลประโยชน์” พ.อ.วินธัยกล่าว

พ.อ.วินธัยกล่าวต่อว่า สำหรับที่พูดถึงกรณีรัฐบาลกำลังร่างกติกาที่เห็นชัดว่า อำนาจสูงสุดไม่ได้อยู่ในมือประชาชนนั้น ตนขอชี้แจงว่าค่อนข้างบิดเบือนอีกเช่นกัน เพราะเท่าที่ได้รับข้อมูลมาในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ได้เขียนเพิ่มเพื่อให้อำนาจ ประชาชนไว้มากกว่าเดิม ทั้งยังยืนยันว่าไม่ใช่แค่อำนาจสูงสุดจะอยู่กับประชาชนที่ได้รับเลือกเท่านั้น แต่ยังจะอยู่กับประชาชนในส่วนที่เหลืออีกด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการใช้เพื่อการตรวจสอบถ่วงดุล และการรักษาผลประโยชน์ประเทศ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image