‘ทวี สอดส่อง’ โพสต์ อภ.เป็นผู้แทนการขายให้บริษัทผู้ผลิต ‘ซิโนแวค’ น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายและจริยธรรม

‘ทวี สอดส่อง’ โพสต์ อภ.เป็นผู้แทนการขายให้บริษัทผู้ผลิต ‘ซิโนแวค’ น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายและจริยธรรม

เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก เรื่อง “องค์การเภสัชกรรม” เป็นผู้แทนการขายให้บริษัทผู้ผลิต “วัคซีนซิโนแวค” น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายและจริยธรรม

โดยระบุว่า

เชื้อโรคร้ายแรงโควิด-19 ได้โจมตีชีวิตคนไทยต้องเสียชีวิตและติดเชื้อเพิ่มขึ้นจำนวนมาก หนทางแก้ไขวิกฤตในการป้องกันโควิดขณะนี้ทุกคนเรียกร้องว่าต้องจัดหาวัคซีนที่ดีที่สุดและฉีดให้เร็วที่สุด ยึดหลัก “กันไว้ดีกว่าแก้” แต่วันนี้ประชาชนยังตั้งตารอเมื่อไรจะได้ฉีดวัคซีน รัฐสร้างความสับสนในการสื่อสารกับประชาชน ส่วนการบริหารสถานการณ์ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังบริหารงานแบบรวบอำนาจแบบเบ็ดเสร็จตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นประธานกรรมการบริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ผอ.ศบค. อีกทั้งยังได้รวบอำนาจตามกฎหมายต่างๆ ถึง 40 ฉบับ มาไว้กับตนเอง ไม่ให้ความสำคัญโครงสร้างหน้าที่และอำนาจในระบบสาธารณสุขให้ทำงานเต็มศักยภาพ ยังหลงใหลในคำปรึกษาของอดีตข้าราชการและพวกพ้องที่รู้จักทั้งที่งานในอดีตไม่เคยมีโรคโควิด ไม่เคยรักษาหรือจัดซื้อวัคซีนป้องกันโรคโควิดมาก่อน บริหารจัดการซื้อวัคซีนเป็นลักษณะไม่โปร่งใส แต่งตั้งคณะกรรมการที่บางคนมีผลประโยชน์ทับซ้อน ขาดความจริงใจ จริงจังในการจัดหาวัคซีน แม้ในวันที่กระทรวงสาธารณสุขต้องชี้แจง คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญร่าง พ.ร.บ.รายจ่ายงบประมาณประจำ 2565 (เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2564) ที่มีกำหนดไว้ล่วงหน้าและเป็นกฎหมายสำคัญเกี่ยวกับการเงินที่ต้องใช้เงินภาษีของประชาชน อธิบดีกรมควบคุมโรค และผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ต้องขออนุญาต กมธ. ไปประชุมคณะพิจารณาการจัดหาวัคซีนที่นายกรัฐมนตรีตั้ง ซึ่งเฉพาะกิจที่ส่วนใหญ่เป็นคนภายนอกให้เสร็จก่อน จึงค่อยย้อนกลับมาชี้แจงคณะ กมธ.

ในการชี้แจงตอบคำถาม กมธ.ร่างพิจารณางบประมาณ นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และนายแพทย์นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ทำให้ทราบว่าจัดหาวัคซีนรัฐบาลได้มีสัญญาซื้อวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ( AstraZeneca) จำนวนที่สั่งจอง 61 ล้านโดส ในราคา 5 เหรียญสหรัฐอเมริกา/โดส หรือประมาณ 165 บาท/โดส ไม่รวมค่าขนส่ง ไม่รวมภาษี VAT การทำสัญญาที่รัฐเสียเปรียบทุกประเด็นอ้างว่าผู้ขายหรือผู้ผลิตมีอำนาจต่อรองสูงผู้ซื้อ (รัฐบาลไทย) ไม่มีอำนาจต่อรอง ถ้าผู้ขายวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าไม่ส่งมอบวัคซีนก็ไม่สามารถทำอะไรได้ ไม่สามารถเรียกค่าปรับผิดนัดตามสัญญาหรือทำอะไรได้เลย ดังนั้น “จัดหาวัคซีนที่ดีที่สุดและฉีดให้เร็วที่สุด” จึงเป็นเพียงความหวังและความฝันของประชาชนที่รัฐไม่สามารถตอบสนองได้

Advertisement

ส่วนกรณี วัคซีนซิโนแวค (Sinovac) ได้อ้างว่ามีความจำเป็นต้องแก้สถานการณ์ช่วงเดือนมกราคม 2564 มีการระบาดที่จังหวัดสมุทรสาครวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจะส่งมอบได้ประมาณเดือนมิถุนายน 2564 จึงจำเป็นต้องจัดหาวัคซีนมาเสริมเป็นภาระเร่งด่วนวัคซีนซิโนแวคมีสินค้าแล้วจึงทำการจัดซื้อ หลายประเทศที่รัฐบาลให้ความสำคัญในชีวิตของคนมีความสำคัญและมีคุณค่าจะไม่ใช้วัคซีนซิโนแวคฉีดให้คนของตนที่วงการแพทย์และสังคมมีประเด็นว่ามีคุณภาพต่ำกว่าวัคซีนตัวอื่น รัฐบาลไทยได้ซื้อมาใช้ล็อตแรกจำนวน 2 ล้านโดส ในราคา 17 เหรียญสหรัฐอเมริกา/โดส หรือประมาณ 560 บาท/โดส และซื้อครั้งหลังในราคา 15 เหรียญสหรัฐอเมริกา/โดส หรือประมาณ 590 บาท/โดส ทราบว่าปัจจุบันรัฐมีการซื้อไปทั้งหมดรวม 19.5 ล้านโดส ได้ส่งมอบให้รัฐแล้วประมาณ 14.5 ล้านโดส
สิ่งที่สร้างความเคลือบแคลงสงสัยยิ่งในกรณี วัคซีนซิโนแวค คือนายแพทย์นคร ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้ชี้แจง กมธ. ว่าวัคซีนทุกชนิดส่วนใหญ่มีตัวแทนขายเป็นผู้ขาย อาทิ วัคซีนโมเดอร์นา มีบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา เป็นผู้แทน ส่วนวัคซีนโควิดซิโนแวค ซึ่งไม่มีตัวแทนเป็นผู้ขายในไทยแต่มีองค์การเภสัชกรรมเป็นผู้แทน นั่นหมายความว่า องค์การเภสัชกรรม ต้องมีหน้าที่จัดการเรื่องเหล่านี้ให้กับบริษัทผู้ผลิตวัคซีนซิโนแวค หรือไม่? อาทิ

