สมรภูมิดินแดง : ถกโจทย์ใหญ่การชุมนุม รัฐสร้างม็อบสายบวก บนความอัดอั้นปชช.

สมรภูมิดินแดง : ถกโจทย์ใหญ่การชุมนุม รัฐสร้างม็อบสายบวก บนความอัดอั้นปชช.

มากกว่า 1 สัปดาห์ ที่ประชาชนไทย ได้เห็นภาพการชุมนุมอย่างสันติ ในพื้นที่ต่างๆของกรุงเทพมหานคร ปิดท้ายด้วยการตอบโต้ของเหล่าผู้ชุมนุม ที่มีการเขวี้ยงปาสิ่งของ ลูกแก้ว และยิงพลุ ณ บริเวณ สามแยกดินแดง ซึ่งเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนเอง ก็มีการใช้ แก๊สน้ำตา กระสุนยาง ยิงจากพื้นที่สูงใส่ผู้ชุมนุม แม้แต่กระสุนจริง ที่ทำให้มีผู้บาดเจ็บ และเดือดร้อนจากเหตุการณ์ดังกล่าวจำนวนไม่น้อย

มากไปกว่าการใช้แก๊สน้ำตา หรือ กระสุนยาง เพื่อสลายการชุมนุม แต่เรายังได้เห็นภาพเจ้าหน้าที่ ใช้ปืนจ่อยิงใส่คน หรือใช้รถยนต์พุ่งชนรถจักรยานยนต์ ซึ่งบางคัน เป็นผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ชวนให้สังคมตั้งคำถาม กระทั่งไม่นานมานี้ กลุ่มผู้ชุมนุมที่สามแยกดินแดง ได้ก่อตั้ง “กลุ่มทะลุแก๊ซ” ขึ้น ประกาศแนวทางในการต่อสู้อีกรูปแบบ

ก่อให้เกิดคำถามต่อสังคม ถึงประเด็นการสลายการชุมนุม ว่าถึงจุดที่ต้องใช้ความรุนแรง ตอบโต้กันแล้วหรือไม่?

ล่าสุด กลุ่ม Nitihub ได้จัดงานเสวนา “ปราบม็อบ 101: วิชาสลายการชุมนุม (ด้วยความรุนแรง?)” ร่วมถกเถียงเรื่องดังกล่าวผ่านคลับเฮาส์ ที่มีความน่าสนใจในหลายแง่มุม

Advertisement

ศึกษาเบื้องต้น สิ่งใดคือสันติวิธี

ชญานิษฐ์ พูลยรัตน์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ในการศึกษาเรื่องความรุนแรง และการไม่ใช้ความรุนแรง นั้น ความรุนแรงกับสันติวิธี ไม่เคย และ ก็ไม่ใช่เส้นแบ่งบนฐานของกฎหมายเลย นั่นทำให้ ปฏิบัติการสันติวิธีจำนวนมาก ละเมิดกฎหมาย นั่นเพราะมีความเชื่อว่า ไม่ใช่กฎหมายทุกข้อมีความชอบธรรม

“เส้นแบ่งของสันติวิธีนั้น ยังคงมีข้อถกเถียงกันอยู่ แต่อย่างน้อย เส้นแบ่งที่เห็นพ้องต้องกันก็คือ การทำร้ายร่างกาย และชีวิตคนอื่น ไม่เป็นสันติวิธี ขณะเดียวกัน บางสถานการณ์ที่ต้องปกป้องตัวเอง อาจเป็นความรุนแรง ถ้าไปคาบเส้นถึงการทำร้ายร่างกายหรือทำลายคนอื่น อาจเรียกว่าความรุนแรงที่ชอบธรรม หรือจำเป็น หรือให้อภัยได้ ก็สุดแล้วแต่ แต่ถ้าก้าวไปถึงทำร้ายร่างกาย สิ่งนี้เห็นพ้องกันว่าคือความรุนแรง”

ส่วนประเด็นที่ยุ่งยากในการถกเถียงนั้น ชญานิษฐ์ อธิบายเพิ่มว่า คือการทำลายทรัพย์สิน นักวิชาการจำนวนหนึ่งฟันธงว่าเป็นความรุนแรง แต่บางคนก็อนุโลมให้ดูที่รายละเอียด อย่างที่ดินแดง มีการเผาทำลายของ สมมติว่า หากเผาทำลายสิ่งของเชิงสัญลักษณ์ ในที่ห่างไกลผู้คน ไม่กระทบกับคนอื่น เห็นพ้องว่าเป็นสันติวิธีได้ แต่ถ้าเผาในที่ชุมชน ที่อาจส่งผลต่อความปลอดภัย ก็ต้องถกเถียงต่อ

