นักข่าววอยซ์ เล่านาทีคฝ.ถล่ม ตะโกนบอกเป็นสื่อ ยกขาตั้งกล้องโชว์ ยังรัวกระสุนยางชุดใหญ่

นักข่าววอยซ์ เล่านาทีคฝ.ถล่ม ตะโกนบอกเป็นสื่อ ยกขาตั้งกล้องโชว์ ยังรัวกระสุนยางชุดใหญ่

สืบเนื่องกรณีผู้สื่อข่าวอย่างน้อย 2 รายได้รับบาดเจ็บจากกระสุนยางของเจ้าหน้าที่ตำรวจขณะเข้ากระชับพื้นที่บริเวณแยกดินแดงในการชุมนุมของกลุ่มทะลุฟ้าในช่วงเย็นของวันที่ 13 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยปรากฏคลิปวีดีโอการวิ่งหลบหนีกระสุนยางและแก๊สน้ำตาจากถนนดินแดงเข้าสู่อาคารที่ทำการบริษัทประกันภัยไทยวิวัฒน์ ถนนดินแดง

นายพิชิตศักดิ์ แก่นนาคำ ผู้สื่อข่าวกองบรรณาธิการวอยซ์ออนไลน์ หนึ่งในผู้ได้รับบาดเจ็บ ให้สัมภาษณ์ ‘มติชน’ ถึงลำดับเหตุการณ์ในช่วงเวลาดังกล่าวว่า ในช่วงเย็นวันนั้น ตนและกลุ่มนักข่าวรวมตัวกันบนถนนดินแดงในจุดที่มุ่งหน้าลงอุโมงค์ โดยเริ่มมีเหตุปะทะแล้ว สื่อสำนักต่างๆรายงานข่าวตามหน้าที่ กระทั่งเวลาประมาณ 18.00 น.เป็นต้นมา เกิดฝนตกหนัก ผู้ชุมนุมเริ่มแยกย้ายกันหลบฝนตามจุดต่างๆ เจ้าหน้าที่ตำรวจก็หยุดยิงแก๊สน้ำตาชั่วคราว กล่าวคือ เป็นช่วง ‘พักยก’ สื่อมวลชนก็หลบฝนเช่นกัน โดยเกาะกลุ่มใต้ชายคาอาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง มีผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งหลบอยู่ด้วยกันปะปนกับนักข่าว ต่อมา เมื่อฝนซา ผู้ชุมนุมชวนกันวิ่งไปยังอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยบอกเหตุผลว่า มีรถตำรวจมา ดังนั้น จึงเหลือเพียงกลุ่มสื่อมวลชนเป็นหลัก

  • กระสุนยาง-แก๊สน้ำตา พาวงแตก คาใจ คำสั่งหรือเครียดสะสม ?

นักข่าววอยซ์ออนไลน์เล่าต่อไปว่า ในช่วงเวลานั้นเอง ตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) เดินเท้าเข้ายิงกระสุนยางใส่พวกตนอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่แสดงตัวอย่างชัดเจนว่าเป็นนักข่าว จนต้องพากันวิ่งหนีเข้าไปในอาคารประกันภัยไทยวิวัฒน์ซึ่งอยู่ใกล้เคียง

Advertisement

“ตอนนั้นกลุ่มที่หลบฝนอยู่ตรงตึกแถวใกล้ตึกไทยวิวัฒน์ ส่วนใหญ่คือสื่อมวลชน รวมแล้ว 10 กว่าคน มีทั้งสื่อโทรทัศน์ ออนไลน์ หนังสือพิมพ์ และสื่อต่างประเทศ มีปลอกแขนกันทุกคน แต่ตำรวจเดินเท้ามาเป็นแผง รัวยิงกระสุนยาง สื่อพยายามชูแขนให้เห็นว่าเป็นนักข่าว ช่างภาพก็ยกขาตั้งกล้องให้ดู เราพยายามแสดงตัวแล้วว่าเป็นสื่อ ถ้ายิงมานัดเดียว ยังเข้าใจได้ แต่นี่ยิงรัวมาเลย ผมโดนกระสุนยางที่ขา เป็นจ้ำแดงๆ เจ็บ แต่ไม่ถึงขนาดเป็นแผล นักข่าวต่างประเทศคนหนึ่ง บอกให้พวกเราก้มหัว แล้ววิ่งเข้าตึก ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าเป็นตึกไทยวิวัฒน์ ช่วงนั้น น่าจะโดนกันหลายคน เพราะนอกจากผม เท่าที่ทราบก็ยังมีน้องช่างภาพผู้หญิงจากอีกสำนักข่าวหนึ่งโดนกระสุนยางที่ขาเหมือนกัน

พอเข้าไปในตึก เจอผู้ชุมนุมอีกกลุ่มหนึ่งหลบอยู่ข้างในก่อนแล้ว ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ไม่กี่วินาทีต่อมา มีแก๊สน้ำตาเข้ามาในตึก ยามบอกว่าให้ขึ้นไปบนลานจอดรถ เลยพากันวิ่งไปถึงชั้น 5 สำหรับประเด็นแก๊สน้ำตา ถ้าให้ความเป็นธรรมกับเจ้าหน้าที่ อาจไม่ได้ตั้งใจยิงใส่สื่อมวลชน แต่เป็นการยิงแถวนั้น แล้วฟุ้งเข้ามาถึงในตึก จึงวงแตก จังหวะนั้น ชุลมุนมาก สิ่งที่น่าห่วงต่อไปคือ เราแสดงตัวอย่างเต็มที่แล้วว่าเป็นสื่อมวลชน บางคนยกกล้อง ชูขาตั้งกล้อง แสดงปลอกแขน แต่ก็ยังมีการรัวกระสุนยาง ตอนนั้นยอมรับว่าเริ่มมีอารมณ์ มีคนตะโกนกลับไปว่า ก็บอกว่าสื่อๆๆ จะยิงกันทำไม” นายพิชิตศักดิ์กล่าว

Advertisement
  • ยิงเหมือน ‘หุ่นยนต์’ ไม่สนสื่อ งง ปลอกแขน บช.น. ไม่มีความหมาย ?