1.เรื่องการชำระเงิน-ระยะเวลาการจ่ายเงิน (Credit Term) นานกี่เดือน? หรือการค้ำประกันของธนาคาร (Bank Guarantee) เป็นจำนวนเงินเท่าไหร่?
2.การส่งเสริมการขาย-การใช้วัคซีน การส่งเสริมยอดการฉีดวัคซีน มีโปรโมชั่น ลดแลกแจกแถมให้ด้วยหรือไม่? อย่างไร?
3.การดูแลหลังการขาย-การดูแลหลังการขาย การรับประกันคุณภาพของผลิตภัณฑ์ถูกต้องหรือไม่? การบรรจุภัณฑ์ได้มาตรฐานหรือไม่?
4. การส่งมอบ-ขบวนการการจัดส่งวัคซีนและปริมาณสินค้า ตรวจรับกันอย่างไร?
5.การตลาด-การประเมินปริมาณสินค้าล็อตหน้า การเอื้อเฟื้อกัน เพื่อที่จะได้สั่งอีกในล็อตถัดไป รวมถึงการรู้จักมักคุ้นกับผู้ผลิตซิโนแวค ในฐานะคู่ค้าผู้ร่วมส่งเสริมสินค้าตัวเดียวกัน เป็นต้น
การเป็นตัวแทนให้บริษัทเอกชนขายวัคซีนต่างประเทศ ไม่ใช่วัตถุประสงค์ขององค์การเภสัชกรรม และเป็นเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์!

สถานการณ์ในขณะนี้ วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ขาดแคลน ผู้ขายและผู้ผลิดจัดส่งมอบให้ประเทศไทยล่าช้า รัฐบาลไม่สามารถทำอะไรได้เพราะเป็นสัญญาที่รัฐเสียเปรียบทุกประเด็น สิ่งที่รัฐตั้งความหวังคือการบริจาควัคซีนจากต่างประเทศที่จะเมตตาประเทศไทย เมื่อไม่มีวัคซีนจะฉีดประชาชนจึงติดเชื้อเป็นจำนวนมาก เลื่อนแล้วเลื่อนอีกจนผู้ติดเชื้อทะลุสองหมื่นคนต่อวัน ผู้เสียชีวิตพุ่งสูงเกินสองร้อยคนต่อวัน รวมผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 7,000 คน แม้จะวางแผนซื้อเวลาโดยฉีดแอสตร้าเซนเนก้า สลับกับซิโนแวค แต่ทราบว่าแอสตร้าเซนเนก้ายังส่งมาล่าช้าการฉีดสลับต้องเลื่อนไป

Advertisement

การที่รัฐบาลยอมให้ “องค์การเภสัชกรรม” เป็นตัวแทนของบริษัทยาเอกชนจากประเทศจีน ให้บริการวัคซีนที่มีคุณภาพด้อยที่สุดเมื่อเทียบกับวัคซีนอื่น จึงไม่น่าจะชอบด้วยกฎหมายและจริยธรรม ทั้งนี้ เพราะองค์การเภสัชกรรมเป็นรัฐวิสาหกิจ ตาม พ.ร.บ.องค์การเภสัชกรรม พ.ศ.2509 มีวัตถุประสงค์ผลิตยาและเวชภัณฑ์ที่ต้องคำนึงถึงประโยชน์ของรัฐและประชาชน (มาตรา 31) หน้าที่หลัก คือ การเตรียมความพร้อมทางด้านเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ในการช่วยเหลือประชาชนให้เข้าถึงยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ ในราคาที่เป็นธรรมโดยไม่ได้มุ่งเน้นแสวงหากำไรใดใดเพื่อช่วยเหลือประชาชนในยามเกิดวิกฤตและฉุกเฉิน เงินที่นำไปซื้อวัคซีนเป็นภาษีประชาชน ต้องนำไปซื้อสิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่ทำได้ให้ประชาชนมีความคุ้มค่า มีการใช้จ่ายอย่างโปร่งใส มีประสิทธิภาพ รัฐบาลมีความล้มเหลวในการป้องกันและรักษาการระบาดโรคโควิดทำให้มีผู้ติดเชื้อและล้มตายแบบใบไม้ร่วง จึงมีผู้เรียกร้องความรับผิดชอบของรัฐบาลให้ลาออก หรือยุบสภา ตามกระบวนการประชาธิปไตย แต่รัฐบาลคิดแก้ปัญหาความผิดพลาดด้วยการชงเรื่องนิรโทษกรรมให้ผู้จัดหาวัคซีนและบริหารงานโควิค เห็นแก่ตัวเกินไปหรือไม่?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image