วงเสวนา ชี้โควิดหนัก ลามปัญหาสังคม-แรงงาน จ่อทำเด็ก 6.5 หมื่น หลุดระบบการศึกษา

วงเสวนาออนไลน์ “แรงงาน/เด็กข้ามชาติในโควิด” ชี้ระลอกสาม ติดเชื้อพุ่ง เพราะเข้าไม่ถึงระบบสธ. ลามปัญหาสังคม กระทบรายได้-จ่อหลุดระบบการศึกษา 6.5 หมื่นคน พบช่วงล็อกดาวน์ ยอดอลามกเด็กสะพัดออนไลน์ แนะรบ. 3 ข้อเยียวยา-ฉีดวัคซีนคุณภาพ 

วันนี้ (19 ส.ค.) เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ Migrant Working Group (MWG) ร่วมกับ องค์การช่วยเหลือเด็ก ประจำประเทศไทย (Save the Children Thailand) จัดเวทีเสวนาออนไลน์ เรื่อง สถานการณ์การคุ้มครองเด็กข้ามชาติในวิกฤติโควิด-19: สถานการณ์ ผลกระทบ และทางออก โดยมีผู้แทนจากหน่วยงาน องค์กรและมูลนิธิด้านสิทธิมนุษยชน อาทิ นายอดิศร เกิดมงคล เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ น.ส.ศิขริน สิงห์สาคร ที่ปรึกษาด้านการคุ้มครองเด็กออนไลน์ องค์การยูนิเซฟประเทศไทย (UNICEF Thailand) และ น.ส.วรางคณา มุทุมล ผู้เชี่ยวชาญด้านงานคุ้มครองเด็กองค์การช่วยเหลือเด็ก ประจำประเทศไทย (Save the Children Thailand) เข้าร่วมอภิปราย

  • ฉายสถิติ “แรงงาน-เด็กข้ามชาติ” ติดโควิด เข้าไม่ถึงบริการสธ. ลามปัญหาสังคม

นายอดิศร เริ่มต้นฉายสถิติกลุ่มประชากรข้ามชาติที่ป่วยโควิด-19 โดยอ้างอิงข้อมูลจากกรมควบคุมโรคและศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ (Open Government Data) ว่า การระบาดโควิด-19 ระลอกที่สาม ระหว่างวันที่ 1 เมษายน–11 สิงหาคม 2564 ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติมีข้อห่วงกังวลอย่างยิ่ง เนื่องจากมีแรงงานข้ามชาติติดเชื้อทั้งสิ้น 81,507 คน จากจำนวนติดเชื้อสะสมตั้งแต่ปี 2563 ทั้งหมด 97,060 คน แบ่งเป็นพม่า 61,507 คน กัมพูชา 15,409 คน และ ลาว 4,266 คน เมื่อจำแนกสถิติในเด็กข้ามชาติที่ติดเชื้อจะพบว่า พบการติดเชื้อทั้งสิ้น 4,035 คน จากจำนวนเด็กเชื้อสะสมตั้งแต่ปี 2563 ทั้งหมด 2,202 คน แบ่งเป็นพม่า 2,640 คน กัมพูชา 1,183 คน และ ลาว 212 คน ซึ่งทั้งหมดล้วนมีใจกลางของปัญหามาจากการเข้าไม่บริการทางสุขภาพของประชากรข้ามชาติ

“ใจกลางของปัญหาผู้ป่วยโควิดในกลุ่มประชากรข้ามชาติ คือ การเข้าไม่ถึงบริการทางสุขภาพ เนื่องจากไม่มีประกัน ค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง เมื่อเข้าไม่ถึงการตรวจย่อมกระทบกับขั้นตอนการตรวจรักษา และยังคงมีความเสี่ยงในการติดเชื้อสูงต่อไป ทั้งหมดยังส่งผลกระทบไปยังปัญหาทางสังคม เพราะเมื่อครอบครัวขาดรายได้จากการทำงาน เด็กข้ามชาติก็จะต้องสูญเสียโอกาสในการศึกษา เกิดการผลักดันเด็กกลุ่มนี้เป็นแรงงานเด็กที่เป็นปัญหาด้านสิทธิตามมา เกิดการลักลอบการเข้าพรหมแดนมากขึ้น จากมาตรการการจำกัดการเคลื่อนย้าย ประชากรและเด็กข้ามชาติต้องแบกรับความเสี่ยงจากการลักลอบเดินทางเพิ่มมากขึ้น จึงเสนอให้ภาครัฐจัดหามาตรการการตรวจโควิด-19 แก่เด็กกลุ่มนี้เบื้องต้นเพื่อลดสภาพปัญหาทางสุขภาพและสังคมที่จะตามมา” อดิศร กล่าว

Advertisement
  • “ที่ปรึกษายูนิเซฟ” ชี้ สื่อลามกเด็กสะพัดออนไลน์ – ฉวยโอกาสช่วงล็อกดาวน์

ส่วน น.ส.ศิขริน  กล่าวว่า การระบาดโควิด-19 ระลอกที่สาม ไม่ได้พบเพียงปัญหาที่เกิดขึ้นในโลกออฟไลน์ แต่ยังพบการแสวงหาประโยชน์จากเด็กทางออนไลน์ ในรูปแบบการกลั่นแกล้ง การล่วงละเมิดทางเพศ โดยเฉพาะในเด็กข้ามชาติ ซึ่งถือเป็นกลุ่มเปราะบางในปริมาณที่มีมากขึ้น ซึ่งในภาพรวมพบว่า ในปี 2563 ที่ผ่านมา มีรายงานสื่อลามกอนาจารเด็กกว่า 90 ล้านรายงาน สำหรับประเทศไทย พบว่า ในปี 2541-2560 มีรายงานการเผยแพร่สื่อลามกเด็กจำนวน 1.7 ล้านรายงาน หรือเฉลี่ย 89,500 ต่อปี อยู่ในอันดับ 3 ของโลก และมีรายงานเพิ่มสูงขึ้นในปี 2562 จำนวน 355,396 รายงาน และปี 2563 จำนวน 397,743 รายงาน หรือเฉลี่ยวันละ 1,089 รายงาน โดยทุกๆ 1.25 นาที จะมีรายงานสื่อลามกเด็ก 1 รายงาน ซึ่งผู้เสียหายส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ร้อยละ 93 และผู้เสียหายร้อยละ 55 เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี ในภาพรวมของยูนิเซฟยังพบว่า ในช่วงปี 2562-2563 มีจำนวนรายงานสื่อลามกเด็กจำนวนมาก สะท้อนว่า ช่องมาตรการล็อกดาวน์ในหลายประเทศทั่วโลกมีผลต่อการแพร่กระจายของสื่อลามกอนาจารเด็ก

“การจัดการปัญหาจึงต้องใช้มาตรการเข้าไปแทรกแซงเหตุที่เกิดขึ้นกับเด็ก แต่ยังมีข้อท้าทายว่า จะต้องมีการปรับระบบหรือยุทธวิธีอย่างไรให้การคุ้มครองเด็กในโลกออนไลน์มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะภาครัฐและภาคเอกชนผู้ให้บริการทางอินเทอร์เน็ตที่ถือข้อมูลขั้นพื้นฐานก็จำเป็นจะต้องให้ความร่วมมือ เช่นเดียวกับการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังในโลกออนไลน์เพื่อเป็นมาตรการยับยั้งต่อปัญหาที่เกิดขึ้น” ปรึกษาด้านการคุ้มครองเด็กออนไลน์ องค์การยูนิเซฟประเทศไทย (UNICEF Thailand)  ระบุ

  • ชง 3 ข้อรัฐคุ้มครองกลุ่มเสี่ยง ชี้สิ้นปี มีเด็กหลุดระบบการศึกษา พุ่ง 65,000 ราย 

ขณะที่ น.ส.วรางคณา มองว่า ข้อมูลต่างๆทั้งหมด แสดงให้เห็นว่า เด็กที่ได้รับผลกระทบจากโควิดมากที่สุด คือ เด็กข้ามชาติ ไร้สถานะ และเด็กที่อยู่ในฐานะยากจนตามชุมชนแออัด ครอบครัวหยุดงานขาดรายได้ เข้าไม่ถึงการช่วยเหลือและการศึกษาที่เหมาะสม โดยสิ้นปีนี้จะมีเด็กหลุดจากระบบกว่า 65,000 คน โดยร้อยละ 48 อยู่ในชั้น ม.ปลาย ทั้งยังพบว่า มีการค้าบริการทางเพศเด็กในระบบออนไลน์มากขึ้น เนื่องจากได้รับผลกระทบทางจิตใจ ความสูญเสีย ความรุนแรงที่ได้รับ จากการถูกละเมิดทุกรูปแบบ ส่งผลกระทบต่อชีวิตด้านต่างๆ

Advertisement

จึงมีข้อเสนอต่อภาครัฐ 3 ข้อ เพื่อนำไปสู่การคุ้มครองเด็กกลุ่มดังกล่าว คือ 1.การส่งเสริมการเข้าถึงวัคซีนอย่างรวดเร็วและมีคุณภาพไม่ว่าเด็กไทยหรือเด็กต่างชาติ 2. แก้ไขปัญหากการหลุดออกจากระบบการศึกษาให้เป็นระบบ รวดเร็ว ทันความต้องการ ส่งเสริมการเข้าถึงเงินเยียวยา แก่เด็กและครอบครัวที่มีความเประบางอย่างครอบคลม และ 3. ประสานการจัดการทรัพยากรตามความต้องการของท้องถิ่น โดยประเมินจากความต้องการและโอกาสสำหรับเด็กต่างชาติ ในการเข้าสู่บ้าน/ศูนย์ดูแลเด็กและสนับสนุนเจ้าหน้าที่ด้านต่างๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image