วิพากษ์อำนาจกกต. แจกใบ”เหลือง-ส้ม-แดง”

หมายเหตุ – ความคิดเห็นของอดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และนักวิชาการ ต่อกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติส่งร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) พิจารณาเพื่อจัดทำเป็นกฎหมายประกอบการเลือกตั้ง โดยมีใบเหลืองคือ สั่งระงับก่อนการเลือกตั้ง ใบส้มคือสั่งระงับการเลือกตั้งก่อนการประกาศผลเลือกตั้งเป็นเวลา 1 ปี และใบแดง คือเสนอศาลเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งหลังการประกาศผล

สดศรี สัตยธรรม
อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

“..อำนาจอยู่ที่ กกต.ฝ่ายเดียวโดยไม่มีการอุทธรณ์ไปที่ศาลก็จะเป็นการเพิ่มอำนาจให้กับ กกต.มากเกินไป…”

กรณีที่ กกต.สามารถสั่งระงับสิทธิรับสมัครหรือใบส้มได้เป็นเวลา 1 ปี โดยมติ กกต.ถือเป็นที่สุดนั้น ส่วนตัวมองว่าถ้ามีอำนาจอยู่ที่ กกต.ฝ่ายเดียวโดยไม่มีการอุทธรณ์ไปที่ศาลก็จะเป็นการเพิ่มอำนาจให้กับ กกต.มากเกินไป ซึ่งการระงับสิทธิการเลือกตั้ง 1 ปี ควรต้องไปดูรัฐธรรมนูญว่าให้อำนาจ กกต.สามารถทำเช่นนั้นได้หรือไม่ อย่างไร เพราะการจัดทำกฎหมายลูกต้องสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายแม่ หากกฎหมายแม่ว่าอย่างไรก็ต้องว่าไปตามนั้น กฎหมายลูกค่อยมาลงรายละเอียดต่อไป

ดังนั้น ทางคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ต้องนำเอารัฐธรรมนูญมาพิจารณาดูว่าให้อำนาจ กกต.การให้ใบส้มหรือไม่ ซึ่ง กรธ.ต้องพิจารณาว่ากฎหมายลูกจะเขียนนอกเหนือไปจากรัฐธรรมนูญไม่ได้ เพราะฉะนั้น ถ้ารัฐธรรมนูญไม่ได้ให้อำนาจ กกต.ในกรณีดังกล่าวก็ขัดกับหลักการของกฎหมาย แต่ถ้ามีการพิจารณาแล้วพบว่าไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญที่สามารถออกใบส้มได้ ดิฉันคิดว่าควรจะเป็นในลักษณะที่มีศาลกลั่นกรองไว้อีกชั้นหนึ่ง

Advertisement

โดยสามารถที่จะอุทธรณ์เสนอไปยังศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ส่วนถ้าเป็นการเลือกตั้งท้องถิ่นก็ต้องให้ศาลอุทธรณ์กลาง หรือศาลอุทธรณ์ภูมิภาคเป็นผู้กลั่นกรอง

เหมือนเช่นกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เวลามีมติสั่งการอะไรก็ต้องมีการการกลั่นกรองโดยอัยการแล้วค่อยส่งไปศาลอีกครั้งหนึ่ง แต่การที่ให้อำนาจ กกต.เพียงองค์กรเดียว สามารถระงับสิทธิการเลือกตั้งได้หนึ่งปีโดยที่ไม่มีกระบวนการอะไรกลั่นกรองไว้เลย ถือเป็นการเพิ่มอำนาจจนเกินเหตุ และมากเกินไป

ดังนั้น การพิจารณาในกรณีนี้ของ กกต.ต้องยึดหลักการตรวจสอบอำนาจระหว่างกัน check and balance โดยมีศาลเป็นผู้ตรวจสอบดุลพินิจของ กกต.

รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่

Advertisement

“…มาตรฐานของ กกต.หรือกระบวน การตัดสินและลงโทษในสังคมไทยไม่สู้จะน่าเชื่อถือมากเท่าไหร่ …”

ที่ผ่านมาปัญหาอย่างหนึ่งคือ การใช้อำนาจของ กกต.โดยเฉพาะการแจกใบแดงดูเหมือนจะเป็นปัญหามาก คล้ายการลงโทษผู้สมัครเลือกตั้งที่ กกต.เชื่อว่าทุจริตในการเลือกตั้งจึงออกใบแดง ที่ผ่านมาถูกโต้แย้งว่า กกต.ควรมีอำนาจนี้หรือเปล่า ตอนนี้ กกต.ก็ขยายให้มีใบส้ม ใบดำ ที่สำคัญถ้ามีการลงโทษผมคิดว่าควรทำผ่านองค์กรอื่นๆ เพราะไม่อย่างนั้น กกต.จะกลายเป็นผู้ที่จัดการเลือกตั้งแล้วก็ลงโทษผู้ที่กระทำความผิดในการเลือกตั้งเอง ซึ่งผมคิดว่า

จะเป็นปัญหามีข้อโต้แย้งอย่างกว้างขวางแน่ๆ

แม้จะมีการส่งให้ศาลพิจารณา แต่ปัญหาคือที่ผ่านมาในบางกรณีจะทำให้เกิดความล่าช้า หมายความว่าการแจกใบต่างๆ เหล่านี้ของ กกต.อาจจะทำให้กระทบต่อความได้เปรียบเสียเปรียบในทางการเมือง เพราะผู้สมัครโดนใบเหล่านี้ปุ๊บ หมายความว่า พอผลเลือกตั้งออกมาเขาจะไม่ถูกนับเป็นส่วนหนึ่งของผู้สมัครผมคิดว่าเป็นเรื่องใหญ่

แม้กระทั่งที่ผ่านมา ผมคิดว่า กกต.ควรมีอำนาจในการแจกใบแดงหรือเปล่า ก็ถูกตั้งคำถาม เพราะคณะกรรมการการเลือกตั้ง จุดมุ่งหมายที่เกิดขึ้นคือ บริหารการเลือกตั้ง จัดให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นต่อไปได้โดยความสงบ ถ้ามีการกระทำความผิด ผมคิดว่า กกต.ควรเป็นองค์กรริเริ่มในการฟ้องคดีหรือกล่าวหา แต่ไม่ใช่องค์กรที่ทำหน้าที่ตัดสินไปพร้อมกัน

การลงโทษให้ใบดำตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต ผมคิดว่าไม่น่าจะเกิดขึ้น เพราะสิทธิทางการเมืองถ้าคนทำความผิดอะไรแล้วต้องลงโทษ ควรลงโทษในระยะเวลาที่จำกัด การตัดสิทธิทางการเมือง

ตลอดชีวิตในแง่หนึ่งหมายถึงการประหารชีวิตในทางการเมือง หมายความว่าบุคคลนั้นจะเสียสิทธิในทางการเมืองไปตลอดชีวิตเลย ซึ่งผมไม่คิดว่าในนานาอารยประเทศจะมีการลงโทษที่รุนแรงขนาดนี้ การตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิตเป็นโทษที่รุนแรง หมายถึงการกันบุคคลนั้นออกไปจากการมีสิทธิมีเสียงในทางการเมือง กรณีแบบนี้ไม่ควรเกิดขึ้น ถ้ามีการทุจริตการเลือกตั้งที่ประจักษ์ชัดก็ควรมีระยะเวลาที่จำกัด เช่น 5 ปีก็ยังอยู่ในมาตรฐานที่เราสามารถรับได้

เท่าที่ดูประเทศหลักๆ ในประชาธิปไตย เราไม่ค่อยเห็นการตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต

น่าเป็นห่วง เพราะตอนนี้ผมคิดว่ามาตรฐานของ กกต.หรือกระบวนการตัดสินและลงโทษในสังคมไทยไม่สู้จะน่าเชื่อถือมากเท่าไหร่ จะทำให้เกิดกรณีของสิ่งที่เรียกว่าสองมาตรฐานหรือเลือกปฏิบัติเกิดขึ้น จะทำให้สังคมไทยวนเวียนอยู่กับปัญหาแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ

โคทม อารียา
อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

“…กกต.ก็เป็นมนุษยปุถุชนธรรมดาที่มีกิเลสเหมือนๆ กับมนุษย์คนอื่นๆ”

การกำหนดบทลงโทษกรณีทุจริตการเลือกตั้งในร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ฉบับแจก “ใบเหลือง-ใบส้ม-ใบแดง-ใบดำ” ที่ กกต.เสนอให้ กรธ.พิจารณา เป็นความพยายามของ กกต.ในการจำแนกขั้นตอนในวงรอบของการเลือกตั้ง โดยแบ่งเป็น 2 ระยะ นั่นคือ ก่อนประกาศผลเลือกตั้ง กับหลังการประกาศผลเลือกตั้ง

กรณีการเพิกถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้ง หรือที่ กกต.เรียกว่า “ใบดำ” นั้น ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ กรธ.คิดไว้ และมีอยู่แล้วในร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ เพียงแต่ว่า กรธ.ไม่ได้ระบุว่าโทษตลอดชีวิตที่ กรธ.ใส่ไว้ เรียกว่า ใบดำ ซึ่งกรณีนี้คงไม่เกี่ยวกับ กกต.มากนัก ถ้าเกี่ยวก็คงเป็นเรื่องการเสนอเรื่องให้ศาลเป็นผู้พิจารณาเท่านั้นเอง ส่วนกรณี “ใบแดง” ก็เหมือนเดิม นั่นคือ กกต.เป็นผู้ส่งเรื่องให้ศาลเป็นผู้พิจารณา

ขณะที่กรณี “ใบเหลือง” ก็เหมือนเดิม นั่นคือ ผู้สมัครไม่ถูกตัดสิทธิ เพราะผู้สมัครคนดังกล่าวสามารถลงสมัครได้เลยโดยอัตโนมัติ แต่กรณีที่ผมคิดว่าเป็นปัญหาก็คือ “ใบส้ม” เพราะ กกต.ได้ให้อำนาจแก่ตัวเองเกินไป โดยเฉพาะอำนาจ กกต.ที่จะเป็นผู้ตัดสิทธิผู้สมัคร เป็นการให้คุณให้โทษแก่พรรคการเมือง เพราะนอกจากจะให้อำนาจ กกต.เป็นผู้ตัดสิทธิตัวผู้สมัครแล้ว ยังตัดสิทธิพรรคการเมืองด้วยหรือไม่ เพราะเดิมหากมีการตัดสิทธิผู้สมัคร กกต.ก็จะต้องมีการเปิดรับสมัครใหม่

ดังนั้น ถ้า กกต.ไม่มีการเปิดให้รับสมัครใหม่ก็จะเป็นการให้คุณให้โทษแก่พรรคการเมืองด้วย สมมุติว่า กกต.ให้ใบส้มใน จ.สงขลา ซึ่งผู้สมัครที่มีโอกาสจะชนะการเลือกตั้งมากที่สุดในพื้นที่ จ.สงขลาก็คือพรรคประชาธิปัตย์ หากผู้สมัครของพรรคที่มีโอกาสมากในพื้นที่นั้นๆ ถูกใบส้มแล้ว กกต.ไม่เปิดรับสมัครใหม่ ก็จะเท่ากับเป็นการปิดโอกาสพรรค การเมืองนั้นในการส่งคนใหม่ลงเลือกตั้ง อีกทั้งยังเป็นการปิดโอกาสประชาชนที่จะเลือกผู้สมัครจากพรรคที่ได้รับความนิยมในพื้นที่นั้นๆ อีกด้วย

ผมเชื่อว่า ข้อใดที่เป็นไปตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ กรธ.ก็คงรับอยู่แล้ว แต่หากข้อเสนอใดที่เป็นการให้อำนาจ กกต.โดยไม่มีการถ่วงดุลเท่าที่ควร ผมก็หวังว่า กรธ.จะพิจารณาด้วยความรอบคอบ เพราะ กกต.ก็เป็นมนุษยปุถุชนธรรมดาที่มีกิเลสเหมือนๆ กับมนุษย์คนอื่นๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image