สำหรับประเด็นที่ว่า สื่อมวลชนไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำ ให้อยู่หลังแนวตำรวจหรือไม่นั้น นายพิชิตศักดิ์กล่าวว่า ห้ามกันไม่ได้ ว่าจะไปอยู่จุดใด เพราะเป็นจังหวะชุลมุน ยืนยันว่า ไม่มีการยั่วยุ ก่อกวนเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด นอกจากนี้ สิ่งที่น่าสังเกตคือ ปฏิบัติการครั้งนี้ สื่อโดนหนักกว่าในการชุมนุมที่ผ่านมา ตนไม่ทราบว่ามีสาเหตุจากระบบการทำงานตามคำสั่ง หรือมาจากภาวะเครียดด้วยอารมณ์ที่สะสมหรือไม่ แต่ขออย่ามองสื่อมวลชนเป็นศัตรู

“ตอนนั้นเราหลบฝนกันอยู่ เลือกได้หรือว่าจะต้องไปหลบฝนกับตำรวจ เราไม่ได้ไปกวน ไปยั่วยุเจ้าหน้าที่เลย ตรงนั้นก็มีหลายสื่อ ไม่ได้มีแต่วอยซ์ ทุกคนพยายามแสดงตัวทั้งหมด ถ้ามาบอกว่าไม่มีสัญลักษณ์ ไม่ใช่แน่ๆ เพราะทุกคนมีปลอกแขนกันหมด ทั้งปลอกแขนของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และปลอกแขนที่ออกให้โดย บช.น.(กองบัญชาการตำรวจนครบาล) แสดงว่า ไม่มีผล ผมก็งง สรุปแล้วความปลอดภัยอยู่ตรงไหน เรายังไม่รู้เลย

ถามว่ามีนัยยะอะไรหรือไม่ มองว่า หลังๆ เริ่มมีภาพออกมาว่าไล่สื่อ สื่อยังคุยกันเองว่า ถ้ามานัดเดียว ยังเข้าใจได้ ว่ามือลั่น แต่นี่ยิงรัว ทั้งที่เกาะกลุ่มกันในหมู่นักข่าว อย่างน้อยมีเพื่อนสื่อด้วยกัน คงปลอดภัยในระดับหนึ่ง ที่ผ่านมา ลงพื้นที่ไปกับช่างภาพ ทำข่าวม็อบมาตลอด ก็มีการยิงมั่วบ้าง แต่ไม่ถึงขนาดนี้ รอบนี้รู้สึกว่าเจ้าหน้าที่ยิงเหมือนเป็นหุ่นยนต์ ไม่ดูอะไรแล้ว จังหวะนั้นจริงๆแล้วแค่เดินถือปืนมา พวกผมก็วิ่งหนีแล้ว ตรงนั้นไม่มีผู้ชุมนุมแล้ว มีแต่สื่อที่มีปลอกแขน ไม่มีอาวุธ มีแต่กล้อง ขาตั้ง และไวร์เลส ไม่แน่ว่าระบบการทำงานเป็นแบบนี้ หรือมาจากอารมณ์ที่สะสมจากการทำงาน อาจมีภาวะเครียดหรือไม่ เขามองข้ามเราไปแล้วว่าเราเป็นสื่อ นี่คือสิ่งที่น่าห่วง อยากให้ช่วยหยุดคิด หยุดมองนิดหนึ่ง ไม่อยากให้มองสื่อมวลชนเป็นศัตรู และอย่างน้อยเราก็เป็นประชาชน เป็นมนุษย์เหมือนกัน ต่างคนต่างทำงานตามหน้าที่ หรือถึงแม้จะไม่ใช่สื่อ แต่เป็นผู้ชุมนุมก็ไม่ควรโดนแบบนี้” นักข่าววอยซ์ออนไลน์กล่าว

  • ม็อบหน้าไปอีก ไม่คาดหวังสมาคมสื่อ ประนีประนอมรัฐเกินเหตุ

ส่วนประเด็นท่าทีของสมาคมสื่อต่อกรณีดังกล่าว นายพิชิตศักดิ์ กล่าวว่า ไม่ได้คาดหวัง เพราะที่ผ่านมา มีความประนีประนอมกับภารรัฐเกินไป หรือหากออกมาแสดงบทบาท ก็มักล่าช้า

“สมาคมสื่อต่างๆ ก็ขยับล่าช้า ท่าทีควรมี ควรออกมาจี้รัฐ ซึ่งเขาก็คงรู้ตัวอยู่แล้ว ว่าอะไรควรทำ แต่ด้วยบทบาทที่ผ่านมา ทำให้ไม่ได้คาดหวังอะไรกับอยู่แล้ว เหมือนไม่รู้ว่านักข่าวภาคสนามโดนอะไรบ้าง เมื่อวาน ไม่ใช่เคสแรก ที่ผ่านมา สื่อก็โดนอยู่เรื่อยๆ ขนาดศาลมีคำสั่งคุ้มครอง ยังไม่เป็นผล ส่วนการฟ้องร้อง ถ้าจะทำก็คงทำไปตามกระบวนการ แต่ถามว่าคาดหวังหรือไม่ ไม่คาดหวัง ต่อจากนี้ ผมก็จะยังทำหน้าที่สื่อเหมือนเดิม” นายพิชิตศักดิ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image