เผยกม.มีรูโหว่ กรณีเมืองพัทยา ผู้ว่าฯ ชลบุรีมุ่งสรรหาใหม่ รอมท.แจ้งแนวทาง

เผยกม.มีรูโหว่ กรณีเมืองพัทยา ผู้ว่าฯ ชลบุรีมุ่งสรรหาใหม่ รอมท.แจ้งแนวทาง

กรณีปัญหาสมาชิกสภาเมืองพัทยาลาออก ทำให้สภาเมืองพัทยาที่เหลือปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ โดยมีข้อต้องพิจารณาคือ คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 1/2557 ที่ระบุถึงการได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2557 ซึ่งระบุในข้อ 1 สรุปว่า ไม่ให้คำสั่งฉบับดังกล่าวมีผลบังคับกับกรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา ดังนั้น แม้ คสช.จะมีทางออกกรณีสมาชิกสภาท้องถิ่นว่างลงว่า ให้สภาท้องถิ่นด้วยจำนวนสมาชิกที่เหลืออยู่ คัดเลือกสมาชิกสภาท้องถิ่นแทนตำแหน่งที่ว่างลง แต่ก็ไม่ครอบคลุมถึงกรุงเทพฯ และพัทยา เท่ากับว่ากรณีสภาพัทยาที่กำลังเกิดขึ้น ยังไม่มีกฎหมายหรือคำสั่งใดระบุว่าต้องทำอย่างไรได้

เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ที่ผ่านมา นายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีสมาชิกสภาเมืองพัทยาลาออกว่า สมาชิกสภาเมืองพัทยาเดิมได้มีการคัดสรรไว้เมื่อปี 2559 จะมีสมาชิกทั้งหมด 12 คน ปัจจุบันเหลือสมาชิก 8 คน เมื่อวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา ได้มีสมาชิกลาออก 4 คน เหลือสมาชิกทั้งหมด 4 คน เมื่อไปดูประกาศ คสช. 1(2) หากสมาชิกสภาน้อยกว่ากึ่งหนึ่งถือว่าพ้นสภาพ และข้อ 10 กำหนดไว้ว่า หากสมาชิกสภาเมืองพัทยาหากพ้นตำแหน่งไม่ต้องเลือกตั้ง จึงเกิดประเด็นว่าเหลือสมาชิกสภาเมืองพัทยา 4 คน น้อยกว่ากึ่งหนึ่งจะทำหน้าที่ได้หรือไม่ จึงได้หารือทางฝ่ายกฎหมาย สำนักงานท้องถิ่นจังหวัดชลบุรี และได้ปรึกษาไปยังส่วนกลาง ทำหนังสือไปยังกระทรวงมหาดไทย คาดว่าทางกระทรวงมหาดไทยจะมีคำตอบเร็วๆ นี้ หากกำหนดมาอย่างไรก็จะดำเนินการตามคำสั่ง โดยหลักแล้วจะต้องมีการสรรหาสมาชิกเมืองพัทยาขึ้นมาใหม่ เพื่อให้ทำหน้าที่ต่อไปให้ได้

นายอดิศร ผลลูกอินทร์ อดีตรองประธานสภาเมืองพัทยาและอดีตผู้สมัคร ส.ส.ชลบุรี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การที่สมาชิกสภาเมืองพัทยาลาออกครั้งนี้ คาดว่าคงจะมีการสรรหาเหมือนเดิม คงไม่มีการเลือกตั้งใหม่ เนื่องจากสถานการณ์ไม่ปกติ มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างไรก็ตามในการสรรหาสมาชิกสภาเมืองพัทยาใหม่นั้น อยากให้มีการพิจารณาคนในพื้นที่เมืองพัทยาเข้ามาบริหารงาน มีกลุ่มทุน นักธุรกิจ เจ้าของโรงแรม ที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาบริหาร
เมืองพัทยา จะได้รู้ปัญหาของเมืองพัทยาและแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้องตามความต้องการของคนพัทยา ไม่สมควรเอาคนนอกเขตเข้ามาบริหารงาน เพราะไม่รู้ปัญหาที่เกิดขึ้นในเมืองพัทยา

“จากการที่อยู่เมืองพัทยามานาน การเลือกตั้งสมาชิกสภาเมืองพัทยานั้น ส่วนใหญ่จะได้ยกทีมเข้ามาบริหารงาน ไม่เคยเจอปัญหาที่เกิดขึ้น กรณีที่มีการขัดแย้งในสภาจนกระทั่งมีการลาออก ส่วนใหญ่หากมีปัญหาในที่ประชุม ก็จะเลื่อนการพิจารณาวาระนั้นออกไป หลังจากนั้นจะไปคุยกันนอกรอบ จนกว่าจะได้ข้อยุติ หลังจากนั้นจึงจะนำปัญหาที่เกิดเข้ามาประชุมกันใหม่” นายอดิศรกล่าว และว่า แต่ครั้งนี้แปลกมาก หลังจากการประชุมสภาเมืองพัทยา พอไม่พอใจก็ลาออก ดูๆ แล้วอาวุโสกันทั้งนั้น ที่สำคัญทุกคนมีความคิดเป็นของตัวเอง เมื่อเกิดความไม่พอใจ จึงได้ลาออก ทำให้สภาเมืองพัทยาเกิดความวุ่นวายขึ้นมา

Advertisement

ด้าน นายซูการ์โน มะทา ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า ความเห็นส่วนตัวเห็นว่าหากจะไม่ยุ่งยาก ควรจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่โดยเร็ว ไม่เห็นด้วยกับการแต่งตั้ง เพราะจะมีปัญหาในทางกฎหมายไม่มีหลักการใดรองรับ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ควรมีมติมอบหมายให้ กกต.เป็นผู้กำกับดูแลให้เมืองพัทยาดำเนินการจัดการเลือกตั้งในสถานการณ์โรคระบาดให้ได้ด้วยการเพิ่มหน่วยเลือกตั้ง เพิ่มมาตรการเว้นระยะห่าง ยืนยันว่าการเลือกตั้งใหม่เป็นทางออกที่ดีที่สุด แม้ว่าจำนวนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งอาจจะมีไม่มาก

นายประเสริฐ วชิรเขื่อนขันธ์ คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมาย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย (ส.ท.ท.) กล่าวว่า เพื่อไม่ให้ประชาชนเสียโอกาสในการพัฒนาเมืองในรูปแบบพิเศษ ผู้มีอำนาจควรสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่โดยเร็ว และเชื่อว่า กกต.มีความพร้อม ไม่น่าจะมีปัญหาอุปสรรคจากการระบาดของโควิด-19

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับข้อต้องพิจารณาถึงการเลือกหรือสรรหาสมาชิกสภาพัทยา ประเด็นวำคัญ คือ คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 1/2557 ที่ระบุถึงการได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2557 ซึ่งระบุในข้อ 1 สรุปว่า ไม่ให้คำสั่งฉบับดังกล่าวมีผลบังคับกับกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา ดังนั้น แม้ คสช.จะมีทางออกกรณีสมาชิกสภาท้องถิ่นว่างลงว่า ให้สภาท้องถิ่นด้วยจำนวนสมาชิกที่เหลืออยู่ คัดเลือกสมาชิกสภาท้องถิ่นแทนตำแหน่งที่ว่างลงอยู่ในคำสั่งดังกล่าว แต่ก็ไม่ครอบคลุมถึงกรุงเทพฯ และพัทยา

Advertisement

เท่ากับว่ากรณีสภาพัทยาที่กำลังเกิดขึ้น เป็นช่องว่างของกฎหมาย ยังไม่มีกฎหมายหรือ ระเบียบคำสั่งใด ระบุแนวทางชัดเจนว่าต้องทำอย่างไร และหากดำเนินการผิดพลาด อาจนำไปสู่การฟ้องร้องต่อไปได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image