Advertisement

เปิดบทกฎหมาย ชุมนุมแบบไหน ได้รับการคุ้มครอง

ดร.พัชร์ นิยมศิลป อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในรัฐธรรมนูญม. 44 ระบุไว้ว่า “รับรองเสรีภาพในการชุมนุม โดยความสงบและปราศจากอาวุธ” นี่เป็นเกณฑ์หลักของแผ่นดิน กฎหมายไม่ได้ใช้คำว่า สันติวิธี และเมื่อดูกันต่อไป แนวคำพิพากษาของเรา ไม่ว่าจะศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง ก็จะต้องตีความคำว่า สงบ ว่าเส้นแบ่งอยู่ที่ตรงไหน

“ศาลระหว่างประเทศ ให้ตัดสินจากเจตนา ส่วนดูอย่างไร ก็ดูจากผู้จัดการชุมนุมก่อน กรณีที่ มีรู้ล่วงหน้า ผู้จัด มีเจตนาชัดเจน ว่ามีเจตนาจะใช้ความรุนแรงไหม กรณีไม่มีแกนนำ ก็ดูคนที่มีอำนาจในการคอนโทรลกลุ่ม หรือพฤติกรรมของคนหมู่มาก ว่ามีคนใช้ความรุนแรงมากหรือน้อยกว่า ความรุนแรงนั่นก็คือ การใช้กำลังกับผู้อื่น หรือ ทรัพย์สินของผู้อื่น ขว้างปาของ นำไปสู่การเสียความสงบ อาจดูจากการแต่งกาย การเตรียมของ อุปกรณ์ประกอบฉาก เช่น ดาบปลายธง หรือ มีดดาบ กรณีนี้บอกได้ว่าไม่ได้มาอย่างสงบ มองไปลึกๆ อาจพบว่าได้เตรียมกันสร้างความรุนแรงได้ อาจจะเห็นจากรูปแบบการชุมนุม ที่เริ่มโดยสงบ แต่สักพัก มีการแฝงเจตนาความรุนแรง”

“ตราบใดที่คุณยังสงบนั้น กฎหมายจะยังคุ้มครอง แต่ถ้าเสียความสงบหรือใช้อาวุธแล้ว กฎหมายก็ไม่ได้คุ้มครอง เจ้าหน้าที่รัฐสามารถแทรกแซงได้ทันที”

เสถียรภาพของรัฐบาล ไม่ใช่ความสงบ

ดร.พัชร์ ยังได้อธิบายถึงการพิจารณาถึงรูปแบบม็อบ ว่า สถานที่ การโฆษณาก่อนไปม็อบ ถึงถ้อยคำการปลุกระดม การเรียกร้องให้พกอาวุธ ก่อความรุนแรง ก็เป็นอีกหนึ่งส่วนที่ต้องพิจารณา

“หลักการที่ต้องยึดไว้ก็คือ ข้อสันนิษฐานทางกฎหมาย รัฐต้องคิดว่าการชุมนุมที่เกิดขึ้น ต้องเกิดโดยสงบ ดังนั้น ถ้ารัฐคิดว่าการชุมนุมจะไม่สงบ ต้องไปหาข้อเท็จจริง พยานหลักฐาน มายืนยัน ถึงจะไปห้ามได้”

ดร.พัชร์ กล่าวด้วยว่า สำหรับเรื่องความสงบนั้น ตีความได้กว้าง แต่ ต้องไม่รวมถึงเสถียรภาพของรัฐบาล เป็นคนละเรื่องกัน เขาสามารถชุมนุมโดยสงบได้ และทำให้เสถียรภาพของรัฐบาลสั่นคลอนได้ ทำได้ในระบอบประชาธิปไตยทั่วไป จึงไม่ใช่เหตุผลที่รัฐบาลใช้มาเป็นความชอบธรรมในการสลายการชุมนุมได้ แต่เจ้าหน้าที่รัฐต้องเข้ามาดูแล และป้องกันความรุนแรงที่เกิดขึ้น

เปิดขั้นตอน การสลายการชุมนุม

พ.ต.ท. ธีรวัตร์ ปัญญาณ์ธรรมกุล สารวัตร ฝ่ายอำนวยการ กองบังคับการตำรวจนครบาล 5 ได้ให้ข้อมูล โดยยกตำราเรียนของตำรวจในการสลายการชุมนุม โดยว่า โดยหลักการแล้ว เมื่อจะใช้กำลัง จะต้องคำนึงว่าเป็นไปตามกฎหมายหรือเปล่า วิธีการเหมาะสมหรือไม่ พอสมควรแก่เหตุ และสังคมยอมรับได้หรือเปล่า ถ้าเทียบกับการควบคุมฝูงชน จริงๆ ก็มีตัวแบบของการใช้กำลังหลายขั้นตอน ที่ชัดเจนที่สุด คือ ขั้นบันได จะค่อยๆ ไต่ระดับ 10 ขั้นตอน

1.การวางกำลังในเครื่องแบบ แต่ก่อนจะเห็นเวลามีชุมนุม ที่ไหน ถ้าไม่รุนแรง จะเห็นเครื่องแบบตำรวจ ชุดกากี มายืนๆล้อมๆ และมีแผงเหล็กมาบ้าง คัดกรองการเข้าออก ดูความปลอดภัย ทั้งผู้ชุมนุมและบุคคลที่ 3 ทำให้เกิดความเรียบร้อย

2.เมื่อฝูงชนเริ่มมามากขึ้น เริ่มรุนแรง จะปรับเป็นการจัดรูปขบวน เพื่อเตรียมเข้าควบคุมฝูงชนให้เป็นไปตามความสงบเรียบร้อย

3.วางกำลัง อุปกรณ์การควบคุม ขั้นนี้คือ โล่ กระบองยาง เพื่อบอกว่าจะใช้อาวุธแล้ว ถ้าไม่อยากให้เกิดการปะทะ ขอให้สงบ ตามตำรา ก็พยายามหลีกเลี่ยง

4.เคลื่อนไหวกดดัน ถ้าฝูงชนกำลังเคลื่อนที่มาในสถานที่สำคัญ ตร.ไม่อยากให้ไป ก็อาจจะจัดขบวนเพื่อผลักดันฝูงชน ให้ไปในทิศทางใด ทิศทางหนึ่ง แต่ละขั้นตอน จะมีการเจรจาต่อรอง ควบคู่กันไปด้วย ต้องหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง

5.เริ่มประกาศแจ้งเตือน เพราะจะใช้เครื่องมือพิเศษ โดยจะมีการใช้คลื่นเสียง ซึ่งก่อนใช้ ต้องประกาศว่าจะใช้แล้ว เพื่อให้ผู้ชุมนุม เรียบร้อย

ไล่ระดับ แก๊สน้ำตา ฉีดน้ำ ค่อยกระสุนยาง

6.แก๊สน้ำตา เพื่อสลายการชุมนุม ควบคุมฝูงชนให้ไปในทิศทางที่เรียบร้อย ซึ่งที่ใช้แก๊สน้ำตามาก่อนขั้นอื่น นั่นเพราะเป็นการยิงเน้นควัน ไม่ใช่ตัวคน ซึ่งตำรวจคฝ.ทุกคน ต้องเคยโดนแก๊สน้ำตาในขั้นตอนการฝึกมาก่อน

7.การบังคับร่างกาย ปะทะ ในการจับกุม ให้อยู่ในความสงบ

8.ฉีดน้ำ ในกรณีที่เยอะมาก ก็จะฉีดน้ำเพื่อเคลียร์สถานที่ และผู้คน ซึ่งควรเป็นน้ำเปล่า เพราะคนที่ถูกรถจีโน่ยิง ก็สามารถปลิวได้แล้ว

9.กระสุนยาง จะเป็นกระสุนยางเฉพาะบุคคล เราจะไม่ยิงโดยไม่มีเป้าหมาย และการยิงของเรา จะยิงต่ำกว่าท้องลงไป จะไม่ยิงเข้าตา เข้าปาก เข้าหัว ไม่ยิงลงจากที่สูง เพราะอันตราย หากโดน ตา ศีรษะ จะทำให้อันตรายต่อชีวิตได้ คือจริงๆ แล้ว กระสุนยาง ถ้ามาจ่อยิงที่ตาแล้วยิงไป ด้วยแรงดันก็ทำให้ทะลุไปถึงสมอง และเสียชีวิตได้

10. อาวุธปืนเฉพาะบุคคล ก็จะเริ่มมีความรุนแรงขึ้น หากรุนแรงกว่านั้น จากฝูงชน ไปจนจราจล เป็น civil war ก็จะเป็นเรื่องของทหาร ที่จะออกมาควบคุม

“โดยถ้าไม่ใช่ขั้นตอนตามนี้ ก็สุ่มเสี่ยงจะผิดกฎหมาย นอกเหนือจากการใช้กำลังแบบขั้นบันได ก็ยังมีแบบพลวัตรและสามเหลี่ยม แต่ไม่ว่าตัวไหน ก็ต้องยึดหลัก ถูกตามกฎหมาย โปร่งใส ตรวจสอบได้ รู้ว่าใครสั่งการ เรื่องนี้ตำรวจทุกคนต้องเรียนมา ซึ่งหากชุมนุมอย่างสงบ ต่อให้ 2-3 ชั่วโมง ไม่มีอะไร ก็แค่ควบคุมสถานการณ์เท่านั้น ในทุกขั้นต้องมาจากการสั่งการของ ผบ.ร้อย ผบ.หน่วย คฝ.คิดเองไม่ได้ และถ้าเริ่มจะปะทะ ก็ต้องประกาศเตือนก่อน”

คำแนะนำ หากถูกสลายการชุมนุม

ดร.พัชร์ กล่าวว่า ในการสลายการชุมนุมนั้น เจ้าหน้าที่จะต้องจับโดยละม่อม และใช้อย่างจำเป็น ได้สัดส่วน ตำรวจและคฝ. จะสามารถใช้กำลังได้หากไม่สงบ กับคนที่สูญเสียการคุ้มครองโดยกฎหมาย เมื่อเงื่อนไขเป็นเช่นนี้ หากเกิดเหตุการณ์ไม่สงบขึ้น ต้องแยกตัวออกมา ให้เห็นว่ากลุ่มเราสงบอยู่ เจ้าหน้าที่จะใช้กำลังได้เฉพาะกลุ่มนั้น แต่ใช้ทั้งหมดไม่ได้ เพราะเรายังสงบอยู่

“หากเกิดเหตุการณ์เหมือนวันที่ 16 ตุลาคม วิธีการที่ไม่ให้เกิดการปะทะ ก็อาจจะนั่งลง เพราะหลักแล้วเจ้าหน้าที่ต้องจับโดยละม่อม ใช้อย่างจำเป็น เขาต้องยกออกทีละคน ผู้ชุมนุมนั้นก็อาจจะต้องมีวิธีการใช้แทกติกต่างๆ ในการตอบโต้”

การชุมนุม ในวันที่ 16 ตุลาคม ที่แยกปทุมวัน

รัฐสร้างม็อบสายบวก เดินสู่พื้นที่ถนัดรัฐ

กับพื้นที่การชุมนุม ที่เริ่มมีการใช้ความรุนแรงแล้วนั้น ชญานิษฐ์ กล่าวว่า ในการชุมนุม และได้เห็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เข้าใจว่า ผู้ชุมนุม ให้ความสำคัญกับการยึดพื้นที่ หรือการไปบางที่ นำไปสู่การปะทะ อยากย้อนให้ฟังถึง คำสัมภาษณ์ของ สมบัติ บุญงามอนงค์ ที่ว่า ชัยชนะครั้งนี้ เอาเข้าจริง ไม่ใช่การคุมพื้นที่ทางกายภาพ แต่คือ พื้นที่ทางการเมือง ซึ่ง การยึดพื้นที่ได้บางพื้นที่ ประยุทธ์ ยังอยู่ในอำนาจได้ แต่การมีคนออกมาเห็นด้วยจำนวนมาก ทำให้ประยุทธ์หมดความชอบธรรมมากกว่า ซึ่งนี่คือสิ่งสำคัญที่ควรให้ความสำคัญในการชนะใจฝ่ายที่ 3

อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ยังกล่าวต่อว่า ในเรื่องนี้อยากให้ลองคิดเสียใหม่ว่า การใช้ความสามารถทางการทหาร ไปต่อสู้ทางการเมืองนั้น ผิดฝาผิดตัวหรือไม่ ที่สำคัญคือ เวลาผู้ชุมนุมเห็นว่า การใช้ความรุนแรงนั้นเหมาะสม ถือเป็นการเดินเข้าไปในพื้นที่ซึ่งรัฐถนัด ซึ่งรัฐเอง มีความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงมากกว่าคน และยังมีความเชี่ยวชาญ มีทรัพยากรมากกว่าผู้ชุมนุมมหาศาล คำถามคือ ทำไมถึงคิดว่าการใช้ความรุนแรงคือความได้เปรียบของผู้ชุมนุม การไม่ใช้ความรุนแรงนั้น เป็นการชวนให้รัฐเข้ามาต่อสู้ในพื้นที่ ซึ่งรัฐมีความเชี่ยวชาญน้อยกว่า

ดร.พัชร์ กล่าวเสริมต่อว่า ทราบข่าวว่ามีกลุ่มทะลุแก๊ซ จัดตั้งเรียบร้อยแล้ว อาจเป็นสายบวกจริงจัง ปัญหาเรื่องนี้คือ รัฐไปสร้างกลุ่มของผู้ชุมนุมที่ ไม่ได้มีจุดประสงค์เรื่องการเมือง การเคลื่อนไหวทางการเมืองนั้นมีหลายปีก ปีกที่ต้องการบวกอย่างเดียวก็มี ต้องแยกให้เห็นว่า ว่ากลุ่มที่หวังผลทางการเมือง มีจริงๆ แต่กลุ่มที่เป็นม็อบรอระบาย ฉันอึดอัด เคียดแค้น คนในบ้านตายเยอะแล้ว หรือ ฉันไม่มีอนาคตเลย ฉันอยากจะระบาย มี

สันติวิธี พื้นที่สร้างแนวร่วมสู่เป้าหมาย

ชญานิษฐ์ กล่าวต่อว่า ผลจากการวิจัย ที่เก็บข้อมูลยาวนาน 100 ปี พบว่า ขบวนการที่ใช้ความรุนแรงนั้น ประสบความสำเร็จไม่เท่าสันติวิธี ในงานวิจัยให้เหตุผลว่า การใช้ความรุนแรงจะไปบดบัง บิดเบือน ข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม แต่เพราะสันติวิธีนั้น สามารถทำให้ข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม เป็นที่รับรู้ของสังคมจำนวนมาก และสามารถเชื้อเชิญให้ฝ่ายที่ 3 สามารถเห็นอกเห็นใจ และสนับสนุนข้อเรียกร้องของขบวนการได้มากขึ้น แต่หากใช้ความรุนแรง จะเป็นการผลักใสกลุ่มที่อยากสนับสนุน

“สันติวิธี ทำให้ฝ่ายตรงข้าม หรือ บางทีเจ้าหน้าที่รัฐ เห็นอกเห็นใจได้ ชัยชนะของประชาชน จะเกิดขึ้นได้ก็จากการแปรพักตร์ของเจ้าหน้าที่ ซึ่งสันติวิธีนั้นทำได้ มันไปเปิดให้เจ้าหน้าที่คิดว่า สิ่งที่เขาทำนั้น ถูกหรือไม่”

ปรับขบวน สู่เส้นทางสันติวิธี

ชญานิษฐ์ กล่าวว่า การชุมนุมต่อจากนี้ อาจจะต้องจัดการกับการสื่อสาร กับผู้ร่วมชุมนุมใหม่ อย่างที่ได้ฟังในคลับเฮาส์ ซึ่งหลายคนบอกว่าไม่จริง อย่างการไปชุมนุม บางคนไม่มีเป้าหมายทางการเมืองเท่านั้น แค่อยากไปบวก สิ่งนี้ถ้าเป็นจริงก็น่าห่วง แต่กรณีที่ผู้ไปร่วมชุมนุมและนำไปสู่การปะทะ อยากมีชัยชนะทางการเมือง น่าจะสื่อสารได้ว่า เส้นสันติวิธีอยู่ไหน แม้อาจจะไม่ใช่ยาวิเศษ แต่จุดเริ่มต้นที่เริ่มได้ ก็คือ การไม่พกอาวุธ หรืออะไรที่หมิ่นเหม่ เข้าพื้นที่ชุมนุม

“ขบวนการสันติวิธี ผู้จัดชุมนุมอาจจะต้องคาดว่าจะเกิดอะไรขึ้น และพูดคุยสื่อสาร มีภาพจำลองให้ได้ฝึกซ้อมว่า ถ้าเจอการยั่วยุ จะทำอย่างไร นัดแนะอย่างไร เพราะพูดถึงที่สุดแล้ว ในการศึกษาเรื่องสันติวิธี ไม่เฉพาะแค่รัฐไทย รัฐนั้นฉลาดขึ้น เขาก็รอให้ผู้ชุมนุมใช้ความรุนแรงเพื่อจะปราบ ถ้าผู้ชุมนุมไม่ใช้ความรุนแรง รัฐก็อาจจะยั่วยุ เช่นปิดกั้นทุกอย่าง ห้ามไปหมด หรือ ส่งเจ้าหน้าที่ หรือคนอื่นๆ แฝงตัวเพื่อเป็นข้ออ้างในการปราบปรามผู้ชุมนุม”

ชญานิษฐ์ กล่าวต่อว่า คุณสมบัติอย่างหนึ่งของผู้ชุมนุมสายบวก คือ ความกล้าหาญและเสียสละ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ต้องการของขบวนการสันติวิธีเช่นกัน ถ้าเข้าใจไม่ผิด ความรุนแรงในหมู่ผู้ชุมนุมนั้น เวลาคนสิ้นหวัง อึดอัด บางครั้งไม่มีทางออก และแสดงออกในด้านความรุนแรง เป็นไปได้ไหมว่า ความสิ้นหวังนัน เพราะเขาประเมินว่า การเคลื่อนไหว 1 ปีกว่าๆที่ผ่านมา เขาไม่เห็นอะไรเลย

“แกนนำ และผู้ชุมนุม อาจจะลองประเมินความสำเร็จของการชุมนุมเสียใหม่ หลายเดือนที่ผ่านมา มีความสำเร็จเล็กๆน้อยๆเต็มไปหมด บางประเด็นที่เคยพูดไม่ได้ ก็ออกมาถกเถียงในพื้นที่สาธารณะ คนตัวเล็กตัวน้อย รู้สิทธิตัวเองมากขึ้น เป็นกระบวนการเรียนรู้ของสังคมไทย หากมองจากจุดนี้ อาจจะทำให้ผู้ชุมนุม มองว่า จริงๆ แล้วเราเดินทางมาไกลมาก” ชญานิษฐ์ กล่าว

การชุมนุมของกลุ่มทะลุฟ้า ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

แนะชาวดินแดง ขอคุ้มครองชั่วคราว

ในส่วนของประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการสลายการชุมนุมนั้น ดร.พัชร์ กล่าวว่า ขอพูดในฐานะ นักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ผู้ได้รับผลกระทบ ไม่ว่าด้วย พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สามารถไปฟ้องต่อศาลแพ่ง ขอคุ้มครองชั่วคราว เวลาฟ้อง ก็ตั้งฟ้องได้ 2 กรณี คือ ละเมิด เพื่อขอค่าชดเชย อย่างกระจกแตก บาดเจ็บร่างกาย หรืออีกวิธี คือ ฟ้องตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ว่า มาตรการของเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่สุจริต ไม่จำเป็น ไม่ได้สัดส่วน ก็อาศัย ตัวพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็น พื้นฐานในการฟ้อง

“พอฟ้องก็ขอคุ้มครองชั่วคราวไปว่า ในการพิจารณาเรื่องการยิง เรื่องแก๊สน้ำตา กระสุนยาง ต้องระมัดระวัง ไม่ให้กระทบต่อข้าพเจ้ามากกว่านี้ อย่างที่เคยเกิดขึ้น ผมคิดว่าการทำแบบนี้ และทุกๆคนทำ มันจะเบรกได้” ดร.พัชร์กล่าว

ขณะที่ พ.ต.ท. ธีรวัตร์ กล่าวว่า ถ้าเราโดนเรื่องนี้ สามารถไปแจ้งความที่ สน.ที่เราอยู่ ณ ที่นั้นได้ คดีนี้ เป็นคดีปกครอง เป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ กับประชาชน คือ ไปแจ้งความแล้ว ก็ต้องร้องไปยังหน่วยงานต้นสังกัด ก็ทำหนังสือร้องเรียนไปตาม สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image