กระแสต้าน การซื้อซิโนแวค จาก ‘ปริมาณ’ ไปสู่ ‘คุณภาพ’
มติล่าสุดจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ‘ศบค.’ ที่อนุมัติให้ซื้อวัคซีนซิโนแวคจากจีนเพิ่มขึ้นอีก จำนวน 12 ล้านโดส
สร้างความตื่นตะลึงเป็นอย่างสูง ไม่ว่าจะมองจากมุมทางด้านการแพทย์ การสาธารณสุข ไม่ว่าจะมองจากมุมทางด้านการเมือง
เพราะในความเป็นจริง กระแสในทางสังคมที่สะท้อนไปในแนวทางปฏิเสธและต่อต้านวัคซีนยี่ห้อนี้จากประเทศจีนได้ขึ้นสูงเป็นอย่างสูงทั้งในระดับสากลและในระดับประเทศ
แม้กระทั่งบุคลากรทางการแพทย์ก็เรียกร้องต้องการวัคซีนอย่างที่เรียกว่าเอ็มอาร์เอ็นเอ ไม่ว่าจะเป็นภาคีแพทย์ ไม่ว่าภาคีพยาบาล ที่แสดงตัวออกมาในนาม ‘หมอไม่ทน’
กระนั้น เสียงอุทธรณ์ในเชิงปฏิเสธและต่อต้านเหล่านี้ทางผู้รับผิดชอบในการกุมยุทธศาสตร์กลับทำเป็นหูทวนลม
จึงยิ่งทำให้เกิดสถานการณ์ ‘ด้อยค่า’ ยิ่งลงลึกไป
กระทั่งก่อให้เกิดข้อสงสัยในลักษณะเดียวกันกับข้อสงสัยที่ดึงดันในกรณีการจัดหาชุดตรวจเชื้อ หรือเอทีเค อันอื้อฉาว
ไม่ว่าจะเป็นความสงสัยต่อการจัดหาเครื่องตรวจเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นความกังขาในเรื่องการจัดหาวัคซีน หากเป็นข้อสงสัยในหมู่ประชาชนทั่วไปอาจไม่มีน้ำหนัก
แต่ในเมื่อบุคคลที่เปิดหน้าออกมาต้านล้วนเป็นบุคลากรในสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และชมรมแพทย์ชนบท
ย่อมตอกย้ำยืนยันให้เห็นว่า ปรากฏการณ์ ‘หมอไม่ทน’ มิได้เป็นเรื่องในเชิงโวหาร หากแต่มาจากบุคลากรซึ่งเป็น ‘ด่านหน้า’ แท้จริงในการเผชิญประสบกับความไม่น่าเชื่อถือของผู้บริหาร
ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารในระดับ ‘ศบค.’ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้อำนวยการ ไม่ว่าจะเป็นระดับกระทรวง
ความรู้สึก ‘ร่วม’ อันสะสมขึ้นในเชิงปริมาณมากขึ้น คือการที่อำนาจรัฐปฏิเสธเสียงร้องของประชาชน ไม่ว่าระดับชาวบ้าน ไม่ว่าระดับบุคลากรทางการแพทย์
เหมือนกับว่า ‘ความรู้สึก’ ของพวกเขาไม่มีค่า ความหมาย
จึงกลายเป็นความผิดซ้ำซากและรอคอยปริมาณที่ทวีมากขึ้น กระทั่งกลายเป็นคุณภาพใหม่ในทางความคิด ในทางการเมือง
รวมศูนย์ไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นจุดเดียว