‘วัชรพล’ แจง ไม่สามารถเปิดเผยทรัพย์สิน ‘บิ๊กตู่-วิษณุ’ เหตุติดกฎหมาย ป.ป.ช. ทำไปเสี่ยงโดนคดีอาญา

‘วัชรพล’ แจง ไม่สามารถเปิดเผยทรัพย์สิน ‘บิ๊กตู่-วิษณุ’ เหตุติดกฎหมาย ป.ป.ช. ทำไปเสี่ยงโดนคดีอาญา

เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวถึงคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร สาขาสังคม การบริหาราชการแผ่นดิน และการบังคับใช้กฎหมาย คณะ 3 มีคำวินิจฉัยให้ ป.ป.ช. เปิดบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.ทั้ง 9 คน ให้ความสำคัญมากกับเรื่องนี้ มีการศึกษาอนุกฎหมาย และปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิ โดยเราเห็นว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตร พ.ศ.2561 (พ.ร.บ. ป.ป.ช.) กับ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ อาจจะไม่ตรงกัน สำหรับกฎหมาย ป.ป.ช. การบอกให้ยื่นเป็นหลักฐานคือ ให้ยื่นเป็นหลักฐาน แม้แต่เราจะไปตรวจยังทำไม่ได้ เพราะเมื่อยื่นเป็นหลักฐาน เรามีหน้าที่เก็บ แต่ถ้าท่านมาอ้างเมื่อไหร่เราจะเข้าไปตรวจได้ และกรณีนี้ไม่ได้มีแค่ของ พล.อ.ประยุทธ์ และนายวิษณุ ที่เป็นข่าว แต่มีคนยื่นเป็นหลักฐานลักษณะนี้อีกจำนวนมาก โดยเจ้าหน้าที่เราก็เก็บไว้ เราไม่สามารถเปิดเผยได้ ถ้าเปิดเผยเราอาจถูกดำเนินคดีได้เหมือนกัน ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงมีมติว่าเราไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะไปเปิดเผยสำหรับกรณียื่นเป็นหลักฐาน และมีมติให้แจ้งไปยังคณะกรรมการวินิจฉัยฯเพื่อให้ทราบว่า การตีความกฎหมายของท่านกับกฎหมายของ ป.ป.ช. มีบทบัญญัติที่แตกต่างกัน และเรามีความรับผิดชอบทางอาญาที่เกี่ยวข้อง

พล.ต.อ.วัชรพลกล่าวว่า สำหรับกรณีที่แสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินบนเว็บไซต์ ป.ป.ช. ได้แค่ 180 วันนั้น ต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ไม่ใช่ว่าเราจะเปิดเผยได้ตลอดเวลา เพราะคนดีก็มี คนไม่ดีก็มี เราจึงจำเป็นต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกคน ถ้าเขายื่นอย่างถูกต้อง เราเปิดเผยก็มีกรอบระยะเวลา ถ้าเปิดตลอดเวลาอาจมีคนไม่ดีเอาข้อมูลไปใช้ในทางไม่ถูกต้องได้ วันนี้คงไม่ง่ายที่จะไปทำมากกว่านั้น เพราะดูรัฐธรรมนูญแล้วข้อมูลทรัพย์สินถือเป็นข้อมูลส่วนบุคคล

ด้าน น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช.กล่าวว่า ในหลักกฎหมาย ถ้ากฎหมายเขียนไว้ทำได้ ในรัฐธรรมนูญเขียนว่าการเปิดเผยข้อมูลได้รับการคุ้มครอง เว้นแต่จะมีกฎหมายกำหนด ซึ่งกฎหมายกฎหมายที่กำหนด มันไหลมาที่กฎหมาย ป.ป.ช. เพราะกฎหมาย ป.ป.ช.กำหนดว่าให้เปิดเผยได้เฉพาะที่เขียนไว้ คือ กรณีที่มีการยื่นบัญชีทรัพย์สินแล้วและกฎหมายเขียนไว้ว่าให้เปิดเผยได้อะไรบ้าง นั่นคือเปิดเผยได้ แต่ถ้าไม่เขียนไว้ก็เปิดเผยไม่ได้ มันเป็นข้อกฎหมายที่ฟังดูแล้วอาจแปลกๆว่าน่าจะเปิดเผยได้ เพราะเขายื่นมาเป็นหลักฐาน แต่ในมุมของกฎหมายเราทำไม่ได้

Advertisement

นายณัฐจักร ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา กรรมการ ป.ป.ช.กล่าวว่า กระบวนการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินนักการเมือง เราจะทำอย่างไรให้ระบบการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินเหล่านี้ สามารถให้ประชาชนสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ แต่ตัวรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ป.ป.ช.มันมีการหยุดไว้จุดนี้อยู่ ต้องกลับมานั่งดูว่าในกฎหมายปัจจุบันเราทำได้มากน้อยแค่ไหน และอยากให้เข้าใจว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดนี้มีข้อจำกัดอยู่คือ ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ระบุว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดนี้สามารถูกฟ้องในศาลอาญาทุจริตได้ด้วย การดำเนินการของเรา สิ่งที่จะออกมาเป็นบวก หรือลบจะต้องตอบคำถามสังคมและกฎหมายให้ได้ด้วยว่าเราไม่ได้กลั่นแกล้งเขา ไม่เช่นนั้นถ้าเราถูกดำเนินการจะต้องหยุดการประชุมเลย จึงต้องขอความเห็นใจ เพราะกฎหมายบางอันมันหยุดทำให้เราไม่กล้าเข้าไปให้นโยบายเชิงรุกได้อย่างเต็มที่ ก่อนหน้านี้มีคนถามตนว่า ป.ป.ช.มีการแทรกแซงได้หรือไม่ ตนตอบไปว่ามีได้ แต่คน 9 คน เขาเป็นตัวตนมาก ไม่มีทางจะปล่อยอะไรให้หลุดง่ายๆ กรรมการ 9 คน มีสิทธิมีเสียงในการจะออกคำวินิจฉัยต่างๆ จึงอยากให้เชื่อมั่น ป.ป.ช.ว่า คน 9 คนตั้งใจทำงาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image