‘วิโรจน์’ แฉบทเฉพาะกาล กม.นิรโทษโควิด ชี้ชัดยิ่งกว่าเหมาเข่ง บิ๊กศบค.ได้อานิสงส์ด้วย

‘วิโรจน์’ แฉบทเฉพาะกาล กม.นิรโทษโควิด ชี้ชัดยิ่งกว่าเหมาเข่ง บิ๊กศบค.ได้อานิสงส์ด้วย 

วันนี้ (12 ส.ค.) นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้โพสต์ข้อเขียน เรื่อง [ความหน้าด้านที่สุด ของ พ.ร.ก.นิรโทษกรรมเหมาเข่งล่วงหน้า อยู่ที่บทเฉพาะกาล] เผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊ก โดยมีรายละเอียดทั้งหมดดังนี้

“จากกรณีที่รัฐบาลพยายามที่จะออก พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็น “พ.ร.ก.นิรโทษกรรมเหมาเข่งล่วงหน้า”

ประเด็นที่สังคมจับจ้อง และก่นด่ากันในตอนนี้ ก็คือ ข้อที่ 7. ที่มีการนิรโทษกรรมล่วงหน้าให้กับ “บุคคล และคณะบุคคล ที่ได้รับการแต่งตั้ง หรือมอบหมายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดหา หรือบริหารวัคซีน”

ซึ่งทำให้เข้าใจได้ว่า ผู้ที่มีอำนาจ หรือมีหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจเชิงนโยบายเกี่ยวกับวัคซีนทั้งหมด ทั้งนายกรัฐมนตรี ผอ.ศบค. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ปลัดกระทรวง ผู้อำนวยการสถาบันฯ อธิบดี คณะกรรมการฯ คณะอนุกรรมการฯ คณะทำงานฯ ที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนทั้งหมด กำลังนำเอาความเหนื่อยยากของบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า ที่ต้องทำงานภายใต้ความแร้นแค้นของทรัพยากร และความไม่สนใจไยดีของรัฐบาล มาบังหน้า เพื่อให้ตนเองพ้นจากความรับผิดชอบทั้งปวง แถมยังกล้าเอาเรื่อง “โควิด” มาอ้าง เพื่อออกเป็น พ.ร.ก.อีกด้วย ซึ่งต้องขอยืนยันว่าถ้าเป็นการรักษาชีวิตของประชาชนในสถานการณ์โควิดนั้นเป็นเรื่องเร่งด่วน แต่การอาศัยสถานการณ์โควิด มานิรโทษกรรมให้กับตนเองและพวกแบบเหมาเข่งล่วงหน้า แบบนี้ ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนแน่ ซึ่งขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 อย่างชัดเจน

Advertisement

บุคลากรทางการพทย์ด่านหน้า ที่ทำงานหน้างานจริงๆ มีข้อสงสัยอย่างมาก เพราะโดยปกติแล้ว พวกเขาก็ได้รับการปกป้องคุ้มครองจากกฎหมายที่มีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ และ พ.รบ.การแพทย์ฉุกเฉิน เป็นต้น

แต่เอาเถอะครับ การที่จะออกมาตรการเพิ่มเติม เพื่อปกป้องคนทำงานทั้งหมด ที่ต้องทำงานตามคำสั่ง ทำตามนโยบาย ทำได้เท่าที่ทรัพยากรที่รัฐจัดหาให้อย่างจำกัด สังคมไม่โต้แย้งอยู่แล้ว

แต่ไม่ใช่การฉวยโอกาส หลบอยู่หลังชุด PPE เอาพวกเขามาบังหน้า แล้วออกกฎหมายเหมาเข่งเพื่อนิรโทษกรรมล่วงหน้า ให้แก่บุคคล หรือคณะบุคคล ที่มีอำนาจหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องกับนโยบาย

Advertisement

อย่าเอาบุคลากรด่านหน้า มาอ้างเพื่อให้ตนเองพ้นผิด ที่ผ่านมารัฐบาลนี้สนใจบุคลากรด่านหน้าหรือไม่ ก็ปรากฎชัดอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น

1. ความขาดแคลนชุด PPE และชุด PAPR ที่หลาย รพ. ต้องขอรับบริจาค แพทย์หลายคนต้องซื้อมาใส่เอง
2. หน้ากากอนามัย ก็ให้เบิกได้อย่างจำกัด ต้องซักแล้วใช้ซ้ำ
3. การมีความเห็นข้อที่ 10. ที่ระบุว่า หากให้บุคลากรทางการแพทย์ฉีด Pfizer เป็นเข็มที่ 3 เท่ากับเป็นการยอมรับว่า Sinovac ไม่มีผลในการป้องกัน และจะแก้ตัวได้ยากลำบากมากขึ้น
4. การกำหนดหลักเกณฑ์ให้บุคลากรทางการแพทย์ ที่ฉีด Sinovac 2 เข็มเท่านั้น ถึงจะได้รับการฉีด Pfizer เป็นเข็มที่ 3 ก่อนที่จะมีการกลับลำในอีก 2 วันถัดมา และในปัจจุบัน การจัดสรรวัคซีน Pfizer ก็ยังคงมีข้อท้วงติงอยู่

แต่ความเลวร้าย ที่หน้าด้านที่สุด ไม่ได้อยู่ที่ ข้อที่ 7. นะครับ แต่อยู่ที่ “บทเฉพาะกาล” ที่ระบุว่า

บรรดาคดีที่มีมูลความผิดที่เกี่ยวเนื่องจากการให้บริการส่งเสริมสุขภาพ การควบคุมและป้องกันโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสุขภาพ กรณีโควิด-19 ซึ่งเกิดขึ้น นับตั้งแต่วันที่ประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย ให้ได้รับ “การยกเว้นความรับผิดทางแพ่ง และอาญา ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ หรือทางวินัย”

นี่ไม่ใช่แค่การเหมาเข่ง แต่เป็นการ “เหมาโกดัง” เพราะถ้า พ.ร.ก.ฉบับนี้ผ่าน นั่นเท่ากับว่า

– ประชาชนที่ถูกเลื่อนฉีดวัคซีน จากการแทงม้าตัวเดียว และการจัดฉีดวัคซีนที่ล่าช้าของรัฐบาล จนในที่สุดตัวเองต้องมาติดโควิด และเสียชีวิต จะไม่สามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายใดๆ จากรัฐบาลได้เลย

– ประชาชนที่ต้องรอเตียง เข้าไม่ถึงยา Favipiravir ทั้งๆ ที่กรมการแพทย์มีหนังสือให้พิจารณาจ่ายยาได้ทันที จนต้องตายคาบ้าน ต้องออกมาตายกลางถนน จะฟ้องร้องขอรับการชดเชยใดๆ จากรัฐบาลไม่ได้เลย

– เด็กตัวเล็กๆ ที่พ่อแม่เสียชีวิตด้วยโควิด จากความล้มเหลวจากการบริหารจัดการของรัฐบาล ต้องมาเป็นกำพร้าตั้งแต่เล็ก และจะไม่ได้มีโอกาสได้กอดพ่อแม่ของพวกเขาอีกตลอดชีวิต จะไม่สามารถฟ้องร้องขอค่าชดเชยเยียวยาจากรัฐบาล ให้ช่วยดูแลเลี้ยงดูพวกเขาแทนพ่อแม่ที่จากไปได้

– ประชาชนที่ได้รับผลข้างเคียง และเสียชีวิตจากนโยบายการฉีดวัคซีนสลับชนิดของรัฐบาล ซึ่งยังไม่มีผลการศึกษาวิจัยที่มากเพียงพอ จะไม่สามาถฟ้องร้องเรียกค่าชดเชย เยียวยาอะไรจากรัฐบาลได้เลย

– ประชาชนที่ธุรกิจ และร้านค้าของเขา ต้องปิดกิจการ ต้องสิ้นเนื้อประดาตัว แถมยังต้องแบกหนี้สินที่ล้นพ้นตัว จากาปล่อยปละละเลยของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็น กรณีสนามมวยลุมพินี คณะ VIP การลักลอบเข้าเมืองผิดกฏหมาย การลักลอบค้าแรงงานต่างชาติ บ่อนการพนัน การเปิดสถาบันเทิงผิดกฎหมาย รวมทั้งการกำหนดนโยบายล็อคดาวน์ที่ผิดพลาด ขาดการเยียวยา จะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายอะไรจากรัฐบาลไม่ได้เลย

ถ้าอ่านมาถึงบทเฉพาะกาล จะตกใจอย่างมาก เพราะนี่ไม่ใช่แค่การเหมาเข่ง แต่เป็น พ.ร.ก.นิรโทษกรรมเหมาโกดังล่วงหน้า ที่ไม่ใช่แค่บุคคล หรือคณะบุคคลที่เกี่ยวข้องกับนโยบายวัคซีนเท่านั้น ที่จะได้รับประโยชน์จากกฎหมายฉบับนี้

แต่เป็น ฝ่ายบริหารที่อยู่บนหอคอยงาช้างทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ผอ.ศบค. เลขาฯ สมช. นายกรัฐมนตรี รมว.สาธารณสุข รมว.มหาดไทย ฯลฯ จะไม่ต้องรับผิดอะไรเลย ทิ้งให้ประชาชน 67 ล้านคน ต้องแบกรับกับความทุกข์ยากแสนสาหัสตามยถากรรม ทั้งๆ ที่ ความทุกข์ยากที่รุนแรงเกินกว่าที่ควรจะเป็นเหล่านั้น เกิดจากความผิดพลาดของนโยบายทั้งสิ้น

สิ่งที่ประชาชนต้องการจะเห็น ไม่ใช่ พ.ร.ก.นิรโทษกรรมเหมาเข่งล่วงหน้า ที่สุดแสนจะหน้าด้านแบบนี้ แต่สิ่งที่ประชาชน และสังคม ต้องการจะเห็น คือ

พ.ร.บ.ชดเชยเยียวยาประชาชนที่เสียชีวิต และได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อโคโรนา 2019

ที่มีสาระสำคัญ ในการจ่ายเงินเยียวยาให้กับประชาชนทีสูญเสียชีวิต เด็กที่ต้องมาเป็นกำพร้า และประชาชนที่ได้รับผลกระทบในรูปแบบต่างๆ อย่างสมเหตุสมผล เหมาะสมกับสัดส่วน

การเยียวยาจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น ให้แก่ผู้รับบริการที่ได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาล โดยกรณีรุนแรงต่อชีวิตจะได้รับเงินเยียวยาสูงสุด 400,000 บาท ตามมาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นเพียงมาตรการเยียวยาในระยะสั้น ให้แก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาลเท่านั้น แต่ในระยะยาวหากเงินในกองทุนร่อยหรอลงเรื่อยๆ ก็จะกระทบกับระบบสาธารณสุข ที่ต้องดูแลการรักษาพยาบาลให้กับประชาชนทุกคนทั่วประเทศ

เรื่องแบบนี้ ทำไมรัฐบาลไม่รู้จักคิด คิดแต่จะทำแต่เรื่องหน้าด้าน ผมไม่เข้าใจจริงๆ”

ย้อนอ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image