‘ธนาธร’ เปิดตัวเครื่อง ‘O2P’ พร้อมเปิดข้อมูลสู่สาธารณะ ให้นำไปต่อยอดผลิตสู่ท้องตลาด ช่วยชีวิตคนให้มากที่สุด
เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า จัดเฟซบุ๊กไลฟ์รายการ “คิดไปข้างหน้ากับธนาธร” เปิดตัวเครื่อง O2P (Oxygen to People) หรือเครื่องเพิ่มความเข้มข้นของออกซิเจนในอากาศ ที่ทดสอบการใช้งานได้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจ พร้อมเข้าสู่กระบวนการผลิตแล้ว
นายธนาธรกล่าวถึงที่มาของโครงการ O2P ว่า โครงการ O2P ของเราเริ่มต้นเมื่อประมาณ 3 สัปดาห์ที่แล้ว ที่ตนได้ไปเห็นเฟซบุ๊กโพสต์ของ พ.ต.ต.ชวลิต เลาหะอุดมพันธ์ ส.ส.พรรคก้าวไกล ซึ่งได้โพสต์ข้อมูลเกี่ยวกับการผลิตเครื่องออกซิเจน ที่สามารถช่วยชีวิตคนได้ เนื่องจากปัจจุบันออกซิเจนถังที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ ไม่สามารถผลิตออกซิเจนเองได้ และเมื่อใช้หมดก็ต้องนำกลับไปเติมใหม่ ทำให้เกิดปัญหาการขนส่งออกซิเจนให้ถึงตัวผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง แต่ถ้าเรามีเครื่องมือที่สามารถเพิ่มความเข้มข้นของออกซิเจนในอากาศได้ทันที ก็จะทำให้สามารถลดภาระการขนส่งนี้ลงไปได้
นายธนาธรกล่าวว่า ตนจึงได้ปรึกษากับ พ.ต.ต.ชวลิตว่าตนและคณะก้าวหน้าน่าจะมีศักยภาพพอที่จะทำได้ จากนั้นจึงได้นำองค์ความรู้ที่มีการเปิดไว้ในลักษณะ open source โดยสมาคมเมกเกอร์แห่งประเทศไทย มาต่อยอดกับสิ่งที่ พ.ต.ต.ชวลิตคิดไว้แล้วเริ่มทำการทดลอง
นายธนาธร กล่าวว่า เมื่อทดสอบอุปกรณ์สำเร็จแล้ว จึงได้เริ่มพยายามติดต่อหาซื้อซีโอไลต์เพื่อเตรียมทำการผลิตในปริมาณมาก พบว่าซีโอไลต์ชนิดที่ต้องใช้นี้มีบริษัทต้นทางผลิตอยู่ที่ประเทศจีน ภายในปลายสัปดาห์หน้าน่าจะสามารถนำเข้าซีโอไลต์ชนิดนี้จากประเทศจีนได้ โดยขณะนี้เครื่อง O2P ผ่านการรับประกันคุณภาพว่าสามารถผลิตอากาศที่มีออกซิเจนเข้มข้นไปถึงระดับที่ 90% ขึ้นไป มีความเสถียรแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือการหาอุปกรณ์ต่างๆ ที่มีคุณภาพและมีราคาที่สมเหตุผล เพื่อเอามาประกอบเป็นจำนวนมาก เตรียมแจกจ่ายให้กับประชาชนต่อไป ซึ่งน่าจะใช้เวลาในระยะนี้อีกสักหนึ่งสัปดาห์
“สิ่งที่อยากจะทำต่อก็คือการเปิดข้อมูลชุดนี้ให้เป็นสาธารณะ เนื่องจากว่าเราไม่ได้คิดค้นเครื่อง O2P นี้ขึ้นมาเองตามลำพัง แต่ตั้งต้นมาจากข้อมูลสาธารณะ เมื่อทำสำเร็จเราก็จะไม่เก็บความรู้นี้ไว้ แต่จะเปิดเผยความรู้และการทดสอบที่เราทำมาทั้งหมดให้กับสาธารณชนเข้าถึงได้
“หลังจากนี้ ผมหวังว่าจะมีคนเอาความรู้ตรงนี้ไปสร้างเครื่องมือทางการแพทย์ต่อยอด ทำให้เกิดการพัฒนาทั้งซัพพลายเชน ทำให้เกิดเทคโนโลยีที่เป็นของคนไทย ทำให้เกิดการจ้างงาน เครื่องมือทางการแพทย์เป็นอุปกรณ์ที่มีมูลค่าสูง หมายความว่าเราจะสามารถจ้างงานที่มีคุณภาพ งานที่สามารถจ่ายผลตอบแทนให้กับพนักงานในอัตราที่สูงได้
“ถ้าเราทำเช่นนี้ได้ เราก็จะเกิดซัพพลายเชนใหม่ จะเกิดองค์ความรู้ใหม่ที่เป็นของคนไทยเอง และจะทำให้คนมีงานทำมากขึ้น ทำให้ระบบสาธารณสุขของเรามั่นคง พึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น นั่นก็คือเป้าหมายระยะไกลที่ผมอยากจะเห็น” นายธนาธรกล่าว