นายกฯย้ำแนวนโยบายนำเทคโนโลยีสมัยใหม่อำนวยความสะดวก ปชช.แบบ นิวนอร์มอล

นายกรัฐมนตรีย้ำแนวนโยบายนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาอำนวยความสะดวกประชาชนในรูปแบบ new normal

เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม  น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในช่วงเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้ให้นโยบายกับหน่วยงานต่างๆ ที่ให้บริการประชาชนให้เน้นการใช้ระบบอัตโนมัติ รวมถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาสนับสนุนการทำงานเพื่อให้การบริการประชาชนยังดำเนินไปได้เป็นไปตามมาตรการควบคุมโรค และตามแนวทางการใช้ชีวิตวิถีใหม่ (new normal)

ทั้งนี้ หนึ่งในโครงการที่รัฐบาลโดยกระทรวงคมนาคมได้ผลักดันตามแนวนโยบายของนายกรัฐมนตรีคือการพัฒนาระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น (M-Flow) บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง(มอเตอร์เวย์) ที่ขณะนี้มีความพร้อมเปิดให้บริการประชาชนระยะแรกได้ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2564 เป็นต้นไป

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ช่วงเช้าของวันนี้(15 ส.ค.) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงคมนาคม ตำรวจทางหลวง และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) ได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจเยี่ยมการทดสอบระบบ M-Flow ณ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 (ด่านธัญบุรี ขาออกเมือง)และศูนย์ควบคุมกลาง (CCB ลาดกระบัง) ซึ่งรมว.คมนาคม ระบุว่าจากการตรวจความพร้อม ทั้งในส่วนของตัวอุปกรณ์และการเชื่อมต่อกับระบบควบคุมรายการผ่านทางในระดับช่องทาง รวมไปถึงการส่งข้อมูลรถที่ผ่านทางเข้าไปยังระบบ Single Platform ที่อาคารศูนย์ควบคุมฯ มีความพร้อมสำหรับการเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการแล้ว โดยกรมทางหลวงมีกำหนดที่จะทดสอบระบบเสมือนจริงแบบครบวงจร (Soft Opening) ในช่วงเดือนต.ค.2564 นี้ และจะเปิดบริการเต็มรูปแบบในปี 2565
(อ่านข่าว ‘ศักดิ์สยาม’ ตรวจความพร้อมระบบ M-Flow คาดเปิดทดลองใช้เดือนตุลาคม ก่อนเปิดเต็มรูปแบบ ปี’65 )

ทั้งนี้ กำหนดเปิดให้บริการในมอเตอร์เวย์หมายเลข 9 ครบทั้ง 4 ด่าน ได้แก่ ด่านทับช้าง 1 ด่านทับช้าง 2 ด่านธัญบุรี 1 และด่านธัญบุรี 2 ในช่วงเดือนม.ค. ปี 2565 ทางพิเศษฉลองรัช ระยะแรก จำนวน 3 ด่าน ได้แก่ ด่านจตุโชติ ด่านสุขาภิบาล 5-1 และด่านสุขาภิบาล 5-2 คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 ส่วนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 กรุงเทพฯ-บ้านฉาง และทางพิเศษฉลองรัช ระยะที่ 2 บูรพาวิถี และกาญจนาภิเษก คาดว่าจะสามารถเปิดทดสอบระบบได้ในช่วงปี 2566

Advertisement

นายศักดิ์สยาม กล่าวระหว่างการลงพื้นที่ว่า การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่นี้ก็เป็นไปตามนโยบายพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ที่ต้องการเห็นประเทศไทยก้าวสู่ความเป็นดิจิทัล ซึ่งระบบ M-Flow ได้แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยได้พัฒนามาถึงจุดนี้แล้ว โดยระบบนี้จะช่วยลดปัญหาความแออัดบนหน้าด่านเก็บเงิน เพิ่มประสิทธิภาพรถวิ่งผ่านได้เพิ่มขึ้น 5 เท่า จาก 400 คันต่อ 1 ช่องจราจรต่อชั่วโมง เป็น 2,000 คัน ต่อ 1 ช่องจราจรต่อชั่วโมง

นอกจากนี้ ในช่วงการเปิดทดลองใช้เสมือนจริงแบบครบวงจร (Soft Opening) ในเดือนต.ค.2564 จะมีการเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนเป็นสมาชิก เพื่อทดลองใช้บริการและมีส่วนร่วมในการทดสอบระบบ มีเจ้าหน้าที่คอยรับการลงทะเบียนผ่านช่องทางต่างๆ อำนวยความสะดวกการชำระเงินทั้งแบบ Pre-paid และ Post-paid และกรมทางหลวงยังได้เตรียมโปรโมชั่นต่างๆเพื่อจูงใจให้ประชาชนเข้ามาใช้ระบบ ซึ่งเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนในช่วงเวลาที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด เป็นไปตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีว่าจะต้องทำไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมยังอยู่ระหว่างการบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาระบบการชำระค่าธรรมเนียมให้เป็นรูปแบบของ Single Platform เพื่อให้สามารถรองรับการให้บริการทางพิเศษทั่วประเทศบนแพลตฟอร์มเดียวกัน โดยเฉพาะการเชื่อมโยงกับระบบทางด่วนในกรุงเทพฯให้ใช้ระบบนี้ได้ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาจราจรซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ในเมืองหลวงต่อไป รวมถึงบูรณาการเรื่องการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้การบังคับใช้เป็นไปตามมาตรฐานสากลต่อไป

Advertisement

“เป็นการใช้เทคโนโลยีเข้ามาแก้ไขปัญหาจราจร และจะสามารถลดค่าใช้จ่ายเรื่องบุคลกรได้ในอนาคตและยังเป็นการเข้าสู่ระบบที่เรียกว่า new normal ป้องกันการติดเชื้อโรคได้ ไม่เฉพาะโควิด-19 แต่รวมถึงโรคติดต่อต่างๆที่อาจมีขึ้นอีกในอนาคต จากระบบเดิมจะมีการสัมผัส เพราะต้องมีการจอด จ่ายเงินสด หรือเอาบัตรมาแตะก็ยังมีโอกาสระบาด แต่ระบบนี้ป้องกันไม่ให้มีการสัมผัสได้ ส่วนอัตราค่าบริการผ่านระบบ M-Flow ก็ยังใช้อัตราเดิม” รมว.คมนาคมกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image