‘โฆษก ปชป.’ ยันร่างแก้ รธน.สอดคล้องหลักการ ตรงตามความต้องการ ปชช.มั่นใจผ่านได้

“โฆษก ปชป.”ยันร่างแก้ รธน.สอดคล้องกับหลักการ ตรงตามความต้องการของ ปชช. เชื่อผ่านความเห็นชอบได้

เมื่อวันที่ 23 ส.ค.นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่จะเข้าสู่ที่ประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 24-25 ส.ค.ว่า เชื่อว่าจะไม่มีปัญหา แม้จะมีญัตติของพรรคก้าวไกลที่ยื่นให้มีการตีความข้อบังคับการประชุมข้อที่ 124 ก็เป็นสิทธิที่สามารถทำได้ตามข้อบังคับ แต่การพิจารณาในชั้นคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (แก้ไขเพิ่มเติม) ฉบับที่ .. พ.ศ. …. (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91) ได้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญและข้อบังคับอย่างเคร่งครัดอยู่แล้ว และร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มีหลักการและเหตุผลเป็นเรื่องการแก้เรื่องระบบการเลือกตั้ง เมื่อร่างดังกล่าวสมาชิกรัฐสภามีมติรับหลักการในวาระที่หนึ่ง และเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่สองในชั้นคณะกรรมาธิการฯ ก็ต้องมีการพิจารณาให้มีความละเอียดรอบคอบ หากมีมาตราใดที่เกี่ยวข้องกับระบบเลือกตั้ง หากต้องการปรับแก้ในมาตราใดข้อความใดเพื่อให้สอดคล้องต้องกันกับหลักการและเหตุผลในส่วนของระบบเลือกตั้งก็สามารถทำได้

นายราเมศกล่าวต่อว่า ข้อบังคับการประชุมร่วมรัฐสภา ข้อที่ 124 ระบุไว้ชัดว่า การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมในชั้นคณะกรรมาธิการฯ สมาชิกรัฐสภาสามารถที่จะแปรญัตติได้ และในวรรคที่สาม ระบุไว้ชัดอีกว่าการแปรญัตติเพิ่มมาตราขึ้นใหม่หรือตัดทอน หรือแก้ไขมาตราเดิมต้องไม่ขัดกับหลักการแห่งร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งมีเจตนารมณ์ว่าสมาชิกสามารถดำเนินการได้ ส่วนข้อบังคับ ก็เป็นหลักการที่สำคัญในการให้สมาชิกรัฐสภาได้ตรวจตราในมาตราอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับหลักการได้ด้วย เพื่อให้รัฐธรรมนูญเมื่อแก้ไขแล้วสามารถบังคับใช้ได้โดยไม่ขัดหรือแย้งกัน แต่จะไปแก้ในมาตราอื่นๆ ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับหลักการและเหตุผลก็ไม่สามารถทำได้ และประเด็นดังกล่าวมีแนวทางของกฤษฎีกาและฝ่ายกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับงานนิติบัญญัติ รวมถึงกรรมาธิการที่ยกร่างข้อบังคับการประชุมร่วมรัฐสภาได้ให้ความเห็นไว้ชัดเจนถึงเจตนารมณ์ว่าสามารถดำเนินการได้

โฆษกพรรคประชาธิปัต์กล่าวด้วยว่า ส่วนรายละเอียดของการแก้ไขนั้นเชื่อว่าตรงตามความต้องการของประชาชนที่ได้กำหนดให้มีกระบวนการเลือกตั้งที่ใช้บัตร 2 ใบ ประชาชนชอบผู้สมัครในเขตเลือกตั้งคนใดก็เลือกคนนั้น และหากชื่นชอบพรรคการเมืองใดก็สามารถเลือกพรรคการเมืองอีกบัตรหนึ่งได้ ก็จะตรงตามเจตนารมณ์ของประชาชนมากกว่า จึงไม่อยากให้มองว่าพรรคใดได้เปรียบเสียเปรียบ หากเป็นสิ่งที่ดีตรงตามความต้องการของประชาชนย่อมเป็นจุดตั้งต้นที่ดี

ส่วนวิธีการคำนวณคะแนนก็จะมีการแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งต่อไป ดังนั้นในวาระสาม เชื่อว่าเมื่อ ส.ว.ได้ฟังเหตุและผลคำอธิบายของคณะกรรมาธิการฯแล้วจะเห็นด้วย และหากมีบางพรรคจะใช้สิทธิยื่นศาลรัฐธรรมนูญหากอาศัยสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ก็สามารถทำได้ ไม่กังวล ผลเป็นเช่นไรก็ต้องเคารพคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image