‘พิธา’ หั่นงบกองทัพ 2.6 หมื่นล้าน เตือนอย่าสวนทางโลก ทุ่มเงินซื้อโดรนไร้คนขับ ที่ไร้ประสิทธิภาพ

‘พิธา’ หั่นงบกองทัพ 2.6 หมื่นล้าน ชี้ ช่วงคนล้มตายไม่ควรซื้ออาวุธ เตือน อย่าสวนทางโลก ทุ่มเงินซื้อโดรนไร้คนขับ ที่ไร้ประสิทธิภาพ

เมื่อเวลา 17.25 น. วันที่ 18 สิงหาคม ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ในส่วนของมาตรา 8 งบประมาณกระทรวงกลาโหม วงเงิน 92,753,279,000 ล้านบาท ที่มี นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม

โดย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล อภิปรายขอปรับลดงบ 26,733 ล้านบาท เนื่องจากกองทัพไม่ควรจัดซื้ออาวุธในวันที่ประชาชนล้มตาย และไม่ควรซื้อยุทโธปกรณ์ในวันที่ประชาชนต้องการวัคซีน แม้กองทัพเรือได้ถอนเรือดำน้ำออกจากงบประมาณปี 2565 แล้ว แต่ยังมีงบประมาณสิ่งก่อสร้าง และยุทโธปกรณ์สนับสนุนเรือดำน้ำ และอาวุธใหญ่อีกจำนวนมาก ทั้งท่าจอดเรือดำน้ำ โรงซ่อมเรือดำน้ำ คลังเก็บตอปิโด เรืออเนกประสงค์ยกพลขึ้นบก และระบบสื่อสารของเรือดำน้ำ รวมทั้งโดรนไร้คนขับ เป็นงบผูกพันกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท เป็นงบปี 2565 ประมาณ 3 พันล้านบาท

นายพิธากล่าวว่า ตัวอย่างของอาวุธที่ควรตัดงบคือโครงการโดรนขนาดใหญ่ของกองทัพเรือมีมูลค่าถึง 4.1 พันล้านบาท ซึ่งมี 3 เหตุผลที่ตนต้องสงวนคำแปรญัตติ คือ 1.เหตุผลทางความปลอดภัย ที่มีสถิติของอุบัติเหตุ 2.เหตุผลทางความมั่นคงของชาติ เนื่องจากโดรนไร้คนขับต้องใช้ดาวเทียมในการควบคุม ซึ่งการปล่อยให้ต่างชาติสามารถควบคุมโดรนผ่านดาวเทียมได้ ย่อมนำข้อมูลของเราไปให้ต่างประเทศได้ และ 3.เหตุผลด้านงบประมาณ ตนมีรายงานการศึกษาจากต่างประเทศว่าการใช้โดรนไร้คนขับแบบนี้ไม่ได้ช่วยประหยัด เมื่อเปรียบเทียบกับการลาดตระเวนด้วยเครื่องบินปกติ

นายพิธากล่าวอีกว่า จากเหตุผลทั้ง 3 ข้อ เราจึงเห็นกองทัพใหญ่ๆ ระดับโลก เช่น กองทัพสหรัฐอเมริกา และกองทัพอินเดีย เริ่มพิจารณาลดการซื้อโดรนขนาดใหญ่ลง ซึ่งสถิติหลอกกันไม่ได้ จะเห็นว่าโดรนขนาดใหญ่ที่กองทัพเรือต้องการซื้อ มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุในปี 2001-2014 ที่สูงมาก เมื่อดูตัวเลขโดรนเหล่านี้ที่ถูกซื้อมา 100 ลำ ตกถึง 48 ลำ

Advertisement

“ตามข้อมูลของหนังสือพิมพ์ระดับโลก พบว่าโดรน 48% ตกด้วยอุบัติเหตุ ไม่ได้ตกเพราะมีภาวะสงคราม แต่ตกด้วยตัวของโดรนเอง ดังนั้น จึงเห็นว่ากองทัพอากาศในต่างประเทศที่ทบทวนการจัดซื้อโดรนขนาดใหญ่เนื่องจากมีราคาสูง และเกิดอุบัติตกง่าย ไม่สามารถใช้ในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งได้จริง

“กองทัพสหรัฐจึงพิจารณาลดการใช้โดรน โดยให้เหตุผลว่าแพงเกินไป และตกง่าย กองทัพอากาศอินเดีย ทบทวนการซื้อโดรน เพราเชื่อว่าไม่สามารถใช้ในพื้นที่ขัดแย้งได้ การกระทำของกองทัพเรือนอกจากจะผิดที่ ผิดเวลา ผิดกาลเทศะ ยังสวนกับทิศทางความมั่นคงระดับโลก ผมจึงขอตัดงบประมาณจำนวนดังกล่าว” นายพิธากล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image