‘จิรัฏฐ์’ ขอตัดงบ ก.เกษตรฯ 10% จวก ‘ประยุทธ์’ อยากมีที่ยืนเวทีต่างชาติ สร้างผลงานไล่จับชาวประมงจนพังพินาศ

‘จิรัฏฐ์’ ขอตัดงบ ก.เกษตรฯ 10% จวก ‘ประยุทธ์’ อยากมีที่ยืนเวทีต่างชาติ สร้างผลงานไล่จับชาวประมง จนพังพินาศ ข้องใจ ไม่เถียงสู้ สินค้าส่งออกยุโรป ไม่ได้จับจากทะเล

เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ พ.ศ.2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท วาระ 2 วันที่ 2 โดยมี นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่ง ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม

เวลา 16.30 น. นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกล (ก.ก.) อภิปรายว่า แปรญัตติปรับลดงบ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลง 10% โดยพิจารณาจากพันธกิจของ กรมประมง เพราะอุตสาหกรรมประมงถือว่าพังพินาศ พี่น้องชาวประมงใน 22 จังหวัด ถูกปราบปรามจนเอาตัวไม่รอด ต้นตอปัญหานี้ไม่ได้มาจากมาตรการไอยูยูของสหภาพยุโรปที่ให้ใบเหลืองกับไทย จนไม่สามารถส่งอาหารทะเลไปขายในยุโรปได้ แต่พระราชบัญญัติประมงที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2490 จึงไม่แปลกที่จะเกิดการทำประมงผิดกฎหมายในปัจจุบัน มาตรการต่างๆ ไม่สามารถโทษชาวประมงได้ เพราะการทำรายงานและการควบคุมเป็นหน้าที่ของรัฐ แต่มาตรการของคณะรักษาความสงบแห่งชาติในขณะนั้นกลับมาปราบปรามชาวประมงอย่างเต็มที่

นายจิรัฏฐ์กล่าวว่า ทั้งนี้ ไม่ใช่แค่ไทยที่โดนใบเหลือง แต่ยุโรปก็ใช้เวลาเป็น 10 ปีที่จะแก้ปัญหานี้ให้สำเร็จ อย่างไรก็ตาม ไทยก็ไม่มีการเจรจาต่อรอง เราส่งอาหารทะเลออกไปยุโรปแค่ 5% ของยอดทั้งหมด เป็นปลาทูน่ากระป๋องและกุ้งแช่แข็ง ซึ่งไม่ได้จับจากทะเล ดังนั้น อาหารทะเลที่ส่งไปยุโรปจึงไม่ใช่การทำประมงที่ผิดกฎหมาย เราเถียงเขาได้ แต่เราไม่เถียง

นายจิรัฏฐ์กล่าวต่อว่า ตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำรัฐประหารเข้ามาก็ไม่มีชาติใดยอมรับ ดังนั้น จึงมีความกระเหี้ยนกระหือรือที่จะโหยหาการยอมรับจากต่างชาติเป็นอย่างมาก พล.อ.ประยุทธ์ต้องการทำผลงานให้ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ จึงมีการใช้มาตรา 44 เต็มไปหมด ผลก็คือมีพี่น้องชาวประมงถูกดำเนินคดีนับหมื่นราย มีเรือประมงกว่า 70% ต้องจอดสนิทในวันนี้ โรงงานขนาดเล็กขนาดใหญ่ต้องเลิกกิจการนับ 100 โรงงาน ถ้ากรมประมงยังมีพันธกิจในลักษณะนี้อยู่ตนไม่เชื่อว่าจะทำให้คุณภาพชีวิตของพี่น้องชาวประมงใน 22 จังหวัดไทยดีขึ้นได้

Advertisement

นายจิรัฏฐ์กล่าวว่า หน่วยงานที่สองคือ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้รับงบประมาณ 2,000 ล้านบาท ที่ไม่ถูกปรับลดเหมือนหน่วยงานอื่น หมายความว่าเราให้ความสำคัญกับการทำฝนเทียม ซึ่งปัญหาที่พบคือการโอนงบประมาณที่ค่อนข้างดูแปลกๆ ในปี 2563 ถึง 2564 มีการโอนงบประมาณเยอะมาก มีการอนุมัติให้ตรวจซ่อมเครื่องบินใหญ่ แต่กลับนำไปซื้ออะไหล่เฮลิคอปเตอร์แทน อีกตัวอย่างคือการขอจัดซื้อกล้องวงจรปิด แต่กลับนำไปจ่ายค่าย้ายคอมแอร์ ที่หันหน้าเข้าหาอาคาร ทำให้อาคารมีความร้อน ส่วนงบเครื่องช่วยเดินอากาศ กลับนำไปเป็นค่าใช้จ่ายเปิดงานศูนย์เปิดฝนหลวงและวางหลักศิลา พอมาในปี 2565 กรมฝนหลวงฯก็ขอมาเหมือนเดิม ซึ่งเดี๋ยวก็คงจะไปโอนอีก

“ประเด็นที่ผมสงสัยคือ ตัวชี้วัดผลการดำเนินงานของกรมฝนหลวงฯตลอดระยะเวลา 3 ปี ดูเพอร์เฟกต์จนน่ากลัว เพราะมีโอกาสสำเร็จถึง 95% แต่พอถามสถิติกลับไม่สามารถชี้แจงได้ ตลอด 2 ปีที่ผ่านมาผมพยายามถามคำถามง่ายๆ ว่าสรุปแล้วสิ่งที่กรมฝนหลวงฯทำคือการเพิ่มปริมาณน้ำฝน หรือว่าแค่ย้ายจุดที่ฝนควรจะตกเท่านั้น

“ถ้าเป็นอย่างที่ตนตั้งสมมุติฐานจริงๆ นั่นหมายความว่า การย้ายจุดฝนตกของกรมฝนหลวงฯจะทำให้ระบบนิเวศเสียหาย เพราะจุดที่ฝนควรจะตกกลับไปตกที่อื่น” นายจิรัฏฐ์กